top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566 "หลวงปู่นาค โชติโก"อดีตเกจิดังวัดห้วยจรเข้

"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566

"หลวงปู่นาค โชติโก"อดีตเกจิดังวัดห้วยจรเข้

เจ้าตำรับ"พระปิดตาเนื้อเมฆพัตร"อันดับหนึ่ง

สุดยอดประสบการณ์"มหาอุด-คงกระพัน"

"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

"หลวงปู่นาค โชติโก" อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม พระมหาเถราจารย์ยุคเก่าผู้เรืองเวทย์แห่งเมืองพระเจดีย์ใหญ่ ผู้สร้างตำนานพระปิดตาเนื้อเมฆพัตรอันทรงพุทธคุณเข้มขลัง ยอดนิยมของเมืองไทย หนึ่งในเบญจภาคีพระปิดตา เนื้อเมฆพัตร

คือ 1.พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม 2.พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.ราชบุรี 3.พระปิดตาหลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน จ.ราชบุรี 4.พระปิดตาหลวงพ่อชม วัดบางปลา จ.นครปฐม และ 5.พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม

หลวงปู่นาคเกิดปี พ.ศ.2358 (ร.ศ.35) ตรงกับปีกุน จ.ศ.1177 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เดิมเป็นคนบ้านไผ่นาค มณฑลนครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่ออายุ 21 ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดพระปฐมเจดีย์ ตรงกับปี พ.ศ.2379 โดยมีพระปฐมเจติยานุรักษ์ (กล่ำ) วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการยิ้ว วัดแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการธูป วัดโคกพระเจดีย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “โชติโก”

หลังอุปสมบทได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์เรื่อยมา ลุถึงปี พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเถระ 4 รูป เพื่อทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ คือ 1.พระครูปริมานุรักษ์ (นวม พรหมโชติ) วัดสรรเพชญ รักษาด้านทิศตะวันออก 2.พระครูทักษิณานุกิจ (แจ้ง ธัมมสโร) วัดศิลามูล รักษาด้านทิศใต้ 3.พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) วัดห้วยจระเข้ รักษาด้านทิศตะวันตก 4.พระครูอุตรการบดี (ทา) วัดพะเนียงแตก รักษาด้านทิศเหนือ

หลวงปู่นาค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ "พระครูปัจฉิมทิศบริหาร" นอกจากทำหน้าที่รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันตกแล้ว ยังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี เทียบกับสมัยนี้เท่ากับตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม

ในปี พ.ศ.2441 หลวงปู่นาคได้สร้างวัดขึ้นใหม่ในพื้นที่ต.หนองพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม เพื่อให้เป็นวัดบริวารขององค์พระปฐมเจดีย์ (ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณหนึ่งกิโลเมตร) แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2443 ได้รับพระราชทานวิสุงคารามเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2443 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อว่า “วัดนาคโชติการาม” แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดใหม่ห้วยจระเข้” และต่อมาก็เป็น “วัดห้วยจระเข้” จนทุกวันนี้ โดยหลวงปู่นาคเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

หลวงปู่นาคเป็นพระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีศีลาจารวัตรอันงดงาม ท่านมีความรู้แตกฉานทั้งหนังสือไทย ขอม และบาลี เพียบพร้อมด้วยเมตตาธรรม-กรุณาธรรม และเป็นพระนักพัฒนาจนเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาพระภิกษุ-สามเณร และพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง จึงมีลูกศิษย์มากมาย คราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสพระราชวังสนามจันทร์ ทั้งสองพระองค์จะแวะกราบหลวงปู่นาคเป็นประจำ

หลวงปู่นาค ปกครองวัดห้วยจระเข้มานาน 11 ปี ถึงกาลละสังขารเมื่อปี พ.ศ. 2453 ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ 95 ปี 74 พรรษา ก่อนที่หลวงปู่นาคท่านจะมรณภาพ ก็ได้ถ่ายทอดวิชาการสร้างพระปิดตาให้กับ "หลวงปู่สุข" ลูกศิษย์ซึ่งต่อมาหลวงปู่สุขท่านก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ต่อจากหลวงปู่นาค หลวงปู่ศุขท่านนี้ก็เป็นพระเกจิอาจารย์ของเมืองนครปฐมที่มีชื่อเสียงรุ่นราวคราวเดียวกับ "หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง" และ "หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา" ที่มีคนนับถือมากเช่นกัน

ด้านวัตถุมงคลการสร้างพระปิดตาของหลวงปู่นาคนั้น ปรากฏหลักฐานว่าท่านเริ่มสร้างปี พ.ศ.2432-2435 ในช่วงที่อยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ปรากฏมีทั้งเนื้อสำริดแก่ทอง เนื้อชินเงิน เนื้อชินเขียว ในระยะแรกพิมพ์ยังไม่มีมาตรฐาน จนภายหลังสามารถสรุปได้ว่านิยมเล่นกัน 3 พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ท้องแฟบ พิมพ์ท้องป่อง และพิมพ์หูกระต่าย ยังไม่นับพิมพ์อื่นๆที่อาจสร้างไว้อีกต่างหาก

วิธีการลงเหล็กจารนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคนำเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้วไปลงเหล็กจารที่ท่าน้ำข้างวัด โดยจะนำลงไปจารอักขระใต้น้ำ เมื่อจารเสร็จแล้วจะปล่อยให้พระปิดตาลอยขึ้นมาเหนือน้ำเอง โดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ

พระปิดตาเนื้อเมฆพัตรของท่านเป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระปิดตา เนื้อโลหะ จากพิธีกรรมการสร้างอันเข้มขลังนี้เอง จึงทำให้พระปิดตาห้วยจระเข้เป็นจักรพรรดิของพระปิดตาเนื้อเมฆพัตรทั้งปวง ซึ่งเมฆพัตรเป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุตามตำราของไทยโบราณ เชื่อว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์มีฤทธานุภาพในตัวเอง

พระปิดตาที่ท่านสร้างขึ้นมีพุทธลักษณะงดงาม ด้านศีรษะจะใหญ่ มือใหญ่ โยงก้นแต่ไม่ทะลุไปด้านหลัง มักปรากฏรอยจารของท่าน สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประทับแรม ณ พระราชวังสนามจันทร์ พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเสด็จกราบนมัสการหลวงปู่นาคเป็นประจำ ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคได้ถวายพระปิดตาไว้บูชาคู่พระวรกายพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน

หลวงปู่นาคท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างเนื้อเมฆพัดมาก การผสมเนื้อแร่ต่างๆ การปั้นพิมพ์ และการเทหล่อองค์พระท่านทำด้วยตัวท่านเอง องค์พระที่ท่านหล่อออกมาสวยงาม ไม่มีรอยตะเข็บ ไม่เป็นฟองอากาศ เนื้อพระเป็นสีดำอมเขียว สีดำเงาคล้ายปีกแมลงทับ สวยงามพิสดาร เนื้อพระผิวตึง สมบูรณ์แบบด้านรูปทรง ว่ากันว่า "หลวงปู่นาค" กับ"หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว" มีความสนิทสนมกัน เป็นสหธรรมิกรุ่นน้อง(หลวงปู่นาค มีอายุมากกว่าหลวงปู่บุญ 35 ปี) และมีการแลกเปลี่ยนวิชาซึ่งกันและกันด้วย โดยหลวงปู่บุญขอเรียนวิชาการสร้างเนื้อเมฆพัดไปจากหลวงปู่นาคส่วนหลวงปู่นาคก็ได้ขอเรียนวิชาอื่นจากหลวงปู่บุญไปเป็นการแลกเปลี่ยน

บรรดานักเลงพระยกให้ ‘พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้’ เป็นสุดยอดอันดับหนึ่งของพระปิดตาเนื้อเมฆพัดทั้งหมด สมัยก่อนพระปิดตาสำนักนี้มีชื่อเรียกติดปากกันว่า

"พระปิดตาห้วยจระเข้" ถือว่าเป็นพระปิดตาที่มีประสบการณ์เยี่ยมยอด ด้านคงกระพันกับมหาอุดเป็นที่สุด ส่วนทางเมตตามหานิยมกับโชคลาภ

#ฉัตรสยาม


ดู 30 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page