top of page
ค้นหา

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. 2567 "หลวงปู่ชู"วัดนาคปรก อดีตเกจิดังฝั่งธนฯ ร่วมยุค"ปู่เอี่ยม"วัดหนัง/"ปู่ไปล่"วัดกำแพง

  • รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริ
    อ.อนุชา ทรงศิริ
  • 21 ก.ค. 2567
  • ยาว 1 นาที

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. 2567


"หลวงปู่ชู"วัดนาคปรก อดีตเกจิดังฝั่งธนฯ

ร่วมยุค"ปู่เอี่ยม"วัดหนัง/"ปู่ไปล่"วัดกำแพง

เหรียญดังหลังแบบ/ยอดพระกรุหลวงพ่อโต


"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

"หลวงปู่ชู คงชูนาม" วัดนาคปรก แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ อดีตเจ้าอาวาสที่ชาวบ้านในละแวกวัดรวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงต่างพากันกล่าวถึงเกียรติคุณและพระเครื่องของท่านมาจนถึงปัจจบันนี้ โดยท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคเดียวกับพระภาวนาโกศล หรือ"หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง" และหลวงปู่ไปล่ วัดกำแพง ซึ่งทั้งสามท่านได้รับการกล่าวขานเป็นตำนาน"เกจิสายเหนียว"แห่งฝั่งธนบุรี


ตามประวัติบันทึกว่า บ้านเดิมท่านเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑โยมบิดาชื่อ "คง" โยมมารดาไม่ทราบนาม บิดามีอาชีพค้าขาย มีเรือโกลนล่องจากนครศรีธรรมราชมาค้าขายที่กรุงเทพฯได้โยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่จังหวัดธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ ได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ คลองสาน อันเป็นสำนักสอนกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น


หลวงปู่ชูท่านได้ศึกษาทางด้านนี้ รวมทั้งจิตใจฝักใฝ่ในด้านพุทธาคมและไสยเวทมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จึงมุ่งมั่นศึกษาวิชาต่างๆแต่ละแขนงจนมีความเชี่ยวชาญ ว่ากันว่า ท่านยังเป็นศิษย์เรียนวิชาจากสำนักวัดระฆังโฆสิตารามอีกด้วย ต่อมาท่านได้ลาสิกขาเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปศึกษาวิชาต่างๆ ท่านได้ไปขอศึกษาวิชากับ ท่านอาจารย์พลับ วัดชีตาเห็น (วัดชีโพ้นในปัจจุบัน) จ.อยุธยา


ต่อมาขาดการติดต่อกับทางบ้าน บรรดาญาติพี่น้องพากันเข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว พอท่านกลับมาเยี่ยมบ้าน ยังความปีติยินดีแก่ญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง โยมบิดามารดาจึงจัดหาตบแต่งภรรยาให้ท่าน อยู่กินกันจนมีบุตรธิดา รวม ๓ คน เป็นชาย๒ หญิง หลังจากมีครอบครัวท่านก็ได้ใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรใบยาและเวทย์มนต์คาถาที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน พากันเรียกท่านว่า "พ่อหมอชู"


ภายหลังท่านเกิดเบื่อหน่ายในโลกีย์วิสัย มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร จึงอุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่วัดนางชี เขตภาษีเจริญ ต่อมาท่านได้ย้ายมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันจวบจนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันพุธ แรม๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ.๒๔๗๗ สิริอายุได้ ๗๖ ปี


เท่าที่มีการบันทึกเรื่องราว และคำเล่าขานของชาวบ้านแถบวัดนาคปรกที่เล่ากันต่อๆมา

ถึงวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ชู ว่ากันว่า ท่านเป็นพระที่เรียบง่าย ไม่โอ้อวดตนว่าเป็นผู้วิเศษ มีความรู้ความสามารถเหนือผู้อื่น แต่กลับมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีคุณธรรมสูง เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่รักเคารพของบรรดาศิษย์


มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่ชูเป็นพระอาจารย์องค์เดียวที่ พระภาวนาโกศลเถระ หรือ"หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง" พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง กล่าวยกย่องว่า เก่งทางไสยศาสตร์และวิชาแพทย์แผนโบราณ ว่ากันว่า ถ้ามีคนตลาดพลูไปขอของดีจากหลวงปู่เอี่ยม ท่านจะบอกให้มาเอาจากหลวงปู่ชู ในทางกลับกัน ถ้ามีคนบางขุนเทียนมาขอของดีจากหลวงปู่ชู ท่านก็แนะนำให้ไปขอจากหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่ทั้งสองนี้ต่างก็ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ต่างก็รู้วาระจิตกันดี และมักจะไปมาหาสู่กันเสมอ


หลวงปู่ชูท่านให้การอบรมพระภิกษุสามเณรในวัดเป็นอย่างดี ท่านมักเทศนาให้ชาวบ้านฟังเสมอๆว่าให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ประกอบอาชีพทำมาหากินสุจริต สมัยก่อนวัดนาคปรกและบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยป่าครึ้ม ชาวบ้านประกอบอาชีพกสิกรรม ทำสวนผลไม้และปลูกหมากพลู มีมากจนคนขนานนามว่า ตลาดพลู การคมนาคมในสมัยก่อนยังใช้เรือเป็นพาหนะ ไฟฟ้า ประปายังไม่มี ตกค่ำก็พากันจุดไต้และตะเกียงเพื่ออ่านคัมภีร์และหนังสือธรรมะ เป็นกิจวัตรประจำวัน


อีกเรื่องเล่าขานหลวงปู่ชูให้หวยแม่น ในสมัยนั้น ชาวบ้านย่านตลาดพลู ใครมีเรื่องทุกข์ร้อน มักมาหาให้ท่านช่วยเหลือ บางคนที่ไม่มีอะไรกิน ท่านก็สงเคราะห์ให้ตามสมควร จนกระทั่งมีข่าวเล่าลือว่า หลวงปู่ให้หวย อันเป็นการผิดกฎของคณะสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชทราบเรื่องจึงทรงสอบสวนวินัย โดยมอบให้ท่านเจ้าคุณวัดอนงคาราม เป็นผู้สอบสวน โดยเรียกให้ท่านมาพบที่วัด เมื่อไปถึงก็กราบท่านเจ้าคุณพร้อมนั่งประนมมือฟังคำบัญชาด้วยใจเด็ดเดี่ยวและมั่นคง


ท่านเจ้าคุณวัดอนงค์ถามขึ้นว่า “ให้หวยเก่งนักหรือ” ท่านตอบไปว่า “ขอก็ให้ ไม่ขอก็ไม่ให้” ท่านเจ้าคุณวัดอนงค์ได้ฟังจึงสรุปว่าท่านให้หวยผิดวินัย โกหกหลอกลวงชาวบ้าน แต่ถ้าสามารถตอบอะไรท่านได้ จะไม่ถือเอาโทษ หากตอบไม่ได้จะปรับโทษทางวินัย แล้วท่านเจ้าคุณก็เขียนหนังสือใส่ซองจดหมายอย่างหนาแล้วนำเอามาวางไว้ตรงหน้าหลวงปู่ชู โดยมีพระเถระเป็นสักขีพยานหลายรูป รวมทั้งมัคนายกอีกสองคนนั่งดูการพิจารณาพิพากษาอยู่ด้วย


เมื่อวางซองจดหมายแล้ว เขียนว่าอย่างไรบ้าง หลวงปู่ชูจึงนั่งหลับตาอยู่ราวอึดใจหนึ่งจึงกราบเรียนท่านเจ้าคุณรวมทั้งสักขีพยานว่า ในซองนั้นเขียนคำว่า "สมภารชูให้หวย” พอฉีกซองออกมาดู ทั้งข้อความที่ปรากฏอยู่ เป็นไปดังที่ท่านกล่าวทุกประการ หลังจากนั้นได้นิมนต์ให้ท่านกลับวัดโดยหมดโทษ หมดมลทินใดๆ เพราะท่านไม่ได้หลอกลวงใครดังกล่าวหา ภายหลังท่านเจ้าคุณวัดอนงค์ได้มาเยี่ยมเยียนหลวงปู่ชูที่วัดเสมอ จนถูกอัธยาศัยไมตรีกันตราบจนสิ้นชีวิต เรื่องหลวงปู่ชูให้หวยแม่นและเรื่องที่ท่านโดนท่านเจ้าคุณอนงค์เรียกไปสอบกลายเป็นข่าวเลื่องลือไปทั่ว


หลวงปู่ชูนับว่าเป็นสุดยอดพระเกจิที่มีชื่อเสียงมากอีกองค์หนึ่งของประเทศไทย ท่านได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นไม่มาก อาทิ เหรียญหลังแบบรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ.๒๔๗๑ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานทำบุญอายุครบ ๗๐ ปีของหลวงปู่ ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปทรงเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างเฉพาะเนื้อเงิน และเนื้อเงินกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างตามคำบอกเล่ามีการจัดสร้างเพียง ๗๐ เหรียญเท่านั้น,พระพิมพ์หลวงพ่อโตบางกระทิง เนื้อทองผสม และเนื้อดินเผา ผ้าประเจียด และ ผ้ายันต์ ตะกรุด พระปิดตา ฯลฯ


หลวงปู่ชูท่านได้สร้าง พระกรุหลวงพ่อโตวัดนาคปรกอันโด่งดัง เมื่อคราวที่ท่านทำพิธีเททองหล่อ องค์พระหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดนาคปรกทั้งสององค์ สองครั้ง โดยทำพิธีเททองหล่อ หลวงพ่อโตองค์เล็ก ครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ และทำพิธีเททองหล่อหลวงพ่อโตองค์ใหญ่เป็นครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ เพื่อประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวงพ่อโตวัดนาคปรก ไว้ให้พี่น้องประชนผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบไหว้ในองค์หลวงพ่อโต


นอกจากนี้ ยังมีพระกรุที่พบในเรือสำเภาโบราณของวัดนาคปรกที่มีทั้งเนื้อโลหะ ดิน ผงพิมพ์ต่างๆ อีกด้วย เช่น พิมพ์หลวงพ่อโต พิมพ์หยดน้ำ พิมพ์ปิดตา พิมพ์สังกัจจายน์ และพิมพ์วัดมฤคทายวัน เป็นต้น ซึ่งพระทั้งหมดได้แตกกรุออกมาเมื่อปี พ.ศ.2516


เหรียญรุ่นปลงศพ สร้างปีพ.ศ. ๒๔๗๘ เพื่อแจกให้กับเจ้าภาพสวดอภิธรรมงานศพของหลวงปู่ เหรียญนี้ถึงจะสร้างหลังจากหลวงปู่ชู มรณภาพแล้ว แต่เหรียญนี้ก็มีประสบการณ์มากมาย เพราะปลุกเสกโดยหลวงปู่ไปล่ วัดกำแพง


พระเครื่องของหลวงปู่ชู กล่าวขานกันว่า มีพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เช่นเดียวกับพระเครื่องของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนังและหลวงปู่ไปล่ วัดกำแพงที่แรงด้วยราคาค่านิยมและประสบการณ์ความศักดิ์สิทธิ์


#ฉัตรสยาม



 
 
 

Comentários


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page