#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค. 2567
“หลวงพ่อหน่าย” ศิษย์รุ่นสุดท้าย“ปู่ศุข”
เกจิวัดบ้านแจ้ง-เจ้าตำรับเครื่องราง"จิ้งจก”
อาจารย์หลวงพ่อเพ็ชร วัดประดู่ทรงธรรม
วัดบ้านแจ้ง อ.บางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งเป็นที่เคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นได้รับความนิยมกันมาก คือ "หลวงพ่อหน่าย อินฺทสีโล"
ในวงการผู้นับถือพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย คงเป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงพ่อหน่ายเป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือกันมาก ทั้งที่นับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องรางของขลัง และนับถือในเมตตาธรรม และวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ
ท่านจะดังมากในเรื่องของการสักยันต์ ว่ากันว่าชาวอยุธยาที่สักยันต์ที่มีการสักยันต์ในยุคนั้นจะต้องมีรอยสักจากท่านเกือบทุกคน โดยเฉพาะ “ยันต์จิ้งจก” โดดเด่นมากในเรื่องเมตตา มหานิยม
หลวงพ่อหน่าย นับได้ว่าเป็น "จิ้งจกต้นตำรับ" อันดับแรก และเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว ซึ่งมีการสืบทอดสายวิชาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย มาจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่างมาก ในเรื่องการสักยันต์เก้ายอดที่ขึ้นชื่อลือชา
นอกจากนั้น ท่านยังให้มีการสักยันต์จิ้งจกแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาด้วย มีทั้งสักแบบตัวเดียว สองตัว สามตัว มีทั้งแบบสักด้วยสีดำ แดง และน้ำมัน ผู้ที่สักไปแล้ว ล้วนแต่ได้รับประสบการณ์เรื่องเพศตรงกันข้ามอย่างยอดเยี่ยมยิ่ง
จากนั้นจึงมีการพัฒนาจากการสักยันต์ มาเป็นสร้างเครื่องราง จิ้งจกแบบพกพา และ แบบตั้งบูชา จนเป็นที่กล่าวขาน และโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศมาแล้ว ยันต์ต่างๆ ที่ท่านลงสักให้ไปนั้น เป็นที่กล่าวขานถึงความคงกระพันชาตรี
หลวงพ่อหน่าย เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแจ้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ได้ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร รวมทั้งเกื้อกูลต่ออุบาสก อุบาสิกา มายาวนาน ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กุลบุตรทั้งหลายได้บรรพชาอุปสมบท เป็นสามเณรและพระภิกษุเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
จากวัตรปฏิบัติและเมตตาธรรมที่ท่านได้ให้แก่ลูกศิษย์และญาติโยมทั้งหลายมายาวนาน ทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือ ประกอบกับเมื่อท่านได้สร้างวัตถุมงคลและมีผู้นำไปบูชาแล้วเกิดผลเป็นสุข ความเจริญ หรือแคล้วคลาดจากภัยพิบัติต่าง ๆจึงทำให้ชื่อเสียงของท่านอยู่ในทำเนียบของพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย
นามเดิมชื่อ “หน่าย” นามสกุล “มีความดี” วันที่เกิดจำไม่ได้จำได้แต่ พ.ศ. 2446 เกิดที่ต.หันสังข์ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ นายหลาบ มารดาชื่อ นางพลอย จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัด ในสมัยนั้นการศึกษายังไม่ค่อยเจริญ พออ่านออกเขียนได้ เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้ช่วยพ่อแม่ทำงานอยู่กับบ้าน เมื่ออายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านแจ้ง มีพระครูพัด เป็นพระอุปัชฌาย์
ขณะที่เป็นเณรได้ศึกษาธรรมวินัยและวิชาไสยศาสตร์บ้างเล็กน้อยเพราะอายุยังน้อย กระทั่งอายุครบ 22 ปี ได้เข้าอุปสมบทที่วัดบ้านแจ้ง โดยมีพระครูพัด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า “อินฺทสีโล” หลังพรรษาแรกก็เริ่มออกเดินธุดงค์ไปในป่าเขาตามภาคต่าง ๆ ซึ่งมีสัตว์ดุร้ายที่ชุกชุม แต่ท่านไม่มีความเกรงกลัวกับสัตว์ร้ายเหล่านั้นเลย
ท่านเล่าว่ามีอยู่วันหนึ่งขณะที่เดินธุดงค์เข้าไปในป่าได้พบช้างยืนขวางหน้าอยู่ เมื่อเดินเข้าไปใกล้มันได้ใช้งวงของมันมาเกี่ยวจีวรที่ท่านครองอยู่ไปพันกับงวงมัน ท่านจึงก้มลงแล้วหยิบดินขึ้นมาก้อนหนึ่งเสกแล้วโยนไปที่ช้าง ช้างจึงได้วางจีวรลงแล้วเดินหายเข้าไปในป่า โดยมิได้ทำร้ายท่านเลย เมื่อท่านเดินธุดงค์อยู่ในป่าจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้กลับมายังวัดแจ้งเพื่อเยี่ยมญาติโยม
อยู่วัดบ้านแจ้งได้ 3 เดือนจึงเดินทางไปศึกษาวิชาไสยศาสตร์กับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ในช่วงนี้มีโอกาสพบกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และศึกษาวิชาไสยศาสตร์กับท่านบ้าง แต่ส่วนมากจะได้วิชาจากหลวงปู่ศุข เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังไม่ทันที่จะได้วิชาแขนงสุดท้าย หลวงปู่ศุขก็มรณภาพไปเสียก่อน
แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งปี แต่ก็เป็นหนึ่งปีที่หลวงปู่หน่ายได้ฝึกฝน ทบทวนสรรพวิชาต่างๆ อย่างเข้มข้น จนถือว่าเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงปู่ศุขอย่างแท้จริง
หลังจากนั้นท่านได้ไปศึกษาวิชาเครื่องรางของขลัง และวิชาไสยศาสตร์ต่อกับอาจารย์ย่ามแดง ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่ศุข หลังจากเรียนวิชาจากอาจารย์ย่ามแดงจนแก่กล้าดีแล้ว จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านแจ้ง ซึ่งในขณะนั้นมี พระครูอนุวัติสังฆกิจ (เคลือบ) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ ในป่าช้านานถึง 20 ปี โดยบอกว่าในป่าช้าเงียบและสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ท่านได้ช่วยพระครูสังฆกิจ(เคลือบ) พัฒนาวัดบ้านแจ้ง ด้วยการสร้างอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญ เมื่อพระครูสังฆกิจมรณภาพลง ญาติโยมผู้มีศรัทธา จึงนิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ขณะที่มีอายุได้ 71 ปี พรรษาที่ 59 โดยที่ท่านไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆทั้งสิ้น ขออยู่อย่างพระธรรมดา
เมื่อครั้งยังมีชีวิต แม้อยู่ในวัยชราภาพมากแล้ว แต่ท่านยังแข็งแรงดี โดยสามารถนั่งพูดคุยกับโยมที่ไปเยี่ยมได้ตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกเหนื่อย รวมทั้งมีอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตาแก่คน และสัตว์ต่างๆ
ตลอดชีวิตของหลวงพ่อหน่ายได้นำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือชาวบ้านและลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง ท่านเป็นสงฆ์ที่รักสันโดษ ครองบรรพชิตอย่างเรียบง่าย และไม่เคยโอ้อวดตนเอง กระทั่งวาระสุดท้ายท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันอังคารที่ 10 พ.ค. 2531 สิริอายุ 86 ปี
หลวงพ่อหน่ายได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้หลายอย่าง อาทิ จิ้งจก,ตะกรุดโทน ตะกรุดมหาอุด พระโมคคัลลาน์ มีพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก พระพุทธโคดมพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก,รูปหล่อ และเหรียญรุ่นต่างๆ อีกหลายรุ่น วัตถุมงคลของท่านที่ลูกศิษย์ลูกหานำไปใช้มักจะเจอกับประสบการณ์ต่าง ๆ หลายรายด้วยกัน
เช่น นายอุบล อยู่ที่แปดริ้ว เขาเองได้ถูกยิงด้วยปืนเอ็ม 16 ที่สัตหีบ ซึ่งคนร้ายจะปล้นเอาทรัพย์สิน แต่คนร้ายไม่อาจที่จะเอาทรัพย์สินของเขาไปได้ เกิดการต่อสู้กันเขาไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด โดยมีเหรียญ หลวงพ่อหน่าย ติดตัวเพียงเหรียญเดียว อีกรายถูกยิงด้วยปืนจุด 38แต่ไม่เข้า เพราะมีเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อติดตัวอยู่
หลวงปู่หน่ายวัดบ้านแจ้งได้รับการ คัดเลือกและยกย่อง จากหลวงปู่ดู่ วัดสะแกให้ท่านเป็นหนึ่งใน “พระเกจิจตุรพิธพรชัย” ตามคำปรึกษาของนายเรียน นุ่มดี ผู้จัดสร้างเหรียญรุ่นนี้ จึงเป็นที่มาของเหรียญจตุรพิธพรชัย หลวงปู่หน่ายวัดบ้านแจ้ง จะสังเกตว่าเนื่องจากท่านเป็น ศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จึงได้รับการนิมนต์มาปลุกเสกวัตถุมงคลหลวงปู่ศุขในหลายๆรุ่น
สำหรับศิษย์พุทธาคมของหลวงปู่หน่ายที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันคือ "หลวงพ่อเพ็ชร ปริปุณฺโณ" วัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา เกจิอาจารย์ผู้สืบสายวิชาแห่งตักศิลาพุทธาคมกรุงเก่า วัดประดู่ทรงธรรม
#ฉัตรสยาม
Commenti