top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง ประจำวันอาทิตย์ที่ 15 ต.ค. 2565 "หลวงปู่สด วัดโพธิ์แตงใต้"เมืองกรุงเก่า

คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง

ประจำวันอาทิตย์ที่ 15 ต.ค. 2565

"หลวงปู่สด วัดโพธิ์แตงใต้"เมืองกรุงเก่า

เกจิตาทิพย์/สายเมตตา-แคล้วคลาด

ศิษย์ผู้พี่สมเด็จญาณสังวร(เจริญ)วัดบวรฯ

ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ของเมืองกรุงเก่าในยุคหลังปี 2520 ที่เป็นพระปฏิบัติกรรมฐานและมีวิชาอาคมเข้มขลังต้องยกให้ หลวงปู่สด ธมฺมวโร (พระครูเอนกสารคุณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แตงใต้ อ.บางไทร ท่านเป็นศิษย์ผู้พี่ที่สมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ) สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศ ให้ความเคารพนับถือมาก ในสมัยที่หลวงปู่สดยังดำรงสังขารอยู่ เจ้าประคุณสมเด็จต้องเดินทางมาวัดโพธิ์แตงใต้เป็นประจำเพื่อสนทนาธรรม ทั้งได้ร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคล พร้อมอนุญาตให้ใช้พระนามย่อ ( ญสส ) ของท่านในการสร้างวัตถุมงคลด้วย และในวาระสุดท้ายที่หลวงปู่สดมรณภาพลง เจ้าประคุณสมเด็จก็เดินทางไปรดน้ำศพและช่วยจัดการงานศพให้อย่างเต็มที่

หลวงปู่สดเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในย่านบางไทร พระเครื่องที่ลือชื่อก็คือ พระชุด "ศาลาล้ม" อันโด่งดัง ท่านได้สร้างวัตถุมงคลจำนวนไม่มากนัก ประกอบกับทางวัดไม่มีวัตถุประสงค์ ในการให้บูชาตามศูนย์พระเครื่อง ชื่อเสียงของท่านจึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่สำหรับคนในท้องที่แล้ว ต่างยอมรับในบุญบารมี และ"ของดี"ทุกอย่างที่ท่านสร้างไว้ โดยเรียกขานท่านว่า "หลวงปู่สดตาทิพย์" เพราะเชื่อกันว่าท่านมีญาณพิเศษ สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อราวปีพ.ศ. 2358 ในสมัยแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีชาวมอญกลุ่มใหญ่อพยพมาจากกรุงหงสาวดี ประเทศพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทย โดยชาวมอญกลุ่มนี้ได้กระจายกันไปปักหลักสร้างฐานตามบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากเกร็ด ปทุมธานี ราชคราม และบ้านโพธิ์แตง พระนครศรีอยุธยา

แต่เดิมนั้น บ้านโพธิ์แตง ชาวบ้านเรียกว่า "โพธิ์แดง " ซึ่งที่มานั้นสันนิษฐานว่า เนื่องมาจากที่ตำบลแห่งนี้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้นโพธิ์ในแถบนี้ก็จะมีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่นนั่นคือ ใบโพธิ์จะมีสีแดงนวล จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า"โพธิ์แดง"

เมื่อเวลาผ่านไปก็เพี้ยนจากโพธิ์แดงมาเป็น " โพธิ์แตง" จนถึงปัจจุบัน ส่วนความเป็นมาของวัดโพธิ์แตงใต้นั้น ไม่มีประวัติที่ชัดเจน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นประมาณช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในอดีตวัดนี้ขึ้นชื่อในเรื่อง"ผีดุ"

หลวงปู่สดเป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีพ.ศ.2442 เป็นบุตรของนายเปลี่ยน และนางเล็ก ธรรมประเสริฐ มีอาชีพทำนาทำสวน วัยเยาว์อายุประมาณ 7 ขวบเป็นเด็กเรียบร้อยชอบตามโยมทั้งสองไปทำบุญตามวัดต่างๆ พออายุประมาณ 10 ขวบได้บวชเป็นสามเณร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและเรียนหนังสือแล้วลาสิกขาบทออกมาช่วยครอบครัวทำนาและทำสวน

ปีพ.ศ. 2460 ญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ขณะนั้นท่านมีอายุ18 ปีได้บวชหน้าไฟเพื่อทดแทนพระคุณแก่ผู้ตาย และศึกษาธรรมตลอดมาจนกระทั่งอายุครบ 20 จึงเข้าอุปสมบทที่วัดโพธิ์แตงใต้ โดยมีพระอริยธัชมุนี วัดสำแล เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา "ธมมวโร" สังกัดรามัญนิกาย

ท่านได้ศึกษาธรรมและวิชาไสยเวทย์จากพระเกจิที่เป็นชาวมอญหลายองค์ ทางด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยมโดยเฉพาะด้านกันและแก้คุณไสยที่ชาวมอญเก่งมากนานถึง 27 ปี ต่อมาปีพ.ศ. 2489 วัดโพธิ์แตงใต้ ได้โอนย้ายการปกครองสงฆ์มาอยู่ในนิกายธรรมยุติ ท่านจึงเดินทางไปวัดบวรนิเวศเพื่อแปลงญัตติโดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศฯเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาเดิม (ธมมวโร ) จากนั้นไดัจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศเพื่อเรียนภาษาบาลีและศึกษาธรรมจนแตกฉาน

ปี พ.ศ. 2507 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แตงใต้มรณภาพลง ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ท่านเริ่มพัฒนาวัดโพธิ์แตงใต้ทันทีจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก ต่อมาปีพ.ศ. 2514 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่"พระครูเอนกสารคุณ"

ในด้านพุทธาคมนั้น เท่าที่ทราบท่านได้รับการถ่ายทอดมาจาก”หลวงปู่หร่ำ วัดกร่าง” เกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองสามโคกที่เหล่าเสือร้ายและนักเลงเมืองปทุมฯ ยังยอมก้มหัวให้ ซึ่งหลวงพ่อหร่ำเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อหว่าง วัดเทียนถวาย

แม้แต่หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก สุดยอดเกจิแห่งอยุธยา ยังเรียกหลวงพ่อหร่ำว่า “พี่เสือ” (หลวงพ่อหร่ำ กับหลวงพ่อจง ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อนอม วัดกร่าง พระผู้เชี่ยวชาญในด้านกัมมัฎฐาน )

หลวงปู่สดท่านเป็นพระเก่ง แต่ดังเงียบ ขนาดผีของแม่รำพึง (สาวท้องแก่) ในบางไทรแถววัด ที่ว่าเฮี้ยนๆ ก็มาสงบเพราะหลวงปู่สด เล่ากันว่า ตอนที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัด ตอนนั้นผีของนางรำพึงกำลังคะนอง ท่านทำพิธีกรรมสวดส่งวิญญาณอยู่คืนหนึ่ง จากนั้นก็ไม่มีใครเห็นการปรากฏตัวของผีนางรำพึงอีกเลย

ปีพ.ศ. 2515 ท่านมีอายุครบ 72 ปี คณะศิษย์จึงจัดงานทำบุญอายุและฉลองสมณศักดิ์ ในโอกาสนี้ คณะกรรมการการจัดงานได้จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปไข่ครึ่งองค์รุ่นแรก เนื้อทองแดงเพื่อให้ท่านนำไปแจกแก่ญาติโยมและศิษยานุศิษย์ ซึ่งท่านได้นั่งปลุกเสกเดี่ยวด้วยตัวท่านเอง

ต่อมาเหรียญรุ่นแรกนี้ไดัสร้างปาฏิหาริย์ให้กับผู้ที่นำไปบูชาติดตัวในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องเมตตามหานิยม แคล้วคลาดจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เหรียญรุ่นแรกนี้จัดสร้างจำนวนน้อยมาก ปัจจุบันเช่าหาในราคาหลักหมื่น และตัองระวังของปลอมที่มีไม่น้อยเช่นกัน

สมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราชฯ วัดบวรนิเวศ ท่านทรงเคารพหลวงปู่สดศิษย์ผู้พี่มาก ท่านได้เดินทางมาวัดโพธิ์แตงใต้เป็นประจำเพื่อสนทนาธรรม ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2537 ทรงเป็นประธานยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญ วัดโพธิ์แตงใต้ โดยทรงอนุญาตให้ใช้พระนามย่อ ญสส. ประดิษฐานที่หน้าบันศาลาการเปรียญ และทรงให้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นฉลองยกช่อฟ้าแจกญาติโยมที่มาร่วมงาน โดยพระองค์ทรงอธิษฐานจิตปลุกเสกร่วมกับหลวงปู่สด

ในปีเดียวกันนี้ หลวงปู่สดได้จัดสร้างเหรียญนั่งพานรุ่นสุดท้ายโดยปลุกเสกเดี่ยว ขณะนั้นท่านชราภาพมาก แต่ยังต้อนรับญาติโยมมาโดยตลอดจนกระทั่งอาพาธด้วยโรคชรา และมรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2537 สิริอายุ 96 ปี ปรากฏว่าสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้รวมเวลาเกือบ 25 ปี โดยประดิษฐานอยู่ในโลงแก้วให้ผู้คนที่มาเยือนวัดโพธิ์แตงใต้ได้กราบไหว้สักการะ

สำหรับวัตถุมงคลที่หลวงปู่สดจัดสร้างไว้นั้นมีไม่มาก โดยท่านปลุกเสกทั้งหมดทุกรุ่นและมีประสบการณ์หลายด้านอย่างเช่น รูปหล่อรุ่นแรกเกิดกับลูกศิษย์แถวศูนย์ศิลปาชีพบางไทรไปเที่ยวกลางคืนแถวนวนคร ขากลับมีเรื่องขับรถกระบะหนีคู่อริไล่ยิงมา รถเสียหลักพุ่งชนเสาไฟขาดครึ่ง แต่ตัวลูกศิษย์ไม่เป็นอะไรเลย

เหรียญรุ่น "ศาลาล้ม" ที่ระลึกในการสร้างศาลาการเปรียญปีพ.ศ.2531 มีประสบการณ์มากมาย ลูกศิษย์ท่านพกติดตัวถูกคู่อริลอบทำร้ายดักยิง ฟัน แทงแต่ไม่เข้าเลยต้องล่าถอยหนีไปเอง

ที่มาของชื่อรุ่น “ศาลาล้ม” สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่ทางวัดมีการเคลื่อนย้ายศาลาเก่าที่เป็นไม้ ย้ายไปอีกที่ โดยการดีดขึ้นทั้งศาลา แต่ยังไม่ทัน ได้ลงหลุมเสา เกิดมีลมพัดมาอย่างแรงทำให้ศาลาล้มลงมา ช่างที่ทำงานอยู่ถูกไม้ทับหลายคน แต่น่าอัศจรรย์ที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บสักคน ไม่ว่าจะช้ำ หรือรอยขีดข่วนแม้แต่นิดเดียว ทางวัดจึงได้ตั้งชื่อว่า ศาลาล้ม

เหรียญศาลาล้ม มี 2 รุ่นคือ รุ่นแรกปี2531 ด้านหลังยันต์จะไม่มีขีดเล็กๆตรงยันต์ รุ่นแรกเป็นรุ่นที่ไม่ได้จำหน่าย ทำแจกชาวบ้านและช่างที่มาช่วยกันสร้างศาลาจนหมดเกลี้ยง หลังจากศาลาล้มลงมาเเล้วไม่มีใครเป็นอะไรเลยเเม้แต่นิดเดียว จึงมีการสร้างขึ้นมาอีกครั้ง แต่จะมีขีดเล็กๆตรงยันต์ ส่วนอีกรุ่นนั้นออกมาปี2535 ด้านหน้าเหมือนกัน ด้านหลังยันต์ก็เหมือนกัน แต่ต่างกัน 2 จุด คือ ด้านหลังมีคำว่า “นิรันตราย” และรุ่นนี้เหรียญจะบางกว่ารุ่นศาลาล้มมาก

พระเครื่องของหลวงปู่สดนั้น เชื่อกันว่า “พุทธคุณดีทุกรุ่น” แม้ท่านจะไม่ได้ปลุกเสกก็เข้มขลังอย่างน่าอัศจรรย์!!

#ฉัตรสยาม"


ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page