กระแสถามถึง “ครูบาฟ้าหลั่ง” พระคณาจารย์ดังเมืองเหนือ
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ รายงานว่า เมื่อทนายอนันต์ชัย ไชยเดช (ทนายกระดูกเหล็ก) โพสต์เฟสบุ๊ค เอ่ยถึง ทำไมต้องครูบาอิน อินโท ?
กลายเป็นกระแสสอบถาม และให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ระลึกนึกถึง คุณงามความดีที่ท่านสร้างไว้ อยู่ในใจต้องจดจำ “พระครูวรวุฒิคุณ” หรือ “ครูบาอิน อินโท” วัดคันธาวาส (ทุ่งปุย) กิ่งอ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่
หรือ “ครูบาฟ้าหลั่ง” พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดเชียงใหม่
ตามประวัติท่านเกิดในครอบครัว เขียวสุขคำ ของนายหนุ่ม นางคำป้อ ที่บ้านทุ่งปุย กิ่งอ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2445
ด้วยความสนใจใฝ่รู้ทางธรรม ท่านบรรพชาที่วัดทุ่งปุย เมื่ออายุ 15 ปี จนเมื่ออายุ ครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท โดยมี พระอธิการยศ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการกว้าง วัดสองแคว และพระอธิการอ้าย วัดทุ่งปุย เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายา “อินโท”
หลังบวชแล้ว ท่านได้พากเพียรเรียนธรรม ทั้งในฝ่ายปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างจริงจัง เรียนพระธรรมวินัยและสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน
ด้วยความสนใจใฝ่รู้ ท่านได้เดินทางมาเรียนกัมมัฏฐานเพิ่มเติมที่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯโดยฝึกกับพระเทพสิทธิมุนี(โชฎก ญาณสิทธิ ป.ธ.9) มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถร) ครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม เป็นประธาน ครูบาอาจารย์จากทางเหนือที่ไปร่วมปฏิบัติวิปัสสนาด้วยกัน คือ พระสุพรหมยานเถระ หรือครูบาพรหมจักร พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน, ครูบา อินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง, พระธรรมมังคลาจารย์(พระอาจารย์ทอง สิริมังคโล) วัดร่ำเปิง
ด้านวิทยาคม ท่านศึกษาจากพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์รูปอื่นๆ เพียงไม่กี่รูป ส่วนใหญ่แล้วจะศึกษาด้วยตนเองจากคัมภีร์โบราณ และยังกระทำกิจของศาสนาอเนกประการ
จนได้ตำแหน่งบริหาร คือ พ.ศ.2485 เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งปุย พ.ศ.2494 เป็นเจ้าคณะตำบลยางคราม พ.ศ.2496 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2502 เป็นพระครูอิน (พระครูประทวน) พ.ศ.2506 เป็นพระครูวรวุฒิคุณ (สัญญาบัตร 1) พ.ศ.2519 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้น 2 ในราชทินนามเดิม
ครูบาอิน ผูกพันกับวัดทุ่งปุย ตั้งแต่บวชครั้งแรกจนได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ในอดีตวัดทุ่งปุย เป็นวัดร้างที่ได้รับการบูรณะ โดยครูบาคันธา สมภารรูปแรก เมื่อปี พ.ศ.2395 ก่อนที่จะได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดคันธาวาส
ก่อนหน้าจะมาครองวัด ประมาณปี พ.ศ.2504 ท่านได้รับอาราธนาให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดฟ้าหลั่ง ซึ่งอดีตเคยเป็นวัดร้าง สามารถเรียกคณะศรัทธามาร่วมกันแผ้วถาง ก่อสร้างพัฒนาจนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์อีกครั้ง สภาพของวัดที่เห็นในปัจจุบัน ท่านค่อยๆ สร้างขึ้นโดยยึดคติ “ค่อยๆ ทำไป” ไม่บอกบุญให้ใครเป็นทุกข์เดือดร้อน จน ถูกเรียกขานอีกนามหนึ่งว่า “ครูบาฟ้าหลั่ง”
เมื่อวัดฟ้าหลั่ง มีความรุ่งเรืองขึ้น ท่าน ก็หวนกลับสู่บ้านเกิดในวัย 98 ปี อยู่จำพรรษาเป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านทุ่งปุย
แม้จะอายุมาก แต่ท่านปฏิบัติกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด ทั้งทำวัตรเช้า-เย็น พร้อมกับเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาตอนเช้ามืดและก่อนนอน พอใจในชีวิตที่เรียบง่าย ตลอดเพศบรรพชิตท่านเป็นผู้ที่มีสติระมัดระวัง และรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ
เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา และมีผู้ไปถามความเห็นจากท่าน ก็จะให้ข้อคิดที่ดี โดยยึดหลักธรรมะ ไม่เคยซ้ำเติมผู้ใดด้วยอคติหรืออารมณ์ ท่านละสังขารเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2546 รวมสิริอายุ 101 ปี การจากไปขอท่านสร้างความอาลัยแก่ลูกศิษย์ลูกหาอย่างมาก
Comentários