คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 13 พ.ย. 2565
"พ่อท่านคลิ้ง จันทสิริ" วัดถลุงทอง
เกจินครศรี-อายุยืนยาว5แผ่นดิน
อาจารย์"ปู่เกษม"วัดมะม่วงตลอด
พระครูภาวนาภิรมย์ หรือ"พ่อท่านคลิ้ง จันทสิริ" อดีตเจ้าอาวาสวัดถลุงทอง อ.ร่อนพิบุลย์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระอริยสงฆ์แห่งแดนทักษิณองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่พึ่งที่ศรัทธาของชาวเมืองคอนและชาวใต้หลายจังหวัด มีอายุยืนยาวถึง 5 แผ่นดิน
ตลอดช่วงชีวิตในกาสาวพัสตร์ 86 ปีของท่านเปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อผู้ไปกราบนมัสการ กล่าวในด้านความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อท่านคลิ้งนั้น ในสมัยที่พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อชาวอำเภอร่อนพิบูลย์ไปกราบนมัสการท่านถึงวัดสวนขัน ท่านมักกล่าวว่า "ทีหลังไม่ต้องมาไกลถึงนี้หรอก ไปหาท่านคลิ้งนั้นแหละ ท่านคลิ้งให้พรดีเหมือนฉัน"
นอกจากนี้ ยังเป็นพระมหาเถระองค์หนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ทรงเลื่อมใสศรัทธามาก โดยในคราวงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพะระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯมาทรงเป็นประธานในพิธี
ครั้งนั้นพ่อท่านคลิ้งมีโอกาสเข้าเฝ้าฯปฏิสันถารกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนานถึง 2 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับปัจจัยไทยทานจากพระองค์จำนวน 20,000 บาท และได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดมา โดยพ่อท่านคลิ้งได้ถวายน้ำพระพุทธมนต์แด่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทุกพระองค์
วัดถลุงทอง เป็นวัดที่เงียบสงบอยู่ห่างจากถนนเอเชียสายหลัก ระหว่างร่อนพิบูลย์-นคร ศรีธรรมราช เข้าไปประมาณ 9 กิโลเมตร ระหว่างทางจะผ่านสวนผลไม้ ไร่นาและบ้านของชาวบ้าน บริเวณวัดสงบร่มเย็น อยู่ใกล้กับเทือกเขา ชาวบ้านบริเวณนั้นจะนับถือพ่อท่านคลิ้งมาก เพราะท่านเป็นพระที่มีเมตตาต่อทุกๆคน
“พ่อท่านคลิ้ง เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ส.ค. 2429 ณ บ้านถลุงทอง หมู่ที่ 1 ต.หินตก.อ.ร่อนพิบุลย์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรชายคนเดียวของนายแก้วและนางพุ่ม นามสกุล “ฉิมแป้น” อายุ 7 ขวบบิดาส่งไปเรียนรู้อยู่ในความดูแลของพระอุปัชฌาย์ขำ วัดถลุงทอง จนกระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 12 ปี โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้หลายแขนง ทั้งด้านไสยเวทย์ คาถาอาคม ตำรายาโบราณ
เมื่ออายุ 20 ปีได้อุปสมบทตรงกับวันที่ 23 พ.ค. 2449 พระอาจารย์ขำ เป็นประอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เอียด วัดป่าตอ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “จันทสิริ” โดยช่วงพรรษาต้นๆได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์เอียด ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศทางด้านการทำน้ำมนต์และด้านพรหมศาสตร์ ดูฤกษ์ยามแม่นดั่งจับวาง ทำให้พ่อท่านคลิ้งได้วิชามาแบบเต็มๆ
เมื่อพระอาจารย์ขำมรณภาพลงท่านจึงรับภาระหน้าที่เจ้าอาวาสวัดถลุงทองสืบมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2496 โดยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญบัตรที่ พระครูภาวนาภิรมย์ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2521 ท่านได้ดำรงขันธ์เป็นมิ่งขวัญชาวใต้มาจนกระทั่งวันที่ 21 ม.ค. 2533 จึงละสังขารไปด้วยวัยที่สูงถึง 104 ปี พรรษาที่ 84 ปรากฏว่าสังขารไม่เน่าเปื่อยมาจนทุกวันนี้
วัตถุมงคลที่ท่านได้เมตตาปลุกเสกเอาไว้มีหลายชนิด เช่น เหรียญ ลูกอมชานหมาก พระปิดตาเนื้อผงผสมว่าน ฯลฯ มีพุทธคุณเด่นทางด้าน เมตตามหานิยม โภคทรัพย์ แคล้วคลาด
วัตถุมงคลประเภทเหรียญที่ถือว่าเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากก็คือ เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลัง ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2521 เป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนพ่อท่านคลิ้งหันข้างครึ่งรูป มีอักษรโดยรอบเหรียญว่า "พ่อท่านคลิ้ง จันทสิริ อายุครบ 93 ปี วัดถลุงทอง นครศรีธรรมราช พ.ศ.2521" ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.และอักขระขอม
นับเป็นเหรียญดี พิธีเด่นเหรียญหนึ่งทีเดียว กล่าวคือ เป็นเหรียญที่พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือเสด็จพระองค์ชายใหญ่ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดิษฐานที่ด้านหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมโลหธาตุมหามงคล แล้วพระราช ทานหล่อหลอมรวมกับแผ่นทองลงอักขระเลขยันต์ของพ่อท่านคลิ้ง นับร้อ แผ่น และโลหะสัมฤทธิ์เก่าสมัยบ้านเชียง อายุกว่า 4,000 ปี และชิ้นส่วนพระพุทธรูปโบราณสมัยทวารวดี, ลพบุรี, สุโขทัย
เหรียญพ่อท่านคลิ้ง จึงนับว่าเป็นสิริมงคลอันสูงสุด เพราะเหรียญที่มีตราพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ซึ่งในวงการสะสมบูชาพระเครื่องล้วนเป็นที่นิยม
นอกจากเหรียญดังกล่าวแล้ว ยังมีของดีที่มากด้วยประสบการณ์อีกชนิดหนึ่งนั่นคือ “พระปิดตาราเมศวร์” สร้างปี 2525 เนื่องในโอกาสทำบุญครบ 6 รอบ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระบิดาเป็นพระปิดตาที่อุดมไปด้วยศิลปการสร้างและล้ำเลิศด้วยคุณค่าของโลหะ ที่นำมาผสมผสานหล่อขึ้นมา มี 2 แบบพิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก ทรงถวายนามว่า “พระปิดตาราเมศวร์” โดยเอาสร้อยของชื่อองค์พระบิดามาเป็นมงคลนามในการตั้งชื่อพระ โดยเอา ชนวนโลหะทั้งหมด รวมทั้งตะกรุดเก่าในวังอัศวินให้พ่อท่านคลิ้งปลุกเสกจนเป็นที่พอใจแล้ว บวกผสมกับแผ่นชนวนโลหะที่ไปเอามาจากเกจิอาจารย์ในยุคนั้นมารวมกัน ไปหล่อเป็นองค์พระแล้วนำไปพุทธาภิเษก ณ อุโบสถวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
สำหรับศิษย์เอกพ่อท่านคลิ้งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมและมีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบันคือ หลวงปู่เกษม เขมจาโร หรือ "พ่อท่านเกษม" เจ้าอาวาสวัดมะม่วงตลอด จ.นครศรีธรรมราช โดยท่านเป็นผู้ปลงผม และรับหน้าที่จารยันต์และจารตะกรุดให้พ่อท่านคลิ้ง
#ฉัตรสยาม
Comments