top of page
ค้นหา

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ย. 2566 “หลวงพ่อกลึง ธัมมโชติ ” วัดสวนแก้วอุทยาน

  • รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริ
    อ.อนุชา ทรงศิริ
  • 3 ก.ย. 2566
  • ยาว 1 นาที

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ย. 2566

“หลวงพ่อกลึง ธัมมโชติ ” วัดสวนแก้วอุทยาน

อดีตเกจิ"สายเหนียว”แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

1ใน108เกจิร่วมเสก”ชินราชอินโดจีน"ปี85

"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

หนึ่งใน”เกจิสายเหนียว”แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง “หลวงพ่อกลึง ธัมมโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนแก้วอุทยาน หมู่3 ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ท่านเป็นหนึ่งใน 108 เกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์ให้ไปนั่งปรกปลุกเสก พระพุทธชินราชอินโดจีน เมื่อปี 2485

หลวงพ่อกลึงท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าอีกองค์หนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามที่ผู้คนให้ความเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติ ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งท่านละสังขาร ลูกศิษย์ที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้คือ “พระครูอดุลพิริยานุวัตร” หรือ “หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ” อดีตเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

วัตถุมงคลของหลวงพ่อกลึงโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนจากเหตุการณ์ที่คนร้ายค้ายาเสพติดหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วคุ้งน้ำแม่กลอง

เมื่อตำรวจที่ติดตามจับกุม ยิงคนร้ายด้วยปืนพก แต่มีแค่เสียงสับนกแชะ...แชะ...แชะ... เท่านั้น ไม่มีเสียงดังของปืนที่วิ่งออกจากปากกระบอกปืนเลยแม้แต่นัดเดียว แต่หากยกปืนเพื่อยิงขึ้นฟ้าปืนนั้นถึงจะสามารถยิงออกได้ เมื่อตำรวจสามารถล้อมจับคนร้ายได้สำเร็จ จึงค้นตัวคนร้ายพบว่าห้อยเหรียญรุ่นแรกของท่านไว้เพียงองค์เดียวเท่านั้น

ตั้งแต่นั้นมา “เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อกลึง วัดสวนแก้ว” เริ่มหายไปจากท้องตลาด และเริ่มมีราคาเช่าหาที่ขยับแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลวงพ่อกลึงท่านนี้เคยลองวิชากับหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน (แก้วฟ้า) จ.ราชบุรีมา พระเกจิสายเหนียวอีกองค์หนึ่งของโพธาราม ปรากฏว่าท่านทั้งสองต่างกินกันไม่ลง เพราะว่าเก่งพอกัน แต่ชื่อเสียงของหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสนเป็นที่รู้จักมากกว่า เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีการสร้างพระเครื่องครั้งใหญ่ของวัดปราสาทบุญญาวาส ท่าน้ำสามเสน ปี พ.ศ. 2506 ซึ่งมีพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากทั่วประเทศมาชุมนุมกัน โดยในงานนี้หลวงพ่อแทน ท่านเป็นพระเกจิเพียงไม่กี่รูปที่จารตะกรุดแล้วหลอมไม่ละลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง

แต่ถ้าไปถามคนแถวแม่กลอง ทุกคนต่างยกนิ้วหัวแม่โป้งให้เลยว่า “หลวงพ่อกลึงองค์นี้ของจริง”

หลวงพ่อกลึงเป็นชาวบ้าน ต.คลองตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 มิ.ย. 2414 เป็นบุตรของนายกุน และนางแป้ง ในวัยเด็กได้ศึกษาวิชาเขียนอ่านกับ พระอธิการพ่วง วัดนางตะเคียน จนมีความรู้แตกฉาน ต่อมาเมื่ออายุได้ 21 ปีได้อุปสมบทที่วัดนางตะเคียน เมื่อปีพ.ศ. 2435 เมื่อบวชแล้วท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและวิทยาคมกับพระอธิการพ่วง

หลังจากอุปสมบทได้ 2 พรรษา ด้วยความจำเป็นท่านจึงต้องลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ จนกระทั่งโยมทั้งสองเสียชีวิตลง ยังความเสียใจให้กับท่านมาก จึงได้อุปสมบทอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2444 ที่วัดนางตะเคียน โดยมีพระมหาสิทธิการ(แดง) วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร)เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเอี่ยม วัดปากลัด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการแดง วัดตะเคียน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ธัมมโชติ”

จากนั้นท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนางตะเคียน ในขณะนั้นได้มีพระเถระผู้ใหญ่ร่วมสำนักเดียวกันหลายรูป เช่น พระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดนางตะเคียน,พระครูผล เจ้าอาวาสวัดปากลัด, พระครูพูล เจ้าอาวาสวัดน้อยแสงจันทร์ ท่านจึงได้ศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมต่างๆจากท่านอาจารย์เหล่านี้ นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปศึกษาจากหลวงพ่อเอี่ยม วัดปากลัด ซึ่งตะกรุดของท่านนั้นมีชื่อเสียงมาก และได้เข้ามาศึกษาที่วัดบ้านแหลมอีกด้วย

ปี พ.ศ2450 ท่านได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนแก้วอุทยาน ซึ่งขณะนั้นมรสภาพชำรุดเสื่อมโทรมมาก ท่านได้เริ่มซ่อมแซมและพัฒนาวัดสวนแก้วอุทยานโดยลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ.2460ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลลาดใหญ่ ปี พ.ศ.2464 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงพ่อกลึง ท่านได้อบรมสั่งสอนพระเณรและชาวบ้าน ให้คงอยู่ในศีลในธรรม จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก และท่านก็ได้พัฒนาวัดสวนแก้วฯ มาโดยตลอด จนกระทั่งมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.2506 สิริอายุได้ 92 ปี พรรษาที่ 62

วัตถุมงคลของหลวงพ่อกลึงสร้างไว้ไม่มาก แต่มากด้วยประสบการณ์ เหรียญหลวงพ่อกลึง รุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2495 มีลักษณะเป็นเหรียญอาร์มมีด้วยกัน 2 พิมพ์คือ หลังยันต์ 5 และหลังยันต์นะหน้าทอง โดยในปีนี้ท่านอายุครบ 81 ปี ลูกศิษย์ของท่านคือพระครูสมุทรการโกวิท(เล็ก) เจ้าอาวาสวัดธรรมาวุธาราม (วัดบังปืน) เป็นผู้จัดสร้าง ทั้ง2พิมพ์มีเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว และไม่ได้ระบุจำนวนที่สร้างไว้

เหรียญหลวงพ่อกลึงรุ่นแรก หลังยันต์ห้า จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว เชื่อกันว่าหลวงพ่อกลึงเน้นให้เหรียญนี้ของท่าน มีพุทธคุณเน้นหนักไปทางคลาดแคล้ว คงกระพันชาตรี ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อหันข้างครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านข้างมีอักขระยันต์ "พุท โธ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อกลึง ธมฺมโชติ วัดสวนแก้ว ๒๔๙๕” ด้านหลังมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และอักขระขอมล้อมรอบยันต์

เหรียญหลวงพ่อกลึง รุ่นแรก หลังยันต์นะหน้าทอง จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว เชื่อกันว่าหลวงพ่อกลึงเน้นให้เหรียญนี้ของท่าน มีพุทธคุณเน้นหนักเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีโชคลาภ

ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อหันข้างครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านข้างมีอักขระยันต์ "พุท โธ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อกลึง ธมฺมโชติ วัดสวนแก้ว ๒๔๙๕"ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะหน้าทองและอักขระขอมล้อมรอบยันต์

แต่ต่างกันที่พิมพ์บล็อกหลังยันต์ห้า ช่างได้แกะรายละเอียดของใบหน้าได้ชัดเจน และทุกเหรียญจะคมชัดกว่าพิมพ์บล็อกหลังยันต์นะหน้าทอง

ต่อมาในปี พ.ศ.2504 หลวงพ่อกลึงมีอายุครบ 90 ปี คณะศิษย์ได้จัดงานแสดงกตัญญูกตเวที และในงานนี้ได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคลแจกเป็นที่ระลึกถึง 3 แบบด้วยกันคือ พระรูปหล่อ, ผ้ายันต์ และแหวนรูปท่าน

รูปหล่อรุ่นแรก ปี พ.ศ.2504 มีลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊มฐานเขียง จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว โดยไม่มีการระบุจำนวนที่สร้าง ด้านหน้าจำลองรูปหลวงพ่อนั่งเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิรัดประคต ด้านล่างมีฐานเขียง ภายในฐานมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อกลึง ธมฺมโชโต" ด้านหลังมีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๔" ระบุปีที่สร้าง ใต้ฐานมีอักขระยันต์

แหวนรุ่นแรก ปี พ.ศ.2504 มีลักษณะเป็นแหวนปั๊มรูปอาร์ม จัดสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียว โดยไม่มีการระบุจำนวนที่สร้าง ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านข้างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อกลึง" ด้านหลัง ท้องแหวนเรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

ผ้ายันต์รุ่นแรก ปีพ.ศ.2504 มีลักษณะเป็นผ้ายันต์สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการจัดสร้างด้วยผ้าสีขาวเพียงชนิดเดียว โดยไม่มีการระบุจำนวนที่สร้าง ด้านหน้าจำลองรูปหลวงพ่อนั่งปางสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านข้างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อกลึง" ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

วัตถุมงคลของหลวงพ่อกลึงนั้น มีผู้ใช้และมีประสบการณ์มากมาย ทั้งด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี มีคนถูกยิง ถูกแทงหลายรายล้วนแต่”ไม่เข้า”อย่างน่าอัศจรรย์!!

#ฉัตรสยาม



 
 
 

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Коментарі


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page