#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 19 มี.ค. 2566
"หลวงพ่อไปล่ ฉันทโร" วัดกำแพง
สุดยอดเกจิดังฝั่งธนฯ"สายเหนียว"
เจ้าตำรับเหรียญหล่อโบราณหลักล้าน
ตำนานเข้มขลังเคียงคู่ปู่เอี่ยมวัดหนัง
ถ้าพูดถึงเหรียญหล่อโบราณพิมพ์จอบ นักสะสมพระย่อมต้องนึกถึง "หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง"ที่แรงด้วยราคาและพุทธคุณ ซึ่งจัดสร้างออกมา3รุ่นแล้ว โดยล่าสุด พระมหาพีระพล ฐานจาโร ดร.เจ้าอาวาสวัดกำแพง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ได้จัดสร้างเหรียญหล่อโบราณ อิทธิมงคล หลวงพ่อไปล่ ฉนฺทสโร หรือ"เหรียญจอบ 4" รุ่นสมโภชโบสถ์ 100 ปี โดยจะเปิดให้สั่งจองตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม - 2 กรกฎาคม 2566 ตามรายละเอียดในเพจ"วัดกำแพง"
โอกาสนี้ คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" จึงร่วมย้อนตำนานความโด่งดังของ"หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร" อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่2 วัดกำแพง แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. เกจิดังฝั่งธนบุรีขึ้นชื่อลือชาว่า"เหนียวสุดๆ" ไม่แพ้"หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง"ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน
กิตติศัพท์ของท่านทั้งสองถือว่า"สุดยอด" สมัยนั้นใครมีเหรียญวัดหนัง จะไม่กล้าแหยมกับคนที่แขวนเหรียญวัดกำแพง เจอกันครั้งใดก็กินกันไม่ลง เพราะ "เหนียว" ทั้งคู่ ประสบการณ์ของเหรียญทั้งสองวัดเด่นชัดในเรื่องคงกระพันชาตรี เป็นที่นิยมของนักเลงจริงในยุคนั้น เล่าขานกันว่า ขนาดโดนรุม 10 ต่อ 1 ยังรอดมาได้ ทั้งมีด ไม้ กระบอง ลูกซองปืนพก ไม่มีเลือดตกยางออกให้ได้เห็นแม้แต่น้อย
ด้วยพุทธคุณและประสบการณ์อันลือเลื่องจึงทำให้เหรียญของท่านทั้งสองเป็นที่หมายปองของนักเลงพระ ส่งผลให้ราคาค่านิยมสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งปัจจุบันต้องพูดกันที่ "หลักแสน จนถึงหลักล้าน" ซึ่งถือว่ารูปแบบของเหรียญนั้นคงความเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามด้านศิลปะที่คนรุ่นใหม่ไม่อาจเลียนแบบได้
หลวงพ่อไปล่ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2403 เป็นบุตรของนายเหลือ และนางทอง นามสกุล “ทองเหลือ” เป็นชาวบ้าน ต.บางบอนใต้ อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน เมื่ออายุ 8 ขวบได้ไปศึกษาหนังสือไทยและขอมกับพระอาจารย์ทัด วัดสิงห์
สมัยวัยรุ่นท่านเป็นคนมีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญ ทรหดอดทน มีเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นชาวบ้านบางบอนใต้เป็นแดนนักเลงหัวไม้ เวลาวัดมีงานมักจะนัดตีกันเป็นประจำ ตัวท่านถูกพรรคพวกยกย่องให้เป็น “ลูกพี่” ทำให้บิดามารดาเกรงว่าจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีหรือคนพาล จึงขอร้องให้บวชพระสัก 1 พรรษา ท่านก็ไม่ขัดข้อง โดยได้รับการอุปสมบทที่วัดกำแพง เมื่อ พ.ศ.2426 อายุ 23 ปี พระอุปัชฌาย์ คือ พระอาจารย์ทัด วัดสิงห์, หลวงพ่อพ่วง วัดกก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฉันทสโร”
หลังบวชท่านสนใจศึกษาทางพุทธธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ท่องบทสวดมนต์จนจบทุกบททุกคัมภีร์ จดจำได้แม่นยำ จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เมื่อครบกำหนด 1 พรรษาแล้ว ท่านไม่ยอมสึก พอเข้าพรรษาที่ 2 ท่านได้ตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่จนสามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งการเรียนรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิปัสสนาธุระกับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางนี้
นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เรียนทางคงกระพันชาตรีกับพระอาจารย์คง เรียนวิชาผูกหุ่นพยนต์กับหลวงพ่อหรุ่น วัดบางปลา เรียนทางเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อพ่วง วัดกก เรียนทางสักยันต์คงกระพัน กับหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง
แม้จะมีวิชาอาคมเก่งกล้าขนาดไหนก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยคุยโม้โอ้อวด หรือข่มเหงใคร ชอบดำรงตนแบบสมถะ ไม่ทะเยอทะยานในลาภยศ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ กวาดกุฏิเอง ของส่วนตัวทำเองหมด ไม่เคยใช้ให้ใครทำ นอกจากนี้ท่านยังขยันในการทำวัตรสวดมนต์อย่างเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบความมีระเบียบเรียบร้อย
ต่อมาหลวงพ่อไปล่ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตบางขุนเทียน และด้วยปฏิปทาอันน่าศรัทธาเลื่อมใสของท่านนี้เองทำให้ชาวบ้านมีความเคารพนับถือท่านมาก ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง ตั้งแต่ พ.ศ.2431 จนถึงมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2489 สิริอายุได้ 86 ปี 63 พรรษา
แม้จะมรณภาพไปแล้ว แต่เนื้อหนังของท่านก็ยังเหนียว พวกสัปเหร่อเอามีดตกแต่งศพก็เฉือนไม่เข้า ต้องจุดธูปจุดเทียนบอกกล่าวขอขมาก็ยังเฉือนไม่เข้า จนสรีระของท่านแห้งไปเฉยๆ ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นแต่ประการใด
หลวงพ่อไปล่ เป็นพระนักพัฒนาผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมถะ ไม่นิยมสะสมลาภยศเงินทอง ท่านส่งเสริมการศึกษาพระธรรมวินัยพระ สามเณร ตั้งสำนักเพื่อการเรียนการสอนหนังสือเด็กวัด มี 3 ระดับ รวมทั้งสอนวิชาชีพและวิชาช่างให้กับชาวบ้าน ริเริ่มประเพณีพายเรือตีกลองบิณฑบาตข้าวเปลือก จึงเป็นที่เคารพรักใคร่ ศรัทธาของชาวบ้านฝั่งธนบุรี เป็นอย่างยิ่ง
สำหรับวัดกำแพง เดิมชื่อว่า"วัดสว่างอารมณ์” จากการสันนิษฐานของผู้ที่มีความรู้ทางโบราณคดีได้กล่าวชี้แจงไว้ว่า “จากการสังเกตดูวัตถุและอาคารสถานที่ซึ่งมีอยู่ในวัด พอจะทราบได้ว่าวัดนี้เคยรกร้างมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง
ความเป็นมาของวัดกำแพง หลวงพ่อคง เจ้าอาวาสองค์แรกเมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดต่อปฏิบัติพระธรรมวินัยมีวัตรปฏิบัติสม่ำเสมอคงเส้นคงวา จึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอันมาก ท่านได้เปิดสำนักเรียน สอนหนังสือให้แก่เด็กๆที่เป็นลูกหลานชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ วัดและสอนให้แก่ผู้ที่ต้องการจะบวชเป็นพระภิกษุสามเณร ทั้งนี้เพื่อผู้อุปสมบทบรรพชาจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้ง กว้างขวางจากพระไตรปิฎกด้วยตนเองได้อีกด้วย หากพระเณรรูปใดมีปัญหา ท่านจะช่วยชี้แนะเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุที่หลวงพ่อคงประพฤติบัติตนเคร่งครัดอยู่ในธรรมวินัย เสมอต้นเสมอปลาย เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาศิษย์และชาวบ้าน นับเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประชาชน และประเทศชาติ ชาวบ้านก็ยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นตามลำดับ ชาวบ้านมักจะเรียกหลวงพ่อคงว่า "ท่านที่มาจากวัดกำแพง” ครั้นเรียกกันต่อมาว่า “ท่านวัดกำแพง” ในที่สุดก็เลยเรียกวัดนี้ว่า “วัดกำแพง” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ปัจจุบันวัดกำแพงมี พระมหาพีระพล ญานจาโร ดร. ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
สำหรับวัตถุมงคลที่โด่งดังเข้มขลังด้วยพุทธคุณของหลวงพ่อไปล่ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากได้ก็คือ เหรียญหล่อโบราณที่วงการนิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ 1.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ ปี2478 เนื้อฝาบาตร หรือเนื้อทองเหลือง พิมพ์มาตรฐาน และเนื้อสัมฤทธิ์ พิมพ์ชาวบ้าน 2.เหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ ปี2478 เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองเหลือง หรือเนื้อฝาบาตร 3.เหรียญหล่อพิมพ์ห้าเหลี่ยม วงการเรียกว่า “รุ่นล้างป่าช้า” 4.เหรียญหล่อพิมพ์เสมา เนื้อสัมฤทธิ์ (มีน้อยมาก)
พุทธคุณเหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ขึ้นชื่อในเรื่องมหาอุด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม จนเป็นที่เลื่องลือทั่วไป และเป็นเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมสูง มีสนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนปลายขึ้นไปจนถึงหลักล้าน
เหรียญของหลวงพ่อไปล่นั้นมีคำขวัญว่า "มีเหรียญหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง ใครจะมาฆ่าแกงก็ไม่ต้องกลัว ถึงไหนถึงกัน คงกระพันชาตรีดีนักแล"
#ฉัตรสยาม
Commentaires