คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 1 ต.ค. 2566
"หลวงพ่อบุญมา"อดีตเกจิดังวัดนางตะเคียน
สหธรรมิกร่วมธุดงค์"หลวงพ่อสุด วัดกาหลง"
หนึ่งในอาจารย์"ปู่สมาน"ที่พักสงฆ์เขายางหัก
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ "หลวงพ่อบุญมา ปฺญญาโณ" หรือ พระครูสมุทรปุญญาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดนางตะเคียน ต.คลองเขิน อ.เมือง จ.สมุทรสง คราม หนึ่งในพระดีเกจิดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
ศิษย์พุทธาคม"หลวงพ่อกลึง" อดีตเกจิสายเหนียววัดสวนแก้วอุทยาน
ชาติภูมิท่านเป็นชาวจังหวัดยโสธร เกิดเมื่อปี พ.ศ.2445 โดยไม่ปรากฏบันทึกชื่อของโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน ปี พ.ศ.2465 ท่านมีอายุครบบวชพอดีจึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาที่วัดในจังหวัดยโสธร ได้รับฉายาว่า "ปฺญญาโณ" โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ตามประวัติหลวงพ่อบุญมา ท่านเดินธุดงค์มาพร้อมกับหลวงพ่อสุด วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร โดยหลวงพ่อสุดเป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด และหลวงพ่อบุญมาเป็นชาวยโสธร โดยบ้านเกิดของหลวงพ่อบุญมาจะอยู่ตรงข้ามกับบ้านของหลวงพ่อสุด โดยมีแม่น้ำชีกั้นอยู่
หลวงพ่อสุดจะมีอายุแก่กว่าหลวงพ่อบุญมาไม่กี่ปี โดยหลวงพ่อบุญมาได้มาพำนักอยู่ที่วัดสวนแก้วอุทยาน ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งในขณะนั้นมี"หลวงพ่อกลึง ธัมมโชติ” เป็นเจ้าอาวาส โดยขณะอยู่จำพรรษาที่วัดสวนแก้วอุทยานนี้เอง หลวงพ่อบุญมาได้ร่ำเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อกลึง จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย
สำหรับหลวงพ่อกลึง อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนแก้วอุทยาน หมู่3 ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าอีกองค์หนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามที่ผู้คนให้ความเลื่อมใสศรัทธา ท่านเป็นหนึ่งใน 108 เกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์ให้ไปนั่งปรกปลุกเสก พระพุทธชินราชอินโดจีน เมื่อปี 2485
ปี พ.ศ.2484 พระอธิการแดง วัดนางตะเคียนได้มรณภาพลง โดยมีพระแฉล้ม คุนธมฺโม รักษาการเจ้าอาวาส แต่วัดนางตะเคียนไม่มีเจ้าอาวาสปกครองจนแทบจะกลายเป็นวัดร้าง จนถึงปี พ.ศ.2485 ชาวบ้านจึงเดินทางไปขออนุญาตหลวงพ่อกลึง เพื่อนิมนต์หลวงพ่อบุญมา ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดสวนแก้วอุทยานไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางตะเคียนแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดนางตะเคียนเป็นวัดราษฏร์ตั้งอยู่ริมคลองแม่กลอง ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วัดนี้เป็นวัดเก่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2123 แต่ไม่ปรากฏนามผู้ที่สร้าง ตามทางสันนิษฐานว่าคงจะสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามคนเก่าเล่าว่า ชื่อเดิมของวัดนี้ชื่อ "วัดเทพธาราม" สันนิษฐานว่าเนื้อที่สร้างวัดหรือผู้สร้างคนแรกคงจะเป็นสมบัติของนายเทพ นางทาก็ได้ แต่ก็ไม่แน่นัก
ส่วนที่เรียกว่าวัดนางตะเคียนนั้น เพราะทางทิศตะวันออกของวัดมีคลองซอยจากคลองแม่กลองตรงที่วัดไปออกคลองท่าคา อำเภออัมพวาเรียกว่า"คลองนางตะเคียน" และบังเอิญที่สร้างวัดนี้มีต้นตะเคียนอยู่คู่หนึ่ง ปัจจุบันนี้ต้นไม้นั้นได้ตายเสียแล้ว เหตุนี้ชื่อวัดจึงเปลี่ยนเรียกตามชื่อคลอง หรือชื่อต้นไม้ก็เป็นได้
วัดนางตะเคียนหรือ"วัดยักษ์" ว่ากันว่าเป็นวัดแห่งแรกที่มี "ท้าวเวสสุวรรณ" องค์แรกของของจังหวัด และมียักษ์ศักดิ์สิทธิ์อีกองค์ที่ถูกค้นพบในคลองแม่กลองใกล้ๆกับวัดมีนามว่า "พระนางสุพรรณอัปสรจอมเทวี" หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “แม่ใหญ่” ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่มากกว่า 400ปี นอกจากนี้ ยีงมีศาลแม่ตะเคียนทับทิมทอง หากได้ไปขอพรไหว้บนบาลขอในสิ่งใดก็มักจะมีเปอร์เซ็นได้สูงไม่แพ้ยักษ์แห่งโชคลาภทั้งสององค์
หลวงพ่อบุญมา ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อสุด วัดกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร สมัยนั้นท่านทั้งสองมักเดินทางไปมาหาสู่กันบ่อยๆ
ปี พ.ศ.2500 ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อบุญมา ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นตรี ที่ "พระครูสมุทรบุญญาคม" ปี พ.ศ.2510 ท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ ทดแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมลง และได้จัดงานผูกพัทธสีมาขึ้น ปี พ.ศ.2515 ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นโท ในราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2515
ในสมัยก่อนพระที่บวชอยู่ที่วัดนางตะเคียน เมื่อจะทำการสึกออกจากสมณเพศ หลวงพ่อบุญมาจะให้หาตลับมาให้เพื่อท่านจะทำสีผึ้งและตะกรุดแจก ตะกรุดจะมีทั้งขนาดใหญ่และเล็กแล้วแต่ท่านเมตตาทำให้
วาระสุดท้ายหลวงพ่อบุญมามรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 นับรวมสิริอายุได้ 91 ปี 70 พรรษา
วัตถึมงคลเหรียญหลวงพ่อบุญมา วัดนางตะเคียน รุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2510 เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาและแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปกรงจักร แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อบุญมา รุ่น2 สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2515 เพื่อแจกในงานทำบุญอายุครบ 60 ปี และแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อบุญมา รุ่น 3 สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2533 เพื่อแจกผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างสะพานข้ามคลองให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปกรงจักร แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ทั้งนี้ ศิษย์สืบทอดวิชาของหลวงปู่บุญมาที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันคือ "หลวงปู่สมาน สุธมฺโม" แห่งที่พักสงฆ์เขายางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พระดีเกจิดังแห่งเมืองโอ่งมังกรที่ได้รับการถ่ายทอดพระคาถา"ธรรมราช" สุดยอดคาถาของดีกรุงเก่า
#ฉัตรสยาม
Comments