top of page
ค้นหา

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ย. 2566 "หลวงพ่อคลี่" วัดประชาโฆสิตาราม

รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ย. 2566

"หลวงพ่อคลี่" วัดประชาโฆสิตาราม

อดีตเกจิดังแม่กลองร่วมยุค”หลวงพ่อเนื่อง”

หนึ่งในอาจารย์พระมหาสุรศักดิ์ วัดประดู่

วัดประชาโฆสิตาราม ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม หรือชื่อเดิม”วัดบางนกแขวก” เป็นวัดที่ใหญ่และเจริญรุ่งเรืองวัดหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม เดิมชื่อว่า “วัดบางนกแขวก” ตามชื่อคลองและชื่อหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.2351 ตรงกับปลายสมัยพระพุทธเจ้าเสือ กษัตริย์องค์ที่ 19 สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยหลวงพ่อทองอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัดอย่างคณานับ จนต่อมาในปี พ.ศ.2485 ท่านได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดบางนกแขวก” มาเป็น “วัดประชาโฆสิตาราม”

ในอดีตมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง 2 องค์คือ พระครูสุนทรโฆสิต หรือ”หลวงพ่อทองอยู่” ผู้มีวิชาวิทยาคมสูง มีความชำนาญเก่งกาจในด้านลงกระหม่อม และตะกรุดโทน ถึงขนาดที่ หลวงพ่อคงวัด บางกะพ้อม และหลวงพ่อเปลี่ยน วัดชุมพล(วัดใต้) จ.กาญจนบุรี ต่างเอ่ยปากชื่นชมว่าท่านเป็นพระที่"เก่ง"

พระเกจิอาจารย์อีกองค์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดสืบต่อจากหลวงพ่อทองอยู่ก็คือ พระครูสมุทรวิจารณ์ หรือ"หลวงพ่อคลี่ ฐานวิจาโร" สมญานามว่า พระเกจิแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เจ้าของเหรียญยันต์ "ด.ใหญ่"ที่มีประสบการณ์ฮือฮาว่า"เหนียว"สุดๆ

ปัจจุบันวัดนี้มีพระครูวิจิตรสรคุณ "หลวงพ่อเจี๊ยบ วุฑฒิสาโร" หรือ"พระอาจารย์เจี๊ยบ"เป็นเจ้าอาวาส โดยท่านได้สืบสายวิชาของหลวงพ่อคลี่ และเป็นศิษย์พุทธาคมพระเกจิเมืองแม่กลองหลายท่าน

"หลวงพ่อคลี่ ฐานวิจาโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดประชาโฆสิตาราม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นหนึ่งในพระดีเกจิดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง อายุรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี และหลวงพ่อสาย วัดจันทร์เจริญสุข แม้ชื่อเสียงในวงการพระเครื่องหลวงพ่อคลี่ อาจจะไม่รู้จักแพร่หลายเหมือนหลวงพ่อเนื่อง แต่คนในพื้นที่และส่วนกลางต่างก็รู้จักและศรัทธา ในบารมีของท่านอย่างมาก

ที่สำคัญ ท่านเป็นหนึ่งในพระอาจารย์ผู้ถ่ายทอดพุทธาคมให้พระภาวนาวิสุทธิคุณ (หลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์ อติสักโข) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันวัดประดู่ พระอารามหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ท่านมีนามเดิมว่า "วิจารณ์" นามสกุล "ศิริสวัสดิ์" เป็นชาวบ้านปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน ปี2447 บิดาชื่อนายคล้ำ มารดาชื่อ นางหลง วัยเยาว์หลังสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดประชาโฆสิตาราม ได้บรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่ปี2462 ที่วัดประชาโฆสิตาราม โดยมีหลวงพ่อทองอยู่ วัดประชาโฆสิตาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

สำหรับหลวงพ่อทองอยู่ วัดประชาโฆสิตาราม เป็นพระเกจิร่วมยุคสมัยเดียวกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิตย์ ชาวบ้านในสมัยก่อนก็ให้ความนับถือมาก แม้แต่หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ยังกล่าวยกย่องในด้านความเก่งกล้าด้านพุทธาคม

ในฐานะที่หลวงพ่อคลี่มีศักดิ์เป็นญาติกับหลวงพ่อทองอยู่ จึงมิต้องสงสัยเลยว่าวิชาต่างๆหลวงพ่อคลี่ ต้องได้เรียนมาจากหลวงพ่อทองอยู่แบบเต็มๆไม่มีปิดบัง

ต่อมาในปี2467ได้อุปสมบทที่วัดประชาโฆสิตาราม โดยมีพระครูวิมลศีลาจารย์ (หลวงพ่อช่วง) วัดปากน้ำ ต.แควอ้อม อ.อัมพวา สมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งหลวงพ่อช่วงเป็นพระเกจิที่อาวุโสแก่กว่าหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมหลายปี มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิทยาคมและวิปัสสนากรรมฐาน

หลวงพ่อคลี่เป็นพระที่มีความขยันใฝ่เรียนรู้ ท่านได้ศึกษาปริยัติจนสำเร็จนักธรรมเอก ในปี 2477 หลังจากที่หลวงพ่อทองอยู่ ได้มรณภาพลงเมื่อปีพ.ศ. 2487 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งเป็นทางการในปีพ.ศ. 2490

ปีพ.ศ.2490 เป็นพระปลัดฐานานุกรม ฐานานุศักดิ์ เจ้าคณะอำเภอเมือง สมุทรสงคราม พ.ศ.2495 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบลปลายโพงพาง ปีพ.ศ.2496 เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรม พระเทพมุนี วัดสังเวชวิศยาราม กรุงเทพฯ และเป็นเจ้าคณะตำบลปลายโพงพาง ปีพ.ศ.2497 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดคลองโคน ปีพ.ศ.2498 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเจริญรัตนาราม และเป็นพระอุปัชฌาย์ ปีพ.ศ.2500 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ "พระครูสมุทรวิจารณ์" ปีพ.ศ.2508 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม ปีพ.ศ.2517 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

วาระสุดท้ายท่านมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2533 สิริอายุ 86 ปี ปกครองวัดเป็นเวลา43ปี

หลวงพ่อคลี่เป็นพระที่มีความเก่งกล้าด้านอาคมมากองค์หนึ่ง อีกทั้งเป็นพระที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตาอย่างมาก มีชื่อเสียงดังควบคู่มากับหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ในแต่ละวันมีผู้คนเดินทางไปหาท่านเป็นอย่างมาก เพราะต้องการโชคลาภจากท่าน

ชื่อเสียงของท่านดังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่ก่อสร้างโบสถ์ ใกล้จะเสร็จ ทางวัดจัดสร้างพระเครื่อง และพิธีปลุกเสกขึ้น ขณะที่ทำการปลุกเสกนั้น เทียนชัยได้เกิดระเบิดดังลั่นสนั่นโบสถ์ เป็นที่กล่าวขานกันไปไกล

สำหรับวัตถุมงคลที่สร้างไว้สมัยท่านมีชีวิต มีจำนวนไม่มากรุ่น สังเกตได้ว่าไม่ค่อยมีหมุนเวียนออกมาตามสนามบ่อยนัก ส่วนใหญ่คนที่รู้จักจะแอบเก็บกันหมด เหรียญรูปเหมือนยุคแรก พิมพ์กลม สร้างในปีพ.ศ.2499 งานฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์

ส่วนเหรียญที่สร้างชื่อให้หลวงพ่อคลี่มากที่สุดก็คือ เหรียญยันต์ "ด.เด็กใหญ่" สร้างปี 2519 เพราะมีคนที่แขวนเหรียญรุ่นนี้ถูกฟันแทงด้วยมีดสปาต้า ผลปรากฏว่าไม่มีแผลให้แมลงวันได้กินเลือดเลย ชาวบ้านในพื้นที่รู้ข่าวต่างตามเก็บกันหมด ทำให้เหรียญ”ด.เด็กใหญ่”กลายเป็นของหายาก และตอนหลังๆมีของเสริมจากวัด และของเก๊ออกมาร่วมแจมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีพระพิมพ์สมเด็จ,พระเครื่องเนื้อเมฆพัตร และเนื้อแร่พรหมชะแง้ ที่มีประสบการณ์มากมาย ชาวประมงลูกศิษย์รุ่นเก่าเล่าว่า ถ้าแมลงสัตว์กัดต่อย ให้เอาพระเนื้อแร่ของหลวงพ่อคลี่จุ่มน้ำมะนาวปิดปากแผลที่โดนกัด จะหายปวดเป็นปลิดทิ้ง โดยเฉพาะเงี่ยงปลากระเบน

พระเครื่องของท่านมีพุทธคุณทั้งทางแคล้วคลาด เมตตามหานิยม โชคลาภ แถมด้วยคงกระพันชาตรีก็มีให้พบเห็น โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปกราบท่านหลายวาระ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. บนวัตถุมงคลของหลวงพ่อคลี่อีกด้วย

#ฉัตรสยาม


 
 
 

Comments


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page