top of page
ค้นหา

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. 2566 "หลวงพ่อสง่า อนุปุพโพ” วัดหนองม่วง

รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. 2566

"หลวงพ่อสง่า อนุปุพโพ” วัดหนองม่วง

เกจิดังราชบุรี/เหรียญประสบการณ์ปี30

อาจารย์อนุชา อนุชาโต/ศิษย์เอกสายตรง

"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

หนึ่งในพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมชื่อดังลุ่มน้ำแม่กลอง "พระครูอนุรักษ์วรคุณ” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อสง่า อนุปุพโพ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองม่วง อ.บางแพ จ.ราชบุรี ศิษย์ผู้สืบทอดพุทธาคมหลวงปู่ดี วัดบ้านยาง,หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม

ท่านมีนามเดิมว่า "สง่า" เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2459 ณ บ้านหม้อ ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นบุตรของนายเขี้ยมและนางเม้า นามสกุล" เล่ห์ปะสุวรรณ" ชีวิตในวัยเยาว์ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดบ้านหม้อ โดยมีบรรดาพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้อบรมสั่งสอนวิทยาการ อีกทั้งบางวันยังต้องนอนค้างที่วัดเพื่อช่วยปรนนิบัติรับใช้ พระสงฆ์อยู่เสมอๆ ดังนั้น ชีวิตของท่านจึงอยู่ใกล้ชิดกับพระและวัดมาโดยตลอด จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงออกมาช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา

อุปนิสัยของท่านในวัยหนุ่มก็เหมือนกับวัยรุ่นในสมัยนั้นทั่วไป กล่าวคือเมื่อเสร็จจากการทำงานก็มักไปเที่ยวเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆบางครั้งท่านก็ไปเที่ยวยังหมู่บ้านอื่น เพื่อเสาะแสวงหาความรู้ด้านคาถาอาคมจากครูอาจารย์ที่เก่งๆ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จนกระทั่งทราบมาว่าที่วัดไทรอารักษ์ มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญคาถาอาคมอยู่รูปหนึ่ง ท่านจึงดั้นด้นไปพบเพื่อขอเรียนวิชา แต่หลวงพ่อวัดไทรอารักษ์ กลับตั้งคำถามว่า "มาจากที่ใด" และพอทราบว่ามาจากบ้านหม้อ ท่านจึงปรารภขึ้นว่า "หาหญ้ากินไกลคอกเหลือเกินนะเรา อย่าลืมหญ้าปากคอกดูบ้างว่า หญ้าปากคอกนั้นงามขนาดไหน"

นายสง่าในขณะนั้นได้แต่คิดถึงถ้อยคำปริศนาที่หลวงพ่อวัดไทรฯได้พูดถึง แต่ก็คิดไม่ออก จนกระทั่งไม่นานท่านจึงไขปริศนาได้ว่า หญ้าปากคอกที่พูดถึงนั้นก็คือ ท่านพระครูเจ้าอาวาส วัดบ้านหม้อนั่นเอง ท่านจึงได้ปวารณาตัวเป็นศิษย์เพื่อเล่าเรียนวิชาอาคมนานนับปี จนมีความรู้แคล่วคล่องในบทสวด คาถาอาคม อักขระเลขยันต์พอควร

ต่อมาในปี 2481 ท่านได้ตัดสินใจอุปสมบทที่วัดบ้านหม้อ จ.ราชบุรี ขณะมีอายุได้ 22 ปีโดยมี พระอธิการกลิ่น วัดคงคา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกลี้ยง วัดเฉลิมอาสน์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เช้งและพระอาจารย์แป๊ะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (สมัยนั้นใช้พระคู่สวดในพิธีกรรมถึง 3 รูป) ได้รับฉายาว่า "อนุปุพฺโพ"

ครั้นอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านหม้อ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนสามารถ สอบได้นักธรรมชั้นตรีและโทตามลำดับ รวมถึงวิชาอาคมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก พระอาจารย์แป๊ะ พระอาจารย์เปีย วัดบ้านหม้อและวิชาการแพทย์แผนโบราณ วิชาสมุนไพร จนกระทั่งเรียกได้ว่ามีความเชี่ยวชาญยากหาใครเทียบในเวลานั้น

ต่อมาในปี 2484 ทางวัดหนองม่วง อ.บางแพ จ.ราชบุรี ขาดพระสงฆ์ผู้นำที่จะดูแลวัด ชาวบ้านและไวยาวัจกรจึงได้พร้อมใจนิมนต์ท่านให้มาดูแลและพัฒนาวัดหนองม่วง หลวงพ่อสง่าพิจารณาดูแล้วเห็นด้วยกับเจตนาอันบริสุทธิ์ของชาวบ้าน ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ ที่วัดหนองม่วงตามคำขอและได้พัฒนาวัดให้ดีขึ้น ตามที่ชาวบ้านต้องการดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างสูงสุด

หลวงพ่อสง่าเริ่มศึกษาคาถาอาคมและอักขระเลขยันต์ มาตั้งแต่ตอนสมัยเป็นหนุ่ม ทั้งวิชาสักยันต์ รดน้ำมนต์ ครั้นเมื่อท่านได้อุปสมบท แล้วก็ยังให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องด้วยว่า แม้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ก็เป็นความนิยมของคนสมัยนั้น เพื่อให้เกิดศรัทธายึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยท่านได้เป็นอาจารย์สักยันต์อยู่หลายปีจนกระทั่งได้ข่าวว่า ผู้ที่ท่านสักให้ส่วนมากไปกระทำความชั่ว เป็นนักเลงเพราะฮึกเหิมลำพองในความคงกระพันของรอยสักที่สักให้ ท่านจึงได้เลิกพิธีกรรมการสักทั้งหมด เพราะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่เกิดแก่นสารที่แท้จริง

หลังจากนั้น เมื่อมีเวลาว่างท่านได้ไปขอต่อวิชากับ หลวงปู่ดี วัดบ้านยาง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเก่งในด้านการสร้างพระปิดตามหาอุตม์ คงกระพันชาตรี,หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาลบผงอิทธิเจ ปถมัง และการเขียนยันต์ 108, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ได้วิชามหาอุตม์, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมได้ครอบครูนะเมตตาและได้รับการสอนวิชาเจริญวิปัสสนา นอกจากนี้ยังมีครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆอีกมากมาย

ปฏิปทากิตติคุณและคุณธรรมของหลวงพ่อสง่า ท่านจะมีเมตตาธรรมสูงส่งยิ่งนัก ท่านได้พัฒนาวัดหนองม่วง และพัฒนาคนในชุมชนวัดหนองม่วงให้รู้จักหลักการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข สอนให้ทุกคนรู้จักอดทน ให้หมั่นเพียรพยายามพึ่งตนเองเป็นหลัก เอาชนะใจตนเองให้ได้

ท่านจะเน้นวิถีชีวิตอย่างชาวบ้านดั่งที่ท่านพร่ำสอนศิษย์เสมอว่า "คนเราถ้าไม่รวยก็อย่าจน ให้มีหิริโอตัปปะ ให้มีความอดทนและเพียรพยายามจะไม่อดตาย ความจนความรวย เราไม่ได้เอามาตั้งแต่เกิด แต่เราทำตัวเราให้รวย ให้จนได้ทั้งนั้น เป็นหนี้ก็เอามาให้พระแก้ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุคือตัวเราเอง หาได้ใช้เป็น ใช้ให้น้อย หาพอเพียงก็จะไม่จน" อนิจจัง วัตสังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา

วาระสุดท้ายหลวงพ่อสง่าท่านก็ไม่อาจพ้นจากพระพุทธพจน์บทนี้ได้ ท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันอังคาร แรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก ตรงกับวันที่ 29 เดือนมีนาคม ปี 2547 สิริอายุรวม 78 ปี พรรษาที่ 56

หลวงพ่อสง่าท่านจัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายรึ่นหลายรูปแบย แต่ที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือคือเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2511 มี 3 บล็อกคือ บล็อกไม่มีพ.ศ. และบล็อกมีพ.ศ. ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อเดียว คือเนื้อทองแดงผิวไฟ หลวงพ่อสง่าปลุกเสกเองที่วัดหนองม่วง ตอนแรกปั๊มทำเป็นเหรียญ ไม่มีการระบุ พ.ศ. แต่ครั้นพอทำไปได้จำนวนหนึ่ง หลวงพ่อท่านก็หยุด ให้ช่างแก้ไขใส่บล็อกเป็นเลขปี พ.ศ.2511 ไว้ที่ด้านหลัง. ดังนั้น เหรียญรุ่นนี้ ที่ไม่มีตัวเลขระบุปี พ.ศ. จึงมีจำนวนน้อยมาก

ส่วนเหรียญที่มีประสบการณ์ดังมากคือ เหรียญรูปเหมือนปี 2530 มีคนที่ห้อยเหรียญรุ่นนี้แล้วโดนยิงไม่เข้าหลายราย ส่วนใหญ่เหรียญของท่านจะไปดังทางจังหวัดชลบุรี

หลวงพ่อสง่าท่านเป็นพระนักกรรมฐานที่ฝึกฝนกรรมฐานมาเป็นอย่างมาก ท่านถึงให้ความสำคัญ แทรกยาดำด้วย คำภาวนาว่า "สัมมาอะระหังพุทโธ" หลวงพ่อสง่าท่านเป็นผู้ชำนาญเรื่องฤกษ์เรื่องยามเป็นอย่างดี ถึงให้ความสำคัญกับจักรราศี เหรียญปี 2530 นั้นหลวงพ่อสง่าท่านจะเน้นพุทธคุณเด่นในทางคงกระพันชาตรี และแคล้วคลาด อักขระเลขยันต์ที่ใส่ไว้ในเหรียญของท่าน แบบที่จะเห็นอยู่ในด้านหลังเหรียญรุ่นปี 2530

เหรียญรุ่นนี้มีประสบการณ์สูงทางด้านคงกระพันอย่างเด่นชัด จึงเป็นเหรียญเกจิอาจารย์ที่น่าเสาะหามาสะสมบูชาเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับศิษย์สืบทอดพุทธาคมสายตรงของหลวงพ่อสง่าที่มีขื่อเสียงในปัจจุบันคือ

"พระอาจารย์อนุชา อนุชาโ"เกจิดังแห่ง วัดโพธิ์ราษฎร์บูรณะ ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี


 
 
 

Comentários


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page