"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 2566
"หลวงพ่อผล ภทฺทิโย"อดีตเกจิดังวัดพังม่วง
สหธรรมิกหลวงพ่อสม วัดดอนบุปผาราม
สมญานาม"พระบ้านกร่างคู่แห่งสุพรรณบุรี"
หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ของเมืองสุพรรณบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดพังม่วง ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ วัดหนึ่งของอำเภอศรีประจันต์ นาม ‘พระภัทรมุนี (ผล ภทฺทิโย)’ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ย้ายไปครองวัดไชนาวาส ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
ทว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายว่า ประวัติของท่านสืบค้นได้เท่าที่ทราบว่า นามเดิม "ผล สุวรรณประทีป" ภายหลังใช้ "เพชรสนิท" ชาตะเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่บ้านอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ณ วัดพังม่วง มีพระอธิการโฉม ซึ่งเป็นพระพี่ชาย เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้ไปศึกษาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ
เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบท ณ วัดราชบุรณะ กรุงเทพมหานคร มีพระธรรมดิลก (อิ่ม จนฺทสิริ) เจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาโต๊ะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระราชโมลี (ช้อน โสณุตฺตโร) วัดราชบุรณะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางพระว่า ‘ภทฺทิโย’
อุปสมบทแล้วจำพรรษาที่วัดราชบุรณะ ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญ ๖ ประโยค ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพังม่วง เป็นพระลูกวัดมา จนกระทั่งในช่วงปลายชีวิตได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไชนาวาส ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ สุพรรณบุรี
ซึ่งน่าจะเป็นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพราะเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ ‘พระภัทรมุนี’ ท่านยังคงอยู่ที่วัดพังม่วง และอาจจะได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไชนาวาสในช่วงหลังจากนั้น
พระภัทรมุนี (ผล ภทฺทิโย) ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นพระนักพัฒนา ส่งเสริมการศึกษา เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนส่งเสริมในการบุกเบิกการศึกษาของวงการสงฆ์ในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนั้นยังเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อสม วัดดอนบุปผา จนได้รับการกล่าวขานว่า เป็น ‘พระบ้านกร่างคู่แห่งเมืองสุพรรณ’
พระภัทรมุนี (ผล ภทฺทิโย) มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๓ สิริรวมอายุได้ ๗๓ ปี พรรษา ๕๒
วัตถุมงคลที่ถือว่าเป็นพระเครื่องรุ่นแรกๆของหลวงพ่อผลได้แก่ พระเนื้อผงพระพุทธโสภิต สร้างปี ๒๔๘๘ (พบเจอน้อย) จำนวนการสร้างไม่ปรากฎ พระสังกัจจายน์ เนื้อผง พ.ศ. ๒๔๘๘,รูปถ่ายหน้าตรงกรอบกระจก ปี ๒๕๐๘ ( มีจำนวนน้อยมาก )ด้านหลังรูปถ่ายจารมืออักขระยันต์ เหรียญปั๊มรูปเหมือนพัดยศรุ่นแรก พ.ศ. ๒๕๐๘พระมหาผล (ผล ภทฺทิโย),เหรียญปั๊มหันข้างรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๘
เหรียญปั๊มรูปพัดยศ เนื้อเงินก้อนลงยา และเนื้อเงินก้อนแบบไม่ลงยา ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหน้าตรง มีอักษรไทยจารึกว่า ‘พระมหาผล ภทฺทิโย’ ด้านหลังเป็นยันต์ตัวเฑาะว์และอักขระขอม ‘มะ อะ อุ’ และ ‘นะ โม พุท ธา ยะ’ และอักษรไทยจารึกว่า ‘วัดพังม่วง ๒๕๐๘’ สร้างตอนที่ท่านยังครองตำแหน่งที่พระมหาผล จำนวนการสร้างคาดว่าไม่กี่ร้อยเหรียญ
ส่วนการสร้างเหรียญรูปพัดยศ พระราชาคณะหรือที่ชาวพังม่วงเรียกกันว่า "เหรียญพัดยศ" นั้น สร้างโดยใช้ "เงินก้อนกลม " จากการบริจาคคนละก้อนสองก้อนนำไปให้โรงงานจัดทำ ซึ่งทำได้ไม่กี่ร้อยเหรียญ ท่านปลุกเสกเดี่ยวตลอดพรรษา
หลังงานกฐินแล้วก็ทราบข่าวที่รอวันในหลวงรัชกาลที่9 ลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น จึงเอามาแจกคืนให้เจ้าของเงินก้อน บ้านละเหรียญเดียว มีหลานท่านบางคนเท่านั้นที่ได้คืน ๒ เหรียญ ที่เหลือทั้งหมดถวายให้ท่านจัดการตามอัธยาศรัย และตกลงการจัดทำรุ่นหยัก(เหรียญหันข้าง)ด้วย แต่จำจำนวนไม่ได้ว่าเท่าไร
ในวงการเซียนพระถือรุ่นหยักเป็นรุ่น ๑ เพราะมีมากจนหาได้ไม่ยาก ต่างกับเหรียญพัดยศที่ใช้เงินก้อนกลมที่ได้รับจากการบริจาคได้เพียงร้อยกว่าก้อน
หลังวันที่ ๕ ธันวาคม ไม่นาน ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี และย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดไชนาวาส อ.เมืองสุพรรณ มีการจัดงานมุทิตาจิต เหรียญที่จัดทำเตรียมไว้นั้น ก็นำมาแจกจ่ายกันแพร่หลายมานับแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าเหรียญทั้ง ๒ แบบนี้จะสร้างห่างกันนานแค่ไหน แต่ก็ถือว่าเป็นเหรียญรุ่นแรก เพราะปีที่สร้างระบุ พ.ศ. ๒๕๐๘ เช่นเดียวกัน
ด้านประสบการณ์ของเหรียญทั้ง ๒ แบบนี้ คนแถวพังม่วงต่างทราบกันดีว่ามีพุทธคุณ
ดีด้านแคล้วคลาดปลอดภัย รวมถึงคงกระพันชาตรีก็มีให้เห็น
ปัจจุบันวัดพังม่วงมีพระมหามนพ กิตฺติมโน เป็นเจ้าอาวาส พระเกจิหนุ่มนักพัฒนา มีชื่อเสียงในเรื่องการเจิม"ยันต์ฝ่ามือนะเศรษฐี"
ท่านเป็นศิษย์สายตรงหลวงปู่สมบุญ วัดลำพันบอง เมื่อมีงานนั่งปรกอธิษฐานจิตที่วัดลำพันบองครั้งใด ท่านก็จะนิมนต์พระมหามนพไปด้วย
#ฉัตรสยาม
Comments