คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย. 2566
“ครูบาชุ่ม โพธิโก” เกจิวัดวังมุย จ.ลำพูน
ญาณสมาบัติแก่กล้า..พุทธาคมเข้มขลัง
เหรียญรุ่นแรก..เอาพระคงมาแลกไม่ยอม!!
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
“ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก” วัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน หนึ่งในศิษย์ของท่านครูบาศรีวิชัย นักยุญแห่งล้านนา ท่านเป็นพระผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ท่านปฏิบัติตามแนวทางกรรมฐาน 4 ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างอุกฤษฏ์ ชนิดยอมเอาชีวิตเข้าแลก จึงปรากฏว่าท่านเป็นที่เคารพบูชาของชาวล้านนา และบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อ 30 ปีก่อน นามของท่านยิ่งขจรขจายฟุ้งไปอีก กับเรื่องราวที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติ
ท่านมีความสามารถพิเศษคือ สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ทั้ง 4 อิริยาบถ ถึงขนาดหลวงพ่อฤาษีลิงดำยกย่องว่า "เป็นพระอรหันต์ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ ทั้ง 4 อริยาบทและเคยเกิดเป็นพี่ชายเรามาก่อน" หลวงพ่อฤาษีเคยถามท่านว่า ถ้าน้ำท่วมระหว่างเข้านิโรธ จะทำอย่างไร ? ท่านตอบว่า “ถ้าน้ำท่วมเราก็จะอฐิษธานให้ตัวเราลอยขึ้น” แสดงให้เห็นอำนาจและบุญฤทธิ์ของครูบาชุ่ม นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระเถระที่ “หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค”ให้ความเคารพ
ครูบาชุ่มเป็นพระที่รอบรู้และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย บำเพ็ญบารมี 10 ประการ อันประเสริฐตลอดชีวิตสมณเพศ และมีความวิริยะอุตสาหะปฏิบัติเพื่อมรรคผลสูงสุดในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้วยพลังแห่งฌานสมาบัติที่แก่กล้า และพลังแห่งเมตตาจิต รวมทั้งสรรพวิชาที่ท่านได้เพียรศึกษาและสั่งสมมาตามคติครูบาอาจารย์ ทำให้กิตติศัพท์ความเก่งกล้าทางด้านวิชาพุทธาคมของหลวงปู่ชุ่ม เป็นที่เชื่อมั่นในหมู่ประชาชนยิ่งนัก โดยเฉพาะด้านคงกระพัน มหาอุด แคล้วคลาด
หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นสหธรรมมิกอาวุโสสูงกว่า เคยนิมนต์หลวงปู่ชุ่มไปเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนและศาลาวัดป่าดอนมูล กล่าวว่า “ครูบาชุ่มท่านเป็นพระภิกษุที่มีความชำนาญด้านการผูกอักขระเลขยันต์ต่างๆ รวมทั้งมีอำนาจฌานสมาบัติที่แก่กล้าและขลังมาก”
หลวงปู่ชุ่มได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกหลายงาน ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง ได้แก่ พิธีพุทธาภิเษกอัฐิท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง จ.ลำพูน หลวงปู่ชุ่มเป็นองค์ประธานในพิธี มีพระอริยะเจ้าทั่วภาคเหนือเข้าร่วมในพิธีนี้ ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์อันมิได้ปรากฏขึ้นโดยง่าย
ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่ชุ่มยิ่งขจรไกล ความเลื่องลือเกี่ยวกับวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย บางครั้งเหล่าผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น และนำมาให้ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องทั้งประเภทเนื้อโลหะ และประเภทเนื้อผง เมื่อผู้เลื่อมใสศรัทธานำไปพกพาติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ต่างประสบเหตุการณ์ มีอภินิหารต่างๆนานา ทั้งด้านเมตตามหานิยม มหาอุด แคล้วคลาด คงกระพัน ส่งผลให้ชาวจังหวัดลำพูน และชาวจังหวัดใกล้เคียงในยุคนั้น ต่างแวะเวียนมากราบนมัสการท่าน เพื่อขอของดีกันไม่ขาดสาย
ท่านจึงมักเมตตาทำวัตถุมงคลแต่ละชนิดให้แต่ละคนตามวาสนาที่แตกต่างกัน โดยที่ไม่เคยตั้งราคาเลย ทั้งนี้ผู้มีจิตศรัทธาจะทำบุญกับท่านตามกำลังทรัพย์ที่พึงมี ปัจจัยทั้งหลายที่มีผู้ทำบุญ ล้วนถูกนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และการศาสนาทั้งสิ้น
ท่านเกิด ณ บ้านวังมุย ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน โยมบิดาชื่อ “บุญ” โยมมารดาชื่อ “ลุน” นามสกุล “นันตละ” ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน เมื่ออายุ 12 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยมีครูบาอินตา วัดพระขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้เล่าเรียนหนังสือกับเจ้าอาวาสวังมุย จนอ่านออกเขียนได้ จึงมุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าจะเป็นวัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง และสำนักต่างๆที่มีพระอาจารย์เก่งๆประจำอยู่ เมื่ออายุย่าง 20 ปี จึงเดินทางกลับวัดวังมุยเพื่ออุปสมบท โดยมีครูบาอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็น พระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงจ้อย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "โพธิโก"
ท่านได้ออกเดินทางไปศึกษาหาความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐาน นอกจากนั้นยังสนใจศึกษาเล่าเรียนทางด้านวิชาอาคม และการพิชัยสงครามอีกด้วย โดยเดินทางไปศึกษากับครูบาสุริยะ วัดท้าวบุญเรือง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้ศึกษาศาสตร์สนธิทั้งแปดมรรค แปดอรรถ คาถาบาลี มูลกัจจายน์ จนสามารถแปลและผูกพระคาถาได้ เมื่อศึกษาจบแล้ว ได้ไปศึกษาต่อกับพระครูบาศรีวิชัย (คนละองค์กับครูบาศรีวิชัยที่เป็นตนบุญล้านนา) วัดร้องแหย่ ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นพระอาจารย์ทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นพระนักปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ท่านครูบาองค์นี้มีอายุถึง 70 ปี แต่ยังแข็งแรง มีผิวพรรณสดใสและเป็นพระผู้มีปฏิปทามากผู้หนึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดอาคมไสยเวทย์ และการฝึกกระแสจิตควบคู่กันไป
ขณะที่ท่านอยู่วัดร้องแหย่งนั้น ท่านครูบาศรีวิชัย แห่งวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้มาเยี่ยมเยียนสักการะท่านครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่งเสมอ และบางครั้งท่านได้อยู่จำวัดและร่วมสวดมนต์ทำวัตรและปฎิบัติกรรมฐานด้วย และเห็นว่าครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปางนั้นมีความเคารพนับถือท่านครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่งมาก ต่อมาท่านได้ไปศึกษากับครูบาแสน วัดหนองหมู จ.ลำพูน เป็นเวลา 2 ปีจึงเดินทางกลับวัดวังมุย
จากนั้นได้ออกธุดงค์ไปยัง ต.บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงจนมีสานุศิษย์มากมาย และเดินทางไปถึงพระบรมธาตุดอยเกิ้ง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่มีประวัติเล่าขานกันตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ตอนนั้นพระธาตุดอยเกิ้งนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะบูรณะองค์พระธาตุโดยมีชาวบ้าน ชาวเขามาร่วมในการครั้งนั้นมากมาย กินเวลา 45 วัน จึงแล้วเสร็จหลังจากนั้นท่านได้เดินทางต่อไปจนถึง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง และอยู่บูรณะวัดห้างฉัตรเป็นเวลาถึง 3 พรรษา และท่านได้สร้างสะพานต่างๆ มากมายเช่นสะพาน ต.ยุหว่า, สะพาน ต.สันทราย, สะพานป่าเดื่อ, สะพานวัดชัยชนะ ฯลฯ
ในปี พ.ศ.2478 ท่านครูบาศรีวิชัยได้สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ 37 ปี ได้เข้าร่วมในการสร้างทางท่านได้มีโอกาสรับใช้อย่างใกล้ชิด คราวท่านครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพ หลวงพ่อได้รับหน้าที่ดูแลรักษาวัดรับแขกที่มาทำบุญแทนท่านครูบาฯ ท่านได้ร่วมบูรณะวัดวาอารามต่างๆ กับท่านครูบาศรีวิชัยมากมาย
ขณะที่ครูบาศรีวิชัยป่วยอยู่ที่วัดจามเทวี ท่านได้ไปเฝ้าพยาบาล และได้ร่วมกับครูบาธรรมชัย วัดประตูป่า ให้ช่างมาปั้นรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยเนื้อปูนปั้นและนำไปหาท่านครูบาที่วัดจามเทวี เมื่อครูบาท่านเห็นรูปของท่านแล้ว น้ำตาได้เอ่อคลอเบ้าตาและท่านได้เอามือลูบไล้รูปเหมือนของท่าน และได้มอบพัดหางนกยูงและไม้เท้าของท่านให้ครูบาชุ่มและสั่งเสียว่า ให้ท่านรักษาให้ดีให้ถือปฏิบัติเหมือนตัวแทนของท่าน แสดงให้เห็นว่าครูบาชุ่มเป็นศิษย์ที่ท่านเมตตาและไว้วางใจองค์หนึ่ง
วัตถุมงคลของท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “ตะกรุดหนังลูกควายตายพราย” รวมไปถึงผ้ายันต์และเสื้อยันต์ ส่วนเหรียญรุ่นแรก ออกปี2517 นับเป็นสุดยอดเหรียญคณาจารย์เมืองเหนือที่มีค่านิยมสูง มีประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะด้านแคล้วคลาด โภคทรัพย์ จนเป็นที่ร่ำลือและเสาะหาของศิษยานุศิษย์
มูลเหตุของการจัดสร้างเหรียญรุ่นแรก สืบเนื่องจากชื่อเสียงเกียรติคุณของครูบาชุ่มได้ขจรขจายออกไป ทำให้ประชาชนจากทุกสารทิศได้สดับฟัง หาโอกาสเดินทางมากราบนมัสการท่าน แล้วมักแจ้งความประสงค์อยากได้เหรียญรูปเหมือนของท่านกลับไปสักการบูชา แต่ครูบาชุ่มท่านไม่เคยจัดสร้างเลย และไม่อนุญาตให้ใครจัดสร้างด้วย ท่านยังกล่าวอีกว่า ต้องการให้ผู้มีความเคารพเลื่อมใส มีมานะพยายามไปหาท่านด้วยตัวเองมากกว่า ซึ่งท่านจะมีวัตถุมงคลชนิดอื่นๆ เมตตาแจกญาติโยมให้ตรงตามจริตวาสนาของแต่ละคนด้วย แต่ทั้งนี้ท่านก็ยังทิ้งท้ายให้ความหวังไว้ว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรนั่นแหละจึงจะทำ
กระทั่งเวลาล่วงเลยมานับสิบปี จนถึงปี พ.ศ. 2517 หลวงปู่ชุ่มมีวัย 76 ปี ในที่สุดท่านก็อนุญาตให้ศิษย์ของท่านที่ชื่อ ครูบาทองใบ โชติปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดพรหมวนาราม อ.สารภี จ.เชียงใหม่จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านขึ้นเป็นวาระแรก
ครูบาชุ่มท่านได้ผูกยันต์ ลงอักขระตามพระสูตรให้อย่างครบถ้วน ดังที่ปรากฏอยู่ด้านหลังเหรียญรุ่นนี้ และท่านก็ได้แผ่อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอด 7 วัน 7 คืน ในพระวิหาร วัดชัยมงคล (วังมุย) เริ่มทำพิธีเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2517วันที่ 5 ธันวาคม 2517 จัดทำพิธีฉลองสมโภช เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดลำพูน สวดเจริญพระพุทธมนต์ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ฯลฯ หลวงปู่ชุ่มนั่งปรกบริกรรมแผ่พลังเมตตาจิตตลอดคืนสุดท้าย เช้าวันที่ 6 ธันวาคม 2517 สวดเบิกพระเนตรและมงคลสูตรต่างๆ เสร็จพิธีทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร พระสงฆ์อนุโมทนา
เหรียญพื้นที่ที่มีค่านิยมสูงอันเนื่องมาจากครูบาชุ่มท่านตั้งใจสร้างรุ่นนี้มาก ท่านเสกถึง 7วัน 7คืนเลยทีเดียว แม้แต่บล็อกที่ใช้กดพิมพ์พระท่านก็ยังเมตตาเสกให้ เมื่อทำการปั้มเหรียญ ครูบาชุ่มท่านก็นับจำนวนเหรียญ เพื่อตรวจดูว่ามีจำนวนเหรียญที่ขาด หรือเกินมาหรือไม่ (ท้ายที่สุดก็มีออกมาจนได้)
โดยครูบาชุ่มบอกแก่ญาติโยมว่า หากมีผู้ใดทำเหรียญเกินออกมา ขอให้ผู้นั้นไม่เจริญ ส่วนคนที่เช่าบูชาไปโดยไม่รู้..หลวงปู่ขอให้เหรียญ(เก๊)นั้นมีพุทธคุณเท่ากับเหรียญที่ได้รับการปลุกเสกจากท่าน
เรื่องพุทธคุณนั้นเกินคำบรรยาย คนในท้องที่ถึงกับบอกว่า”เอาพระคงมาแลกก็ไม่ยอม” โดยท่านกล่าวไว้ว่า “หากมีของของท่านติดตัว ต่อให้ระเบิดมาลงก็ไม่ต้องกลัว”
#ฉัตรสยาม
Comments