คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย. 2566
เกจินักบุญอีสานใต้...สายพุทธาคมเขมร
“หลวงปู่เจียม”วัดอินทราสุการาม สุรินทร์
”ตะกรุด”แคล้วคลาด-เมตตามหานิยม
อาจารย์หลวงปู่จันทร์ วัดนาเลิง อุบลฯ
ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
หนึ่งในพระดีเกจิดังแห่งอีสานใต้ ไหลวงปู่เจียม อติสโย” (พระครูอุดมวรเวท) อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทราสุการาม (วัดหนองยาว) ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เป็นยอดเกจิอาจารย์แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือองค์หนึ่ง เป็นนักบุญแห่งอีสานใต้ผู้เข้มขลังทางพระเวทย์ มีตบะสมาธิ และมีวิถีญานอันแกร่งกล้าจนเป็นที่กล่าวขานยกย่องยอมรับในหมู่ทหารหาญที่ปฎิบัติราชการตามแนวประเทศไทย-กัมพูชา ตลอดทั้งบรรดาศิษยานุศิษย์ ญาติโยมที่รู้จักทั่วไป
ชาติภูมิท่านเป็นชาวเขมรโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2454 (ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 2 ปีกุน) ที่บ้านดองรุน ต.ประเตียเนียง อ.มงคลบุรี จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา ชื่อเดิมว่า “เจียม นวนสวัสดิ์ (เดือมดำ)” มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน ท่านเป็นบุตรคนโตเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล อ.มงคลบุรี จ.พระตะบอง ศึกษาภาษาเขมรและภาษาฝรั่งเศส ตามหลักสูตรที่รัฐบาลกัมพูชากำหนดไว้
จากนั้นได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนในจังหวัดพระตะบอง แต่เรียนได้เพียง 3 เดือนก็ลาออก เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน และได้รับผลกระทบจากสภาวะสงครามภายในประเทศ หลังจากนั้น ได้ประกอบอาชีพทำนาและค้าขาย เช่น ค้าข้าว ค้าวัว รวมทั้งเป็นช่างไม้ กระทั่งอายุ 26 ปีได้สมรสกับหญิงสาวในหมู่บ้านเดียวกัน มีบุตรธิดารวม 4 คน
เนื่องจากขณะนั้นประเทศกัมพูชาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของประเทศฝรั่งเศส ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีความรักชาติรักแผ่นดิน ต้องการให้ประเทศชาติเป็นเอกราช จึงร่วมมือกับกลุ่มชาวเขมรที่รักชาติ จัดตั้งกองกำลังเขมรเสรีเพื่อกอบกู้ประเทศชาติ โดยสู้รบกับทหารฝรั่งเศสอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และต่อมาถูกปราบปรามอย่างหนักจนต้องหลบหนีเข้ามายังเขตประเทศไทย โดยหวังว่าจะรวมตัวกันกลับเข้าไปต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชอีกครั้ง
ต่อมาในปีพ.ศ.2485 จึงตัดสินใจอพยพครอบครัวมุ่งหน้าเข้าสู่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สุรินทร์ โดยเดินทางมากับพระสงฆ์ชาวเขมรชื่อ “พระครูดี” ใช้วิธีเดินทางรอนแรมมาเรื่อยๆ ค่ำไหนก็พักนอนที่นั่น แล้วออกตระเวนรับจ้างชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสังขะหาเลี้ยงชีพไปตามอัตภาพ จนในที่สุดได้แวะพักที่วัดทักษิณวารี (วัดทักษิณวารีสิริสุข) บ้านลำดวน ต.ลำดวน อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ พร้อมทั้งได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์”หลวงพ่อวาง ธมฺมโชโต” เกจิดังเรืองวิทยาคม โดยปฏิบัติรับใช้อย่างดีทำให้บรรดาโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อวางเกิดความรักความศรัทธาขอเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้ ขณะที่ท่านมีอายุ 47 ปี ตรงกับวันที่ 14 ก.พ..2501 ณ วัดทักษิณวารี โดยมีหลวงพ่อวาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า "อติสโย"
ท่านได้อยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรียนภาษาไทย รวมทั้งฝากตัวเป็นศิษย์ปรนนิบัติรับใช้ และขอรับการถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆจากหลวงพ่อวาง อาทิ การเสกน้ำมนต์ เขียนแผ่นทอง ฯลฯ โดยแต่ละพรรษาได้มีโอกาสแวะเวียนไปนมัสการ”หลวงพ่อเปราะ พุทธโชติ” วัดสุวรรณรัตนโพธิวนาราม อ.ลำดวน พระเกจิชื่อดังเพื่อปรนนิบัติรับใช้และเรียนวิทยาคม อาทิ การเขียนอักขระลงแผ่นทอง, การทำตะกรุด, วิชาเสริมสิริมงคล และอีกหลายอย่าง เพื่อนำความรู้มาช่วยปัดเป่าบรรเทาทุกข์ภัยให้ชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีผู้เจ็บป่วยด้วยไสยศาสตร์มนต์ดำเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ท่านยังออกธุดงค์ไปตามถ้ำและป่าเขาอย่างต่อเนื่องในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายแดนประเทศลาว โดยยึดป่าเขาเป็นสถานศึกษา ในระหว่างเดินธุดงค์ ได้พบได้สนทนาธรรมและเรียนรู้วิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนาจากพระอาจารย์หลายท่าน เป็นเวลานานถึง 13 ปี แล้วจึงกลับมาเข้าพรรษาที่วัดทักษิณวารี
หลังกลับจากธุดงค์แล้ว เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2513 กลุ่มชาวบ้านหนองยาง ได้นิมนต์หลวงปู่เจียม ให้ไปสร้างสำนักสงฆ์ในพื้นที่บ้านหนองยาว ถนนโชคชัย-เดชอุดม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เริ่มต้นด้วยการสร้างกุฏิเล็กๆสำหรับการปฏิบัติธรรม โดยหลวงปู่เจียมอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ตลอดมา จนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "วัดอินทราสุการาม" หรือที่เรียกกันว่า”วัดหนองยาว” ขณะเดียวกัน ท่านก็เผยแผ่พระพุทธศาสนา คอยเทศน์อบรมบรรยายธรรมให้แก่ชาวบ้านหมั่นรักษาศีล และปฏิบัติธรรม
นอกจากมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมแล้ว ท่านยังเป็นพระนักพัฒนา ได้ช่วยสร้างวัดที่อำเภอบัวเชด จ.สุรินทร์ 2 แห่ง สร้างสถานีอนามัยที่บ้านหนองยาว มอบครุภัณฑ์ให้โรงพยาบาลสุรินทร์ สร้างศาลาประชาคม 61 แห่ง รวมทั้งสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ปีพ.ศ.2527 หลวงปู่เจียมได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ "พระครูอุดมวรเวท"
หลวงปู่เจียมท่านมีความเป็นอยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย มีจริยาวัตรที่งดงาม เคร่งครัดในธรรมวินัย มีญาณที่แก่กล้า มีลูกศิษย์ทุกระดับชั้นตั้งแต่ชาวบ้านธรรม ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ข้าราชการ เจ้านายระดับสูง ใครที่มากราบไหว้ท่านก็จะมอบวัตถุมงคลให้เป็นการส่งเสริมมงคลให้สูงยิ่งขึ้น เป็นมหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาดหรือสะเดาะเคราะห์ ตัดเคราะห์ให้เบาลงไป
ย่างเข้าสู่วัยชรา หลวงปู่เจียมเริ่มมีอาการเหน็ดเหนื่อย สายตาพร่ามัว ประสาทหูฟังไม่ค่อยชัด คณะศิษย์ได้นำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ครั้นเมื่อออกจากโรงพยาบาล ท่านยังต้องรับกิจนิมนต์จากชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธา เพื่อคอยปัดเป่าทุกข์บำรุงสุขไม่เว้นแต่ละวัน บ้างต้องไปนั่งประพรมน้ำมนต์ เป่ากระหม่อมให้ศิษย์สม่ำเสมอ
กระทั่งเวลา 16.59 น ของวันศุกร์ที่ 1 ก.ย. 2549 หลวงปู่เจียมได้มรณภาพลงอย่างสงบ ภายในกุฏิวัดอินทราสุการาม หลังเข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการอาพาธจากโรคไตมาเป็นเวลานาน ประกอบกับวัยที่ชราภาพมาก สิริอายุ 96 พรรษา 47 ปรากฏว่าสรีระสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อยบรรจุอยู่ในโลงแก้วให้ประชาชนได้มากราบไหว้มาถึงปัจจุบันนี้
ช่วงที่หลวงปู่เจียมธุดงค์ไปแถบจ.จันทบุรี จ.ฉะเชิงเทรา และจ.สมุทรปราการ ได้ไปพบกับเกจิอาจารย์ เช่น หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส ที่อำเภอขลุง หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฯลฯ ซึ่งทุกท่านได้สร้างตะกรุดให้ญาติโยมไว้บูชา ต่อมาหลวงปู่ไปธุดงค์แถบจังหวัดอุบลราช ธานีจะมีญาติโยมมากราบและขอวัตถุมงคล ท่านจึงจารแผ่นทองแดงถักด้ายขาวล้อมรอบตะกรุดมอบให้แก่ญาติโยมที่มาทำบุญ ต่อมามีผู้นำสายร่มมาถวาย ท่านจึงปรับเปลี่ยนมาร้อยด้วยสายร่มแทน
หลวงปู่เจียมสร้างวัตถุมงคลขึ้นครั้งแรกเป็น "ตะกรุดโทน" ลักษณะม้วนแผ่นทองสอดสายยางร้อยกับสายร่ม และผูกห้อยพระแก้วมรกต และเหรียญรูปเหมือน เป็นต้น ปรากฏว่าผู้ที่มีวัตถุมงคลหลวงปู่เจียมไว้ในครอบครอง มีประสบการณ์ปาฏิหาริย์นานัปการ ทำให้มีศรัทธาชนแห่แหนไปร่วมทำบุญกันอย่างเนืองแน่น โดยมีชาวบ้านบางส่วนนิยมนำยานพาหนะส่วนตัว ตลอดทั้งรถยนต์โดยสารในท้องถิ่นสุรินทร์ หรือต่างจังหวัด ผูกห้อยตะกรุดโทนของหลวงปู่เจียมไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล
ขณะเดียวกัน แต่ละวันจะมีผู้คนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปกราบขอให้ท่านเสริมสิริมงคล ถอดถอนคุณไสย ด้วยการอาบน้ำมนต์ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไปกราบนมัสการขอให้ท่านเขียนตะกรุดโทนแขวนคอ ลงเหล็กจารในแผ่นทองกับมือของท่าน เพื่อสวมใส่เป็นขวัญกำลังใจ ในการออกไปรับใช้ชาติในต่างแดน อาทิ เวียดนาม ลาว และเขมร จนได้รับการกล่าวขานเลื่องลือระบือไกล ด้วยพุทธคุณเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดภยันตราย
วัตถุมงคลของหลวงปู่เจียมทั้งที่วัดจัดสร้าง และภาครัฐหรือเอกชนขออนุญาตจัดสร้าง รวมทั้งสิ้นประมาณ 50 รุ่น โดยรุ่นแรกออกเมื่อปี2518 ฉลองอายุ 65 ปี เป็นเหรียญรูปเหมือนมี 2 พิมพ์คือ พิมพ์พระอาทิตย์แสงซ้อน และพิมพ์พระอาทิตย์นูน ,พระสมเด็จ 9 ชั้น พระผงนางกวัก และพระบูชา,เหรียญรุ่นสองเป็นพิมพ์เสมารุ่นแรก ออกปี 2522
หลังจากนั้นมีการสร้างวัตถุมงคลฉลองอายุตั้งแต่อายุ 80 ปีจนถึงรุ่นอายุ 96 ปีซึ่งเป็นรุ่นสุดท้าย มีทั้งรูปแบบเหรียญ,รูปหล่อ,พระกริ่ง,ล็อกเก็ต,พระเนื้อผง ฯลฯ
ปีพ.ศ.2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมหลวงปู่เจียมที่วัดอินทราสุการาม เป็นการส่วนพระองค์เพื่อสนทนาธรรม ในโอกาสนี้ หลวงปู่เจียมได้ทูลเกล้าฯถวายวัตถุมงคลพระกริ่งรูปเหมือน รุ่น”รับเสด็จ” และตะกรุดเป็นที่ระลึก
ทั้งนี้ การสร้างตะกรุดหลวงปู่เจียมมีวัตถุ ประสงค์เพื่อมอบให้แก่ทหาร ที่มาปฏิบัติหน้าที่แถบชายแดน จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารหาญ โดยเอกลักษณ์ของท่านคือ “ตะกรุดห้อยคอแขวนเหรียญ”
ตะกรุดพร้อมเหรียญ รุ่น”ทหารพระเจ้าอยู่หัว” เป็นหนึ่งในวัตถุมงคลที่มีประสบการณ์ และเป็นที่หวงแหนของบรรดาทหารอย่างมาก โดยหลวงปู่เจียมตั้งใจทำตะกรุดรุ่นสุดท้ายรุ่นนี้ฝากไว้ในแผ่นดิน และถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี เพื่อพระราชทาน แก่ทหารหาญ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ โดยให้ชื่อรุ่นว่า "รุ่นทหารพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งท่านมีความเชื่อมั่นว่า ตะกรุดรุ่นนี้สามารถช่วยทหารและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้พ้นจากอันตรายทั้งปวงได้ ส่วนตัวเหรียญเป็นพิมพ์รูปไข่กับพิมพ์เสมา
พุทธคุณวัตถุมงคลของหลวงปู่เจียม แน่นอนว่าโดดเด่นทางด้านแคล้วคลาดปลอดภัย รวมไปถึงเมตตามหานิยม เป็นข่าวฮือฮาให้เห็นมากมาย!!
สำหรับศิษย์สืบทอดพุทธาคมของหลวงปู่เจียมที่มีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบันคือ พระครูบวรจันทโสภณ หรือ "หลวงปู่จันทร์ เตชวโร" เจ้าอาวาสวัดนาเลิง อ.เดชอุดม จ อุบลราชธานี อายุ 84ปี พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงญาณวิเศษ พระป่าธุดงค์ผู้ทรงข้อวัตรปฏิบัติเเห่งเเดนอีสาน
#ฉัตรสยาม
留言