top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค. 2567 หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง นนทบุรี อดีตเกจิอาจารย์ดังยุคสงครามโลกครั้ง2

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค. 2567


หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง นนทบุรี

อดีตเกจิอาจารย์ดังยุคสงครามโลกครั้ง2

พระสิวลีเข้มขลัง-สำเร็จวิชา"นะปัดตลอด"


"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ "หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ" อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพัง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พระเกจิที่มีความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากัมมัฏฐานและพุทธาคมในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้คงแก่เรียน จนทำให้ชื่อเสียงระบือไกล

โดยท่านได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังๆ เช่น พิธีที่วัดราชบพิธ พ.ศ.2481, พิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ในการพุทธาภิเษกพระกริ่งในเจ้าคุณศรีฯ วัดสุทัศน์ จะต้องนิมนต์พระหลวงพ่อแฉ่งร่วมปลุกเสกทุกครั้ง


หากใครเดินทางไปไหว้สักการะขอพร ที่ศาลพระพิฆเนศ ห้วยขวาง ด้านในศาลนั้น จะมีรูปพระสงฆ์รูปหนึ่งนั้น เชื่อว่าบางคนสงสัยว่า ท่านเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไรต่อศาลแห่งนี้ เท่าที่สืบหาข้อมูลและประวัติต่างๆ รู้ว่า พระสงฆ์รูปนี้ นามว่า หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง นนทบุรี และเป็นอาจารย์ของผู้ก่อตั้งศาลพระพิฆเนศ ห้วยขวางคือ "อาจารย์สุชาติ รัตนสุข"


หลวงพ่อแฉ่งท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวา คม พ.ศ 2428 บิดาชื่อ “สิน” และมารดาชื่อ “ขลิบ” ตอนเด็กๆ ท่านเป็นคนที่มีลักษณะผิวพรรณงาม บิดาจึงตั้งชื่อว่า “แฉ่ง” ในปีพ.ศ. 2444 บิดา-มารดานำไปบรรพชาเป็นสามเณร ขณะมีอายุได้ 12 ปีที่วัดสลักเหนือ หนึ่งพรรษา ก็สึกออกมาช่วยบิดามารดาทำงานเป็นหัวแรงสำคัญของครอบครัว ท่านเป็นคนขยัน รักสงบไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ต่อมามีเหตุให้ท่านต้องไปอยู่ทางภาคเหนือ


ต่อมาได้อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หลังบวชแล้วท่านก็ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนเรียนพุทธาคมจากพระอาจารย์อีกหลายองค์ จากนั้นก็ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ในป่าเขาลำเนาไพร แถบภาคเหนือ ภาคอีสาน เลยเข้าไปถึงประเทศลาว เขมร พม่า ท่านธุดงค์นานถึง 15 ปี จึงย้อนกลับมาภูมิลำเนาเดิมที่บ้านวัดสลักเหนือ อ.ปากเกร็ด มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางพัง ชาวบ้านในแถบนั้นจำท่านแทบไม่ได้


ในวิถีเส้นทางพุทธาคม หลวงพ่อแฉ่งท่านเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้มากครูบาอาจารย์ท่านเยอะ สมัยก่อนอาจารย์ใดเข้มขลัง ท่านจะไปขอเรียนวิชาด้วยแทบทั้งสิ้นจากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก แม้วิชาในสายเขาอ้อหลวงพ่อแฉ่งยังได้เรียนรู้มา ด้วยตำราหลายอย่างของท่านตรงกับตำราเขาอ้อ เชื่อมั่นว่าต้องเคยเรียนรู้มาอย่างแน่นอน


ครูบาอาจารย์ของท่านมีอาทิ 1.หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เรียนทางมหาอำนาจปลุกเสกเขี้ยวเสือแกะ เรียนทำน้ำมนต์ ฯลฯ 2.หลวงพ่อทอง วัดราชโยธา เรียนทางกรรมฐาน การปลุกเสกพระเครื่อง การลงอักขระยันต์ ฯลฯ 3.หลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เรียนทางคงกระพัน ปลุกเสกของขลัง ผูกหุ่นพยนต์ ฯลฯ 4.หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เรียนการปลุกเสกพระ เรียนยันต์เกราะเพชร ยันต์เฑาะว์ ยันต์กันไฟ ท่านให้ความเคารพนับถือหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนคร ศรีอยุธยา มากเป็นพิเศษ ในฐานะลูกศิษย์และสหายธรรมรุ่นน้องจึงได้รับอิทธิพลในการจัดสร้างพระพิมพ์ทรงสัตว์ต่างๆ มาจากหลวงพ่อปานด้วย


5.หลวงพ่อไข่ วัดเชิงเลน เรียนบรรจุพระบูชา วิชามหาอุตม์ ปลุกเสกพระเครื่อง ฯลฯ

6. หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิงวรวิหาร เรียนลงตะกรุดโภคทรัพย์ ตะกรุดสามกษัตริย์ ฯลฯ 7.หลวงพ่อวัดเขาลูกช้าง เรียนยันต์พรหมสี่หน้า เรียนทางเมตตา ฯลฯ 8.พระอาจารย์จอง เรียนหุงสีผึ้ง ฯลฯ 9.พระอาจารย์ปลอด ลพบุรี เรียนหุงสีผึ้งเมตตา ลงตะกรุดไม้ไผ่มหาอุตม์ ฯลฯ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เรียนลงตะกรุดมหารูด การลงยันต์ราชสีห์ ฯลฯ 11.พระพุทธวิหาร เรียนประสานกระดูก, วิธีลงเสื้อยันต์เกราะเพชร ฯลฯ. พระพุทธวิหาร เรียนประสานกระดูก, วิธีลงเสื้อยันต์เกราะเพชร ฯลฯ


12.พระครูขันธ์ วัดสระเกศ เรียนวิธีลง นะ บางอย่าง การทำน้ำมนต์ ฯลฯ. เจ้าคุณวัดใต้ ตลาดพลู วิธีทำลูกอมคงกระพัน 14.ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม วิธีบรรจุพระประจำวันเกิด ฯลฯ 15. พระอาจารย์หยิบ วัดทุ่ง เรียนการลงโภคทรัพย์ ฯลฯ 16.หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง เรียนลงสาลิกา วิธีลงโภคทรัพย์ ฯลฯ 17.พระอาจารย์เขมร เรียนลงผ้าพระพุทธคุณ ฯลฯ


"นะปัดตลอด" วิชานี้ในสมัยแรก ๆ ช่วงที่ท่านยังไม่ได้สร้างพระเครื่องเป็นยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทุกๆปีหลวงพ่อแฉ่งท่านจะจัดงานไหว้ครูที่วัดบางพัง หนุ่ม ๆ สมัยนั้นก็มีทั้งที่เชื่อถือท่านและพวกวางเฉย ด้วยเวลานั้นท่านยังหนุ่มดูภายนอกไม่น่าจะขลัง แต่คนใกล้ตัวเริ่มทราบแล้วว่าท่านมีอาคม เพราะเห็นท่านลงอาถรรพ์ที่เขื่อนข้างวัด ด้วยสมัยก่อนพวกเรือโดยสารเมื่อผ่านวัดบางพัง พวกเรือนี้ไม่เกรงใจมักเร่งเครื่องเรือผ่านไปอย่างเร็ว ทำให้เกิดคลื่นซัดตลิ่งวัดพังเสียหาย


ภายหลังทราบว่าท่านลงอักขระคาถานารายณ์คลายจักร ใส่ลงในก้อนอิฐ แล้วใช้ให้ลูกศิษย์ชาวจีนนำไปจมไว้ที่มุมตลิ่งวัด ปรากฏว่าเมื่อเรือลำใดผ่านมาไม่ยอมเบาเครื่อง เรือจะดับลงทันที จนเมื่อลอยผ่านพ้นเขตวัดบางพังไปแล้ว เรือจึงสามารถติดเครื่องได้ เป็นเช่นนี้จนพวกคนเรือเล่าลือบอกกันไปทั่ว แต่นั้นมาพวกคนเรือจะเบาเครื่อง เมื่อแล่นผ่านวัดบางพัง นับแต่บัดนั้น


นอกจากนี้ ท่านยังสำเร็จศิลปะวิทยาที่ว่าด้วยการสร้าง "พระสิวลี" ด้วยความที่การสร้างพระสิวลีของท่านเป็น "วิชา" ความขลังที่ปรากฏจึงอยู่ในลักษณะของวิชา ผิดกับพระสิวลีที่ถูกอธิษฐานด้วยพระอริยบุคคลโดยทั่วไป อานุภาพที่ปรากฏจึงแปลกต่างกว่ากันอยู่มาก คนที่อาราธนาติดตัวเท่านั้นจึงจะทราบดี


หลวงพ่อแฉ่ง ท่านสร้างพระสีวลีได้มากประสบการณ์ที่สุด และเป็นที่ต้องการมากที่สุดของบรรดาพ่อค้าแม่ขายไปจนถึงนักธุรกิจ เด่นทางทำมาค้าขึ้น เจริญรุ่งเรือง โชคลาภ เมตตามหานิยม และแคล้วคลาด


วัตถุมงคลหลวงพ่อแฉ่งมีหลายรูปแบบ อาทิ เหรียญรุ่นแรกปี2497พระเนื้อผงพิมพ์ทรงสัตว์ต่างๆ มีหลายประเภททั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์สามเหรียญ เนื้อผง พระรอด ตะกรุด ผ้ายันต์ธง ทรายเสก พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระประจำวัน นางกวัก พระพุทธกวัก สามเหลี่ยม พระสีวลีชนิดบูชา-คล้องคอ เนื้อหามีทั้ง ดิน ผงน้ำมัน ผงพุทธคุณ แต่ที่ได้รับความนิยมมากๆ คือ ชนิดผงน้ำมัน เพราะเนื้อหาดูง่าย เนื้อจัด หนึกนุ่ม ส่องแล้วสบายตา ราคาสบายใจไม่แพงมาก


วัตถุมงคลที่หลวงพ่อแฉ่งสร้างและปลุกเสก มีประสบการณ์โจษขานในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งโดดเด่นด้านแคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ ด้านเมตตามหานิยมก็ไม่เป็นรองใคร นอกจากนี้ยังใช้เป็นพระหมอแบบ พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้อีกด้วย


วาระสุดท้ายท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2500 สิริอายุ 72 ปี พรรษา 52

สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม โปรดให้ เคลื่อนสรีระไปพระราชทานเพลิง เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2501 ที่ วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ


#ฉัตรสยาม


ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page