top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

น้อมรำลึก2ส.ค.วันสิ้นพระชนม์ 100ปีสมเด็จฯกรมพระยาวชิรญาณวโรรสสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 10

น้อมรำลึก2ส.ค.วันสิ้นพระชนม์ 100ปี สมเด็จฯกรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 10

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอ เนื่องในวันที่ 2 ส.ค. ของทุกปีตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทีมข่าว"คัมภีร์นิวส์"ขอนำเสนอพระราชประวัติเพื่อร่วมรำลึกในโอกาสครบ100ปีวันสิ้นพระชนม์

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 หรือ100ปีก่อน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ รวมพระชนมายุ 61 พรรษา 3 เดือน 20 วัน เสด็จอยู่ในผนวช 42 พรรษา ทรงดำรงตำแหน่งพระสังฆราช 10 ปี 7 เดือน

กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2403 พระนามเดิมคือ "พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ" ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลีเมื่อพระชนมายุ 8 พรรษา ทรงศึกษาอยู่จนสามารถแปลธรรมบทได้ และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งเมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา นอกจากนี้ยังทรงศึกษาโหราศาสตร์กับครูที่เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์มาแต่พระชนม์ยังน้อย

ทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ 2 เดือนเศษ จึงทรงลาผนวช ครั้นพระชนมายุ 20 พรรษาก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตน ศาสดาราม แล้วเสด็จมาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้นได้เสด็จไปจำพรรษาที่ 2 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ในสำนักของ พระจันทโคจรคุณ (ยิ้ม) และได้ทรงทำ "ทัฬหีกรรม” อุปสมบทซ้ำอีกครั้งหนึ่งตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุต

หลังจากทรงแปลพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ 5 ประโยคแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาพระอิศริยยศเป็น “กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส” ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะรองในธรรมยุตินิกายเมื่อปี 2424 เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ในปี 2434 รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อ นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ 3

อีกสองปีต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต จากนั้นก็ได้ทรงเริ่มพัฒนากิจการพระศาสนาที่สำคัญคือ ทรงสนับสนุนให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่เล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย ต่อมาได้แพร่หลายออกไป พระองค์จึงได้ทรงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ในเวลาต่อมาที่เรียกว่า "นักธรรม” ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาจนปัจจุบัน

ทรงจัดตั้ง มหามกุฎราชวิทยาลัย ในปี 2436 เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่ คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่นๆที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา ให้เป็นสถานศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร ปีต่อมาทรงออกนิตยสาร “ธรรมจักษุ” จากนั้นทรงขยายการศึกษาออกไปยังหัวเมืองทั่วประราชอาณาจักร โดยให้วัดเป็นโรงเรียนให้พระเป็นครู นับเป็นการวางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาของไทย

นอกจากนี้ยังทรงจัดระเบียนการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช” ในปี 2453 ภายหลังได้ทรงประชวรเป็นวัณโรคและสิ้นพระชนม์ในที่สุด






ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page