เมื่อลูกศิษย์มีข้อกังขา-ถกเถียงกัน ขอดูภายในปากของ “เจ้าคุณหมู” มีเขี้ยวแก้วจริงคล้ายหลวงปู่กาหลง เด่น กีรติ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ รายงานว่า จากกระแสที่มีคำเล่าลือกันว่า “พระราชพัฒนสุนทร” หรือ “ท่านเจ้าคุณหมู” มีเขี้ยวอยู่บนเพดานปาก ที่นิยมเรียกว่า “เขี้ยวแก้ว” และได้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าจะจริง เพราะลักษณะแบบนี้จะเกิดขึ้นยาก ที่เห็นมีก็แต่ “หลวงปู่กาหลง” เท่านั้น ที่มี “เขี้ยวแก้ว” พระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังแห่งวัดเขาแหลม อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว หลวงปู่กาหลง เตชวัณโณ ลูกศิษย์ลูกหามักเรียกขานท่านว่า "หลวงปู่กาหลง เขี้ยวแก้ว" ด้วยท่านเป็นพระเถราจารย์หนึ่งเดียวที่มีเขี้ยวแก้วกลางเพดานปาก
ด้วยเหตุของการกังขาของบรรดาศิษย์ จึงไปขอดูภายในปากของ “เจ้าคุณหมู” ซึ่งท่านก็ปฏิเสธการให้ดูมาตลอด เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น แต่เมื่อลูกศิษย์มีข้อกังขาและถกเถียงกัน ท่านจึงยอมอ้าปากให้ดู ปรากฏว่าท่านมี “เขี้ยวแก้ว” ที่กลางเพดานปาก เฉกเช่น หลวงปู่กาหลง ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้มีบุญทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้บรรดาศิษย์จึงนิยมเรียกท่านว่า “เจ้าคุณหมูเขี้ยวแก้ว” ปกติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทย ท่านเจ้าคุณหมูจะเปิดให้ลูกศิษย์รดน้ำขอพรและแจกวัตถุมงคล ปีนี้ก็คงต้องเว้นไปก่อน แต่ท่านก็ให้พรผ่านทางศิษย์และสื่อออนไลน์แล้วเช่นกัน
กล่าวสำหรับ “พระราชพัฒนสุนทร” หรือ “ท่านเจ้าคุณหมู” เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร พระประแดง จ.สมุทรปราการ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากเมตตา มีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมหลายอย่าง อาทิ ชูชกไม้แกะ ผ้ายันต์ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวเวสสุวรรณไม้แกะ เป็นต้น
ท่านมีนามเดิมว่า ไพโรจน์ อินทรวิสูตร เกิดเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ โยมบิดา นายชะมด โยมมารดา นางแถม บ้านเลขที่ ๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ณ วัดทรงธรรมวรวิหาร ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พระอุดมวิจารณ์ (เจริญ ธมฺมจารี) วัดทรงธรรมวรวิหาร ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพระอุปัชฌาย์
ด้านการศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๐ สำเร็จการศึกษาชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๓ จาก โรงเรียนวัดทรงธรรม ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ๒๕๓๖ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดสมุทรปราการ ความชำนาญความสามารถในการก่อสร้าง ออกแบบโครงสร้าง ควบคุมการก่อสร้างเสนาสนะภายในวัด ความสามารถในภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์ลวดลายไทยรามัญโบราณ
Comments