top of page
ค้นหา

คอลัมน์"จับชีพจรวงการพระ" ประจำวันพุธที่ 23 มิ.ย. 2564

รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"จับชีพจรวงการพระ"

ตั้งสมณศักดิ์ "พระครูอรุณธรรมรังษี" เจ้าตำรับหนังสือมนต์พิธีที่ดังทั่วโลก

"พระดีเกจิดังแห่งยุค"ที่น่ากราบไหว้ ภาคกลาง...ใต้...ตะวันออก...อีสาน

"ไม่เก่งแต่พยายาม เจ๋งกว่า เก่งแต่ขี้เกียจ”...ข้อคิดคำคมประจำวัน

"#จับชีพจรวงการพระ"กับ"#นายขุนโหร" ประจำวันพุธที่ 23 มิ.ย. 2564 ....เริ่มกันที่ข่าวมหามงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ โปรดพระราชทานสัญญาบัตรต้ังสมณศักดิ์พระราชาคณะ พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวัณโณ) ต้นตำรับหนังสือมนต์พิธี เป็น พระราชวัชรรังษี พุทธมนต์พิธีธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหา นคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1

แนะนำพระดีเกจิดังที่กราบไหว้ได้สนิทใจ...สายสระแก้ว “หลวงปู่บุดดา ปัญญาธโร” เกจิ6แผ่นดิน วัดป่าใต้พัฒนาราม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว อายุ 111 ปี ศิษย์พี่ศิษย์น้อง"หลวงปู่โสฬส ยโสธโร วัดโคกอู่ทอง"ที่เติบโตมาด้วยกัน ดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกัน อีกทั้งบวชเรียนพร้อมกันในสำนักเดียวกัน

2 เกจิเมืองไผ่ตง ปราจีนบุรี...หลวงปู่แก้ว สุทฺธิญาโณ"สำนัก สงฆ์สวนสมุนไพร (เขาไม้แก้ว) พระวิปัสสนาจารย์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่โด่งดังตีคู่มากับพระครูสุนทรโชติธรรม หรือ"หลวงปู่บุญมา โชติธมฺโม" พระเกจิคณาจารย์ฝ่ายมหานิกาย แห่งสำนักสงฆ์เขาแก้วทอง

สายเมืองชล...พระครูวรรัตนาภรณ์ หรือ“หลวงพ่อนวย ปัญญาวโร” เจ้าอาวาสวัดป่ายุบบุญญาราม ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อายุ80 ปี เกจิผู้ทรงคุณพุทธาคมเข้มขลังด้านเมตตา มหาลาภ สมญานาม”พระหมอยาแห่งบ้านบึง” ศิษย์ผู้สืบทอดวิชาอาคมจากหลวงพ่อทับ วัดหัวถนน จ.ชลบุรี ,หลวงพ่อเคน วัดเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี และหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่

สายอุทัยฯ...พระครูอุทัยบวรกิจ” หรือ “หลวงปู่ตี๋ ปวโร” อายุ 77 ปี เจ้าอาวาสวัดดอนขวาง ต.ดอนขวาง อ.เมือง จ.อุทัย ธานี อายุ77ปี สายวิชาวัดสะพานสูง นนทบุรี ศิษย์เอกหลวงพ่อทองสุข และหลวงปู่ตี๋ วัดหลวงราชาวาส ปัจจุบันท่านจำพรรษาที่วัดดอนเนรมิต อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เชี่ยวชาญตำรับยันต์พลิกชะตาที่ทำให้เหตุร้าย กลายเป็นดี

สายมหาชัย...เกจินามเป็นมงคล "หลวงปู่ทอง สุวิชาโน" อายุยืน104ปี วัดดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร ศิษย์เอกหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ...ท่านมีชื่อจริงว่า"สุวรรณ" ส่วนชื่อ"ทิ้ง"เป็นชื่อเดิมสมัยเด็ก คนกระทุ่ม แบนเคารพศรัทธาเรียกท่านว่า "หลวงตาทิ้ง-หลวงลุงทิ้ง" บ้าง"หลวงปู่ทอง" บ้าง หรือ"หลวงปู่สุวรรณ" แล้วแต่จะเรียก

สายสุพรรณฯ.. "พระครูสุนันทโชติ" หรือ "หลวงปู่นิ่ม โชติธัมโม" วัดพุทธมงคล (หนองปรือ) อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี อายุ95 ปี ศิษย์พุทธาคม หลวงปู่กล้าย วัดหงส์รัตนาราม กทม. และได้วิชาจากเกจิดังอีกหลายองค์ อาทิ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ, สมเด็จพระสังฆราช (ป๋า) วัดโพธิ์ฯ, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ, หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม, หลวงพ่อสม วัดดอนบุปผาราม, หลวงพ่อหรุ่น วัดเสาธงทอง, หลวงพ่อกาพย์ วัดจรรย์, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นต้น

สายอีสาน..“หลวงปู่ปัน สัมปันนธัมโม” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดเทพนิมิตรจันทร์แสงวนาราม ต.สวนหม่อน อ.มัญจา คีรี จ.ขอนแก่น อายุ82ปี ศิษย์พุทธาคมสายตรงของ"หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต" อดีตพระเกจิมีชื่อเสียงโด่งดังแห่งวัดอุดมคงคาคีรีเขต อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ...น้ำมนต์ของท่านว่ากันว่าสุดขลังยิ่งนัก

สายกรรมฐาน...พระครูธรรมคุณาทร” หรือ “หลวงปู่สูนย์ จันทวัณโณ ” วัดป่าอิสระธรรม ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร อายุ 85 ปี พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ศิษย์เอก“หลวงปู่สีลา อิสฺสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าอิสระธรรม บุญญาบารที่ท่านสูง ขนาดว่า"พญานาค"โผล่กลางแม่น้ำขึ้นมาสักการะ และเกศากลายเป็นพระธาตุ

ล่องใต้ไปหาพระดีเกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองคอน "พ่อท่านบุญให้ ปทุโม" หรือ "พระครูพิศาลวิหารวัตร" เจ้าคณะตำบลปากพยูน เจ้าอาวาสวัดท่าม่วง ต.ปากพยูน อ.เมือง จ.นคร ศรีธรรมราช อายุ93ปี ศิษย์พุทธาคมเขาอ้อ สายแคล้วคลาด-คงกระพัน หนึ่งในพระเกจิที่ร่วมนั่งปรกปลุกเสกจตุคามรามเทพรุ่นแรก ปี 2530, รุ่นปี 2545 และวัตถุมงคลดังๆทางภาคใต้อีกหลายรุ่น

ทหารกล้าของกองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธเข้ากราบนมัสการและได้รับตะกรุดพกติดตัวไปปฏิบัติหน้าที่ใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่ามีประสบการณ์แคล้วคลาดกันมาหลายหนจนเป็นที่เลื่องลือว่า ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งวิทยาคมด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด...

พระดีเกจิดังยังมีอีกหลายท่าน หลายวัดหลายจังหวัด..ติดตามกันต่อไปไม่ผิดหวังครับ!...สวัสดี!













ดู 101 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page