ย้อนรอยเกจิ/
ประจำวันอาทิตย์ที่ 11 ก.พ. 2567
64ปีมรณกาล "หลวงปู่บุญยัง จันทสาโร"
อดีตเกจิวาจาสิทธิ์วัดบางจาก จ.นนทบุรี
เจ้าตำรับ"ตะกรุดเป่าแล่น"สายสะพานสูง
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ร่วมรำลึกครบ64ปีแห่งการมรณภาพของ"หลวงปู่บุญยัง จันทสาโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดบางจาก ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองนนท์ ผู้สร้างเหรียญพระพุทธปางประจำวัน หลังรูปเหมือน และ "ตะกรุดเป่าแล่น" ตำรับสายวัดสะพานสูงอันลือลั่นด้วยประสบการณ์ความเข้มขลัง
หลวงปู่บุญยังท่านเกิดเมื่อปีพ.ศ.2427 มีโยมมารดาเป็นชาวบ้านลำพูลาย อาศัยอยู่ในสวนข้างวัดบางจากและได้อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี ณ วัดบางจาก ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมีพระคุณาวงศ์ (สน นาคสนโท) วัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุเมธมุนี วัดบ่อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา "จันทสาโร"
หลังบวชท่านพร้อมด้วยพระไตรสรณธัช (แสน โกลิโต) และพระปลัดอั้น พุทธวังโส ได้ออกธุดงค์และเดินทางไปศึกษาวิชาที่ประเทศพม่า โดยท่านทั้ง 3 ได้เรียนวิชาต่างๆ ดังนี้ หลวงพ่อบุญยังศึกษาศาสตร์ทางด้านสาลิกาลิ้นทอง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางจาก พระไตรสรณธัช (แสน โกลิโต) ศึกษาศาสตร์ทางด้านภาษาบาลี ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางจากรูปแรก และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ในกาลต่อมา พระปลัดอั้น พุทธวังโส ได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสนามเหนือ ต.เกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
หลวงพ่อบุญยังท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีเมตตาสูง ประวัติของท่านจากคำบอกเล่าของศิษย์ใกล้ชิด ในสมัยที่ยังดำรงขันธ์อยู่ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ มีเมตตาธรรมและวาจาสิทธิ์ จึงเป็นที่เคารพของชาวบ้านและคนใกล้เคียง"มีอยู่ครั้งหนึ่งได้มีฝูงอีกามาเกาะบริเวณสวนข้างวัดบางจาก ซึ่งได้มีจ่าฝูงตัวใหญ่สีดำตัวหนึ่งบินมาเกาะที่ตักในช่วงเวลาที่ท่านฉันอาหารเช้าและเพลของทุกวัน ซึ่งชาวบ้านทราบดีว่าเป็นอีกาที่ท่านเลี้ยงไว้ จึงไม่มีใครกล้าทำอันตรายอีกาฝูงนี้
จนกระทั่งมีชายคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่หน้าวัดบางจากเกิดความคึกคะนองใช้ปืนแก๊ปยิงอีกาจ่าฝูงตัวที่ท่านเลี้ยงไว้และมันได้บินมาตายตรงหน้าตักท่าน ทำให้ท่านมีความเวทนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กล่าวว่า "คนที่ทำกับเจ้าก็จะตายอย่างเจ้า" ปรากฏว่า ไม่นานชายคนนั้นก็ถูกยิงตายดังวาจาสิทธิ์ที่ท่านได้กล่าวไว้
หลวงปู่บุญยังเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีกิจนิมนต์พิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลชุกมากองค์หนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลพิธีใหญ่ๆ นับไม่ถ้วน อาทิ พิธีจัดสร้างพระพุทธ 25 ศตวรรษ (พุทธมณฑล) ปีพ.ศ.2500, พิธีพระรอดเสาร์ห้า วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ปีพ.ศ.2496, พิธีพระเนื้อผง วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ปีพ.ศ.2496 นอกจากนี้ ยังได้รับนิมนต์ให้ร่วมพิธีจัดสร้างเหรียญเสมาและรูปเหมือนของหลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม และพระครูโสภณศาสนกิจ หรือหลวงปู่กลิ่น จันทรังสี แห่งวัดสะพานสูง จ.นนทบุรี ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักสะสมอย่างมาก
วัตุมงคลของหลวงปู่บุญยัง ไม่ว่าจะเป็นนางกวักไม้แกะ และเหรียญพระพุทธหลังรูปเหมือน สร้างประมาณปีพ.ศ.2487 ครั้งนั้นได้มีคณะลูกศิษย์ร่วมกันสร้างถวายให้ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก โดยเป็นเหรียญรูปพระประจำวัน เนื้อกะไหล่ทอง สร้างครบถ้วนทั้ง 7 วัน ด้านหลังเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่บุญยังครึ่งองค์ เขียนคำว่า "หลวงพ่อบุญยัง วัดบางจาก ปากเกร็ด"
ที่ขาดไม่ได้คือ เครื่องรางของขลังที่ล้วนแต่แสวงหาและหายากมากก็คือ"ตะกรุด" จัดสร้างเมื่อครั้งท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางจาก ยุคแรกจะทำจากแผ่นเนื้อทองแดง ทองเหลือง และเนื้อเงิน นำมาม้วนประมาณ 3-4 รอบ รูตะกรุดค่อนข้างโต มีความยาวต่างกันไป ตั้งแต่ 1-5 นิ้ว
ส่วนยุคหลัง จัดทำเป็น "ตะกรุดเป่าแล่น" ซึ่งนามนี้เป็นมงคล พุทธคุณในเรื่องความสำเร็จและโชคลาภ เลยทำให้กลายเป็นของหายากและสนนราคาเล่นหาสูง วัสดุที่ทำใช้ท่อเหล็กยาวคล้ายก้านร่ม เป่ากับตะเกียงลาน เพื่อให้ตะกั่วสมานกับรอยต่อตะเข็บให้เป็นเนื้อเดียวกัน ในระยะแรกเชื่อมรอยต่อของตะกรุดแผ่นทองแดง หรือแผ่นทองเหลือง ที่ม้วนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ยุคต่อมาใช้แผ่นนาก แผ่นเงิน และแผ่นทอง ห่อหุ้มตะกรุดทองแดงที่ม้วน 3-4 รอบ ไว้อีกชั้นหนึ่ง มีความยาวต่างกันไปตั้งแต่ 1 นิ้ว ถึง 3.5 นิ้ว โดยหลวงปู่บุญยังท่านเป่ามนต์คาถาด้วยตัวท่านเอง
สำหรับ"วิชาตะกรุดเป่าแล่น"เป็นวิชาที่สืบทอดกันมาของสายวัดสะพานสูง ตามประวัติที่เล่าขานกันมา ตั้งแต่ยุคหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่กลิ่น, อาจารย์แปลก จนมาถึงหลวงปู่บุญยัง วัดบางจาก นับเป็นสุดยอดแห่งโภคทรัพย์ และโชคลาภ และสร้างไว้น้อยมากๆ คนปากเกร็ดกล่าวกันว่า ตะกรุดหลวงปู่บุญยังหายากกว่าตะกรุดหลวงปู่กลิ่นหลายเท่าตัว
จากคำบอกเล่าของพระครูกิตตินนทคุณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน กล่าวว่า เมื่อปี 2554 เสาหงส์หน้าโบสถ์จำนวน 2 ต้น ด้านขวาของโบสถ์ได้ใส่ตะกรุดเงินเป่าแล่นขนาด 3 นิ้ว ซึ่งได้รับมอบจาก "นายถวิล ทวีกูล" ด้านซ้ายของโบสถ์เป็นตะกรุดทองแดงขนาด 3 นิ้ว ซึ่งได้รับมอบจาก "นายจาบ หอมเตย" ใส่ไว้ในยอดเสาหงส์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา และระลึกถึงหลวงปู่บุญยังที่มีคุณูปการต่อวัดบางจากและพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย
วาระสุดท้าย หลวงปู่บุญยังมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2503 สิริอายุ 76 ปี พรรษา 56
#ฉัตรสยาม
Comments