คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย. 2567
"หลวงพ่อสง่า อนุปุพโพ”วัดหนองม่วง ราชบุรี
เกจิดังลุ่มน้ำแม่กลอง-อดีตอาจารย์สักยันต์
เหรียญประสบการณ์ดีปี30/น่าสะสมบูชา!
"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
หนึ่งในพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมชื่อดังลุ่มน้ำแม่กลอง "พระครูอนุรักษ์วรคุณ” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อสง่า อนุปุพโพ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองม่วง อ.บางแพ จ.ราชบุรี ศิษย์ผู้สืบทอดพุทธาคมหลวงปู่ดี วัดบ้านยาง,หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม
ท่านมีนามเดิมว่า "สง่า" เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2459 ณ บ้านหม้อ ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นบุตรของนายเขี้ยมและนางเม้า นามสกุล" เล่ห์ปะสุวรรณ" ชีวิตในวัยเยาว์ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดบ้านหม้อ โดยมีบรรดาพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้อบรมสั่งสอนวิทยาการ อีกทั้งบางวันยังต้องนอนค้างที่วัดเพื่อช่วยปรนนิบัติรับใช้ พระสงฆ์อยู่เสมอๆ ดังนั้น ชีวิตของท่านจึงอยู่ใกล้ชิดกับพระและวัดมาโดยตลอด จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงออกมาช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา
อุปนิสัยของท่านในวัยหนุ่มก็เหมือนกับวัยรุ่นในสมัยนั้นทั่วไป กล่าวคือเมื่อเสร็จจากการทำงานก็มักไปเที่ยวเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆบางครั้งท่านก็ไปเที่ยวยังหมู่บ้านอื่น เพื่อเสาะแสวงหาความรู้ด้านคาถาอาคมจากครูอาจารย์ที่เก่งๆ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จนกระทั่งทราบมาว่าที่วัดไทรอารักษ์ มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญคาถาอาคมอยู่รูปหนึ่ง ท่านจึงดั้นด้นไปพบเพื่อขอเรียนวิชา แต่หลวงพ่อวัดไทรอารักษ์ กลับตั้งคำถามว่า "มาจากที่ใด" และพอทราบว่ามาจากบ้านหม้อ ท่านจึงปรารภขึ้นว่า "หาหญ้ากินไกลคอกเหลือเกินนะเรา อย่าลืมหญ้าปากคอกดูบ้างว่า หญ้าปากคอกนั้นงามขนาดไหน"
นายสง่าในขณะนั้นได้แต่คิดถึงถ้อยคำปริศนาที่หลวงพ่อวัดไทรฯได้พูดถึง แต่ก็คิดไม่ออก จนกระทั่งไม่นานท่านจึงไขปริศนาได้ว่า หญ้าปากคอกที่พูดถึงนั้นก็คือ ท่านพระครูเจ้าอาวาส วัดบ้านหม้อนั่นเอง ท่านจึงได้ปวารณาตัวเป็นศิษย์เพื่อเล่าเรียนวิชาอาคมนานนับปี จนมีความรู้แคล่วคล่องในบทสวด คาถาอาคม อักขระเลขยันต์พอควร
ต่อมาในปี 2481 ท่านได้ตัดสินใจอุปสมบทที่วัดบ้านหม้อ จ.ราชบุรี ขณะมีอายุได้ 22 ปีโดยมี พระอธิการกลิ่น วัดคงคา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกลี้ยง วัดเฉลิมอาสน์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เช้งและพระอาจารย์แป๊ะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (สมัยนั้นใช้พระคู่สวดในพิธีกรรมถึง 3 รูป) ได้รับฉายาว่า "อนุปุพฺโพ"
ครั้นอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านหม้อ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนสามารถ สอบได้นักธรรมชั้นตรีและโทตามลำดับ รวมถึงวิชาอาคมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก พระอาจารย์แป๊ะ พระอาจารย์เปีย วัดบ้านหม้อและวิชาการแพทย์แผนโบราณ วิชาสมุนไพร จนกระทั่งเรียกได้ว่ามีความเชี่ยวชาญยากหาใครเทียบในเวลานั้น
ต่อมาในปี 2484 ทางวัดหนองม่วง อ.บางแพ จ.ราชบุรี ขาดพระสงฆ์ผู้นำที่จะดูแลวัด ชาวบ้านและไวยาวัจกรจึงได้พร้อมใจนิมนต์ท่านให้มาดูแลและพัฒนาวัดหนองม่วง หลวงพ่อสง่าพิจารณาดูแล้วเห็นด้วยกับเจตนาอันบริสุทธิ์ของชาวบ้าน ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ ที่วัดหนองม่วงตามคำขอและได้พัฒนาวัดให้ดีขึ้น ตามที่ชาวบ้านต้องการดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างสูงสุด
หลวงพ่อสง่าเริ่มศึกษาคาถาอาคมและอักขระเลขยันต์มาตั้งแต่ตอนสมัยเป็นหนุ่ม ทั้งวิชาสักยันต์ รดน้ำมนต์ ครั้นเมื่อท่านได้อุปสมบท แล้วก็ยังให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องด้วยว่า แม้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ก็เป็นความนิยมของคนสมัยนั้น เพื่อให้เกิดศรัทธายึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยท่านได้เป็นอาจารย์สักยันต์อยู่หลายปีจนกระทั่งได้ข่าวว่า ผู้ที่ท่านสักให้ส่วนมากไปกระทำความชั่ว เป็นนักเลงเพราะฮึกเหิมลำพองในความคงกระพันของรอยสักที่สักให้ ท่านจึงได้เลิกพิธีกรรมการสักทั้งหมด เพราะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่เกิดแก่นสารที่แท้จริง
หลังจากนั้น เมื่อมีเวลาว่างท่านได้ไปขอต่อวิชากับ หลวงปู่ดี วัดบ้านยาง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเก่งในด้านการสร้างพระปิดตามหาอุตม์ คงกระพันชาตรี,หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาลบผงอิทธิเจ ปถมัง และการเขียนยันต์ 108, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ได้วิชามหาอุตม์, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมได้ครอบครูนะเมตตาและได้รับการสอนวิชาเจริญวิปัสสนา นอกจากนี้ยังมีครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆอีกมากมาย
ปฏิปทากิตติคุณและคุณธรรมของหลวงพ่อสง่า ท่านจะมีเมตตาธรรมสูงส่งยิ่งนัก ท่านได้พัฒนาวัดหนองม่วง และพัฒนาคนในชุมชนวัดหนองม่วงให้รู้จักหลักการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข สอนให้ทุกคนรู้จักอดทน ให้หมั่นเพียรพยายามพึ่งตนเองเป็นหลัก เอาชนะใจตนเองให้ได้
ท่านจะเน้นวิถีชีวิตอย่างชาวบ้านดั่งที่ท่านพร่ำสอนศิษย์เสมอว่า "คนเราถ้าไม่รวยก็อย่าจน ให้มีหิริโอตัปปะ ให้มีความอดทนและเพียรพยายามจะไม่อดตาย ความจนความรวย เราไม่ได้เอามาตั้งแต่เกิด แต่เราทำตัวเราให้รวย ให้จนได้ทั้งนั้น เป็นหนี้ก็เอามาให้พระแก้ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุคือตัวเราเอง หาได้ใช้เป็น ใช้ให้น้อย หาพอเพียงก็จะไม่จน" อนิจจัง วัตสังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา
วาระสุดท้ายหลวงพ่อสง่าท่านก็ไม่อาจพ้นจากพระพุทธพจน์บทนี้ได้ ท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันอังคาร แรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก ตรงกับวันที่ 29 เดือนมีนาคม ปี 2547 สิริอายุรวม 78 ปี พรรษาที่ 56
หลวงพ่อสง่าท่านจัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายรึ่นหลายรูปแบย แต่ที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือคือเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2511 มี 3 บล็อกคือ บล็อกไม่มีพ.ศ. และบล็อกมีพ.ศ. ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อเดียว คือเนื้อทองแดงผิวไฟ หลวงพ่อสง่าปลุกเสกเองที่วัดหนองม่วง ตอนแรกปั๊มทำเป็นเหรียญ ไม่มีการระบุ พ.ศ. แต่ครั้นพอทำไปได้จำนวนหนึ่ง หลวงพ่อท่านก็หยุด ให้ช่างแก้ไขใส่บล็อกเป็นเลขปี พ.ศ.2511 ไว้ที่ด้านหลัง. ดังนั้น เหรียญรุ่นนี้ ที่ไม่มีตัวเลขระบุปี พ.ศ. จึงมีจำนวนน้อยมาก
ส่วนเหรียญที่มีประสบการณ์ดังมากคือ เหรียญรูปเหมือนปี 2530 มีคนที่ห้อยเหรียญรุ่นนี้แล้วโดนยิงไม่เข้าหลายราย ส่วนใหญ่เหรียญของท่านจะไปดังทางจังหวัดชลบุรี
หลวงพ่อสง่าท่านเป็นพระนักกรรมฐานที่ฝึกฝนกรรมฐานมาเป็นอย่างมาก ท่านถึงให้ความสำคัญ แทรกยาดำด้วย คำภาวนาว่า "สัมมาอะระหังพุทโธ" หลวงพ่อสง่าท่านเป็นผู้ชำนาญเรื่องฤกษ์เรื่องยามเป็นอย่างดี ถึงให้ความสำคัญกับจักรราศี เหรียญปี 2530 นั้นหลวงพ่อสง่าท่านจะเน้นพุทธคุณเด่นในทางคงกระพันชาตรี และแคล้วคลาด อักขระเลขยันต์ที่ใส่ไว้ในเหรียญของท่าน แบบที่จะเห็นอยู่ในด้านหลังเหรียญรุ่นปี 2530
เหรียญรุ่นนี้มีประสบการณ์สูงทางด้านคงกระพันอย่างเด่นชัด จึงเป็นเหรียญเกจิอาจารย์ที่น่าเสาะหามาสะสมบูชาเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับศิษย์สืบทอดพุทธาคมสายตรงของหลวงพ่อสง่าที่มีขื่อเสียงในปัจจุบันคือ
"พระอาจารย์อนุชา อนุชาโต"เกจิดังแห่ง วัดโพธิ์ราษฎร์บูรณะ ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี
#ฉัตรสยาม
Comments