top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค. 2566 “หลวงพ่อเชิญ วัดโคกทอง”เกจิเมืองกรุงเก่า

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค. 2566

“หลวงพ่อเชิญ วัดโคกทอง”เกจิเมืองกรุงเก่า

ศิษย์เอกหลวงพ่อเพิ่ม/สายวิชาหลวงพ่อกลั่น

สืบสานตำรา”ยันต์เกราะเพชร”หลวงพ่อปาน

"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติหนึ่งในอดีตพระเกจิอาจารย์มาแรงแห่งเมืองกรุงเก่า..พระมงคลวราจารย์ หรือ“หลวงพ่อเชิญ ปุญญสิริ” อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกทอง ต.กุฎี อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เกจิ อาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดคงกระพัน ทายาทตัวจริงที่ได้รับการถ่ายทอดสุดยอดวิชามาจาก”หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค”จนหมดสิ้น ยิ่งเรื่องการ"เป่ายันต์เกราะเพชร"ด้วยแล้ว กล่าวได้ว่าท่านเป็น"เบอร์หนึ่ง" ตัวจริง

หลวงพ่อเชิญเกิดในตระกูล” กุฎีสุข” ที่หมู่บ้านดงตาล ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 12 เม.ย. 2450 โยมบิดาชื่อ นายเคลือบ โยมมารดาชื่อ นางโล่ เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน โดยน้องสองคนเป็นฝาแฝดหญิง ชื่อ นางเจียม และ นางจอม

เมื่ออายุ 5 ขวบ โยมมารดาถึงแก่กรรมจึงต้องอยู่ในความดูแลของโยมบิดาแต่ผู้เดียว ยามใดที่โยมบิดาไปทำไร่ไถนา ท่านต้องรับภาระเลี้ยงดูน้องสาวฝาแฝด นับเป็นความยากลำบากมากทีเดียว เพราะขณะนั้นท่านเองเพิ่งจะมีอายุ 5-6 ขวบเท่านั้น อายุได้ 8 ขวบ โยมบิดาพาไปฝากเรียนหนังสือกับหลวงพ่อขาบ วัดฤาชัย ต.กุฎี อ.ผักไห่ จ.พระนครศรี อยุธยา อันเป็นถิ่นกำเนิดของโยมบิดา โดยเล่าเรียนหนังสืออยู่กับหลวงพ่อขาบ 2 ปี จนสามารถอ่านออกเขียนได้พอสมควร

หลวงพ่อขาบขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลกุฎี เห็นว่าหลวงพ่อเชิญเป็นเด็กดี ขยันหมั่นเพียร เฉลียวฉลาดและว่านอนสอนง่าย จึงนำไปฝากพระครูบวรสังฆกิจ หรือ “หลวงพ่อเพิ่ม วัดโคกทอง” เจ้าคณะอำเภอเสนา ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความรู้ด้านปริยัติธรรมสูงส่ง เชี่ยวชาญทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร เคร่งครัดพระธรรมวินัย นอกจากนี้ ยังเชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนโบราณ และเรืองวิทยาคมขลัง เนื่องจากเป็นศิษย์หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ดังนั้น หลวงพ่อเพิ่มจึงมีชื่อเสียงด้านแก้คุณ แก้การกระทำทางไสยศาสตร์และรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ชื่อเสียงของหลวงพ่อเพิ่มสมัยนั้นจึงโด่งดังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่มีอายุแก่กว่าหลวงพ่อเพิ่ม 5 ปี ในสมัยนั้นหลวงพ่อปานมาพำนักที่วัดโคกทองอยู่เสมอ เมื่อปี พ.ศ.2467 หลวงพ่อเพิ่มสร้างศาลาการเปรียญ หลวงพ่อปานยังมาช่วยยกเสาเอกให้ แต่น่าเสียดายที่หลวงพ่อเพิ่มไม่เคยสร้างพระเครื่องไว้เลย คนรุ่นหลังจึงไม่มีใครรู้จักท่าน

วัดโคกทองนับเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัด สร้างขึ้นเป็นวัดประมาณ พ.ศ.2370 เดิมวันตั้งอยู่ห่างจาก แม่น้ำน้อย สถานที่ตั้งวัดเป็นที่เนินสูงเรียกว่า " โคก " เป็นที่เลี้ยงวัวควายของชาวบ้าน เมื่อสร้างวัดขึ้นมาแล้วได้เรียกขนานนามวัดนี้ว่า " วัดโคกทอง " ในสมัยของพระครูบวรสังฆกิจ ( หลวงพ่อเพิ่ม ) อดีตเจ้าคณะแขวงเสนา ได้ย้ายมาตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน เพื่อความสะดวกและเหมาะสมยิ่งขึ้น วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2480 ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ.2492

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อเพิ่มทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์เพียงอย่างเดียวคือ แผ่นอิฐลงอาคมที่ก้นบ่อน้ำมนต์ 2 แผ่น อีกแผ่นหนึ่งเป็นของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งกล่าวกันว่าน้ำมนต์ในบ่อนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก โดยหลวงพ่อเชิญท่านนำมารดให้กับลูกศิษย์ลูกหาอยู่เสมอ

เมื่อหลวงพ่อเชิญมาอยู่วัดโคกทองได้คอยรับใช้หลวงพ่อเพิ่มอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติหน้าที่การงานอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความวิริยะอุตสาหะและเชื่อฟังคำสั่งสอนเป็นอย่างดี กระทั่งอายุได้ 16 ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2466 หลวงพ่อเพิ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบบวชจึงอุปสมบทต่อ ณ พัทธสีมาวัดโคกทอง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2470 โดยมีพระอาจารย์องค์แรกคือ หลวงพ่อขาบ วัดฤาไชย เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเพิ่ม วัดโคกทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดแจ่ม วัดโคกทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญญสิริ”

หลังอุปสมบทได้อยู่ช่วยหลวงพ่อเพิ่มบูรณะวัดโคกทองเรื่อยมา พร้อมกับศึกษาพระปริยัติธรรมโดยสอบได้นักธรรมตรีตั้งแต่ยังเป็นสามเณรในปี พ.ศ.2469 แล้วสอบได้นักธรรมโทในปีแรกที่อุปสมบท และอีก 8 พรรษาต่อมาจึงสอบได้นักธรรมเอก สาเหตุที่ท่านสอบได้นักธรรมเอกช้า เนื่องจากไม่มีเวลาอ่านหนังสือ เพราะต้องช่วยงานหลวงพ่อเพิ่มในการบูรณะพัฒนาวัด ด้วยความอุตสาหะในปี พ.ศ.2474 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมที่ “พระสมุห์เชิญ”

ปีพ.ศ.2478 สอบได้นักธรรมเอก และได้รับการแต่งตั้งเป็น พระปลัด ในปี พ.ศ.2480 ท่านจึงต้องทำหน้าที่ทุกอย่างแทนหลวงพ่อเพิ่ม ปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเสนา ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับแขก ดูแลพระภิกษุสามเณรภายในวัด และเป็นผู้จัดสถานที่ให้กับคนเจ็บที่มารักษาตัว

แม้แต่ศาสนกิจนอกวัดเกี่ยวกับราชการคณะสงฆ์ เทศนาตามกิจนิมนต์ หรือการเข้าประชุมตามพระเถระกำหนด และออกตรวจตราตามบริเวณวัดและสอบนักธรรมสนามหลวง ภารกิจเหล่านี้ตกอยู่กับท่านเพียงองค์เดียวเท่านั้น นับเป็นภารกิจที่หนักมาก แต่ท่านก็สามารถปฏิบัติด้วยความเรียบร้อยเสมอมา จวบจนหลวงพ่อเพิ่มมรณภาพในปี พ.ศ.2491

ในด้านการศึกษาพระเวทวิทยาคม นับว่าหลวงพ่อเชิญเป็นพระอาจารย์ที่มีครูบาอาจารย์มาก เพราะท่านมีใจรักทางด้านพระเวทวิทยาคมมากกว่าการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม โดย “หลวงพ่อเพิ่ม” เป็นพระอาจารย์องค์แรกที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆให้ตั้งแต่หลวงพ่อเชิญมีอายุเพียง 10 ขวบ อาทิ การศึกษาอักษรสมัยทั้งภาษาไทยและภาษาขอม การท่องบ่นมนต์คาถา การลงอักขระเลขยันต์ แพทย์แผนโบราณ ยาแก้กันกระทำคุณไสย นั่งเจริญสมาธิภาวนาพระกรรมฐาน ตลอดทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

ในคราวที่บวชเณรแล้วได้ติดตามหลวงพ่อเพิ่มไปซื้อซุงที่ชัยนาท ได้ไปกราบนมัสการ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเพิ่ม ท่านจึงโชคดีได้วิชาบางอย่างมาจากปรมาจารย์อันยิ่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรอย่างหลวงปู่ศุข เมื่ออุปสมบทในพรรษาแรกก็ไปขึ้นพระกรรมฐานกับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และเดินทางไปเรียนวิชากับหลวงพ่อจงอยู่เป็นเวลาหลายปี

นอกจากนี้ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค สหายทางธรรมของหลวงพ่อเพิ่มชอบมาพำนักที่วัดโคกทอง หลวงพ่อเชิญจึงฝากตัวเป็นศิษย์คอยปรนนิบัติรับใช้ แล้วติดตามพายเรือไปส่งและพักเรียนวิชาที่วัดบางนมโคเป็นประจำ

ในปี พ.ศ.2473 หลวงพ่อเพิ่มพาท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์อีกรูปหนึ่งของท่านคือ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ซึ่งขณะนั้นท่านชราภาพมากแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2482 หลวงพ่อเชิญเกิดอาพาธด้วยโรคตาอักเสบจึงเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อพักรักษาตัวอยู่กับ หลวงปู่กล้าย วัดหงษ์รัตนาราม บางกอกใหญ่ เลยได้รับการแนะนำวิชาการต่าง ๆ จากหลวงปู่กล้ายอีกรูปหนึ่ง

ในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานั้นวัสดุก่อสร้างขาดแคลน การบูรณะวัดก็หยุดชะงักลง หลวงพ่อเชิญจึงถือโอกาสเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณว่าด้วยสาขาเวชกรรมกับ “ครูนพ” ที่โรงเรียนประทีป ตลาดพลู เป็นเวลา2ปี นอกจากนั้นยังมีพระอาจารย์เรืองวิชาที่มีชื่อเสียงในอยุธยาที่ท่านเคยไปขอศึกษาวิชามา เช่น หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน หลวงพ่อแจ่ม วัดบัวหัก และหลวงพ่อแพ วัดกลางคลอง ฯลฯ วาระสุดท้ายท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ 21 มค.2543 อายุ 93 ปี 73 พรรษา

วัตถุมงคลที่หลวงพ่อเชิญสร้างไว้มีทั้งเนื้อผง และเนื้อโลหะ เช่น เหรียญรุ่นแรก ปี2511 เหรียญหล่อปรกโพธิ์ยันต์กลับปี2536 พระกริ่งประสิทธิโชคปี2534 รูปเหมือนปั๊มรุ่น 1 ปี2535 พระปิดตายันต์ยุ่ง,มีดหมอ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะสร้างและปลุกเสกตามตำรับตำราพระอาจารย์ที่ท่านได้ร่ำเรียนมา อย่างเช่น หลวงพ่อปาน โดยจะประทับยันต์เกราะเพชรไว้เป็นเอกลักษณ์

เหรียญรุ่นแรกของท่านออกแบบได้สวยงาม ลักษณะเหมือนพิมพ์กงจักร ด้านหน้าเป็นรูปครึ่งองค์มีคำว่า “พระครูวิชัยประสิทธิคุณ” ซึ่งเป็นสมณศักดิ์แรกของท่าน ส่วนด้านหลังเป็นยันต์ ข้างใต้มีคำว่า “วัดโคกทอง” หากไม่ใช่ผู้รู้หรือนักสะสมสายตรงจะไม่ทราบเลยว่าเป็นเหรียญของท่าน

ปัจจุบันหายากมากๆ โดยเฉพาะ “ของแท้” เนื่องจากของเก๊ฝีมือเฉียบขาดจริงๆ ซึ่งออกมาอาละวาดตามสนามนานแล้ว ใครไม่แม่นพิมพ์และตำหนิต่างๆรับรอง “โดน” ส่วนเรื่องประสบการณ์ดีจริงสมคำร่ำลือ คนเมืองกรุงเก่าเขารับประกัน

แม้ราคาค่านิยมจะไม่สูงสุดโต่งเหมือนเกจิองค์อื่น แต่ก็ทรงคุณค่าความเข้มขลัง เป็นที่เสาะหาและสะสมในหมู่ลูกศิษย์ เพราะมากไปด้วยประสบการณ์ครบเครื่องทั้งเรื่องเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปลอดภัย โชคลาภ มหาอุด

#ฉัตรสยาม


ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page