วันที่16 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ “พระครูภาวนาภิรัต” หรือ “หลวงปู่ทิม อิสริโก” อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2422 มรณภาพเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2518 รวมสิริอายุ 96 ปี 72 พรรษา ขอบุญบารมีหลวงปู่ทิม ช่วยหนุนนำให้บรรดาศิษย์ที่ศรัทธามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เจริญในหน้าที่การงาน ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีทุกท่านทุกคนเทอญฯ “อิติสุคะโต อะระหัง พุทโธ นะโม พุทธายะ มะอะอุ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา พุทโธ พุทโธ” สาธุ
ถือเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมมาแรงมาก “พระกริ่งชินบัญชร” หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ปัจจุบันสนนราคาเล่นหาสูงมาก และหายากสุดๆ รวมถึงวัตถุมงคลประเภทรูปเหมือน เหรียญ และเครื่องรางของขลังต่างๆด้วย
หลวงปู่ทิม ท่านมีนามเดิมว่า “ทิม งามศรี” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2422 เมื่ออายุ 17 ปี บิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อสิงห์ วัดละหารใหญ่ เล่าเรียนหนังสือทั้งไทยและอักษรขอม เมื่ออายุครบบวชได้เข้าอุปสมบทที่วัดทับมา โดยมี พระครูขาว เจ้าคณะแขวงเมืองระยอง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อสิงห์ เป็นกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการเกตุ เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “อิสริโก”
หลังบวชแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมกับหลวงพ่อสิงห์ และศึกษาวิชาต่างๆ จากตำราคู่วัดละหารใหญ่ ซึ่งเป็นตำหรับเดิมของหลวงปู่สังข์เฒ่า จนมีความรู้แตกฉาน จากนั้นท่านได้ออกจาริกปฏิบัติธุดงค์กับหลวงพ่อยอด ครั้นเมื่อใกล้เข้าพรรษาได้กลับมาที่จังหวัดชลบุรี จำพรรษาที่วัดนามะตูมถึง 2 พรรษา ร่ำเรียนศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับพระเกจิอาจารย์ดังหลายรูป
จากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดละหารไร่ และได้รับนิมนต์จากชาวบ้านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ ด้วยความเป็นพระที่มากเมตตาจึงมีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธาท่านมากมาย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ท่านได้ละสังขารเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2518 สิริอายุ 96 ปี 72 พรรษา
ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยมจากนักสะสมอย่างมาก สนนราคาเล่นหาสูงๆทั้งนั้น อาทิ พระขุนแผนผงพรายกุมาร สภาพสวยๆสู้กันถึงหลักแสน
ประเภทเหรียญรูปเหมือนก็ไม่ธรรมดา รวมถึง “พระกริ่งชินบัญชร” ด้วย
“พระกริ่งชินบัญชร” ของหลวงปู่ทิม ประกอบพิธีเททองหล่อที่ลานวัดละหารไร่ ตรงกับบริเวณที่ตั้งของศาลาภาวนาภิรัตในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2517 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ปี ขาล เวลา 08.49 น.ลัคนาสถิตเทวีแห่งฤกษ์วางฤกษ์ พอได้เวลา 06.45 น. หลวงปู่ทิม จุดเทียนชัยพระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์แล้วสวดคาถาจุดเทียนชัย (ฤกษ์ในการจุดเทียนชัย)
การหล่อพระกริ่งชินบัญชรครั้งนั้นอยู่ในช่วงฤดูฝนและเป็นระยะที่มีฝนตก แต่ในเวลาที่เททองหล่อพระชุดชินบัญชรนี้ บริเวณวัดละหารไร่กลับไม่มีฝนตกเลย ทั้งที่รอบนอกห่างจากวัดไปไม่เท่าไร มีฝนตกหนักมากจวบจนเททองหล่อพระกริ่งเสร็จ ฝนจึงตกลงมาอย่างหนัก ผู้คนทั่วไปเห็นความมหัศจรรย์นี้ ผู้คนที่มาจึงเริ่มหาใบจองพระในครั้งนั้น
วัตถุประสงค์การสร้างพระชุดชินบัญชรเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่จะร่วมบริจาคเงินสำหรับซ่อมสร้างถาวรวัตถุในวัดละหารไร่ ซึ่งกำลังชำรุดทรุดโทรม โดยเฉพาะพระอุโบสถซึ่งสร้างด้วยไม้ พระประธานซึ่งปั้นด้วยดินดิบโดยฝีมือของหลวงปู่ทิมกำลังพัง พื้นอุโบสถที่เป็นดินดิบแบบแข็งกะเทาะ พิ้นเจิ่งนองไปด้วยน้ำ มีเพียงอุโบสถซึ่งกำลังก่อสร้างแต่ยังไม่แล้วเสร็จ หลวงปู่ทิมเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่มาตั้งแต่หนุ่มๆ เพราะท่านบวชตั้งแต่อายุ 23 ปี และเป็นเจ้าอาวาสมานานหลายสิบปี
พุทธลักษณะของพระกริ่งชินบัญชร ได้ถอดแบบมาจากพระกริ่งใหญ่ของจีนซึ่งมีอายุราว 800-1,000 ปี ลักษณะเป็นพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้าประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์บัว 2 ชั้น ด้านหลังไม่มีบัว พระหัตถ์ซ้ายทรงถือหม้อยาอัคตะ พระหัตถ์ขวาทรงวางอยู่เหนือพระชานุ ขัดสมาธิเพชร พระเกศาเป็นเม็ดกลมๆ จัดว่าสวยงามพอสมควร ใต้ฐานปิดด้วยแผ่นทองคำ เงิน หรือทองแดง พระทุกองค์จะมีหลายเลขกำกับและตอกโค้ดไว้ที่ด้านหลังองค์พระเหมือนกับทุกองค์
ตอนที่พระกริ่งชินบัญชรออกมาใหม่ๆ ผู้จองต่างผิดหวังที่พระออกมาไม่ค่อยสวย พระกริ่งที่ออกให้บูชาองค์ละ 300 บาท เมื่ออกแล้วเคยมีผู้นำมาคืน เมื่อหลวงปู่ทิมทราบท่านกลับบอกว่า “อีกหน่อยพลิกแผ่นดินหาก็ไม่เจอ” เมื่อกาลเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคำบอกของหลวงปู่ท่านเป็นจริงแล้ว
พระชุดชินบัญชร เททองเสร็จเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2517 แล้วได้นำกลับไปตกแต่งที่โรงหล่อ เสร็จแล้วจึงนำกลับไปถวายแด่หลวงปู่ทิม โดยท่านปลุกเสกอีก 7 วัน 7 คืน จากนั้นจึงนำไปดอกโค้ด ซึ่งพระชุดชินบัญชรแบ่งออกได้ดังนี้ 1.พระกริ่งชินบัญชร เนื้อทองคำ สร้างจำนวน 13 องค์ ทุกองค์จะตอกเลขไทยตั้งแต่ ๑-๑๓ ไว้ที่ใต้ฐานมีโค้ตตราศาลาอยู่และปิดก้นด้วยแผ่นทองคำ ด้านหลังตอกโค้ดตัวนะเล็กๆ ไว้ทุกองค์
2. พระกริ่งชินบัญชรก้นเงิน คือมีแผ่นเงินไว้ที่ฐานตอกโค้ดศาลาและตอดโค้ดตัวนะที่ด้านหลัง โดยพระกริ่งก้นเงินแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ชุดก้นเงินแจกกรรมการ สร้างจำนวน 195 องค์ ด้านหลังตอกโค้ดตัวนะใต้ฐาน มีแผ่นเงินตอกโค้ดศาลา ชุดนี้ไม่ได้ตอกหมายเลขกำกับ พระกริ่งชินบัญชรก้นเงินอีกจำนวน 195 องค์ เหมือนชุดแรกทุกอย่าง แค่ตอกหมายเลข ๑-๑๙๕ ไว้ที่ด้านหลัง ซึ่งพระชุดนี้ถวายวัดเจ้าเจ็ด ในนาม “พระอาจารย์ทองเจือ” เพื่อช่วยหาปัจจัยเสร้างวัดเจ้าเจ็ด อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
พระกริ่งชินบัญชรก้นเงิน เนื้อพิเศษ สร้างจำนวน 16 องค์ พระชุดนี้ก้นหุ้มเงิน บุ๋ม เป็นท้องกระทะ ผู้ที่ร่วมทำด้วยเห็นหุ้มก้นแบบนี้สวยดี จึงเอาพระกริ่งตีก้นเงินหุ้มไว้ใช้เองอีกประมาณ 20 องค์ รวมพระนี้ก้นเงินและก้นหุ้มเงินมีจำนวนทั้งสิ้น 406 องค์
3.พระกริ่งชินบัญชรก้นทองแดง จะปิดแผ่นทองแดง ไว้ใต้ฐานและตอกหมายเลข ๒-๒๕๙๕ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,595 องค์ เลข 95 ด้านท้ายมาจากอายุหลวงปู่ทิม พระก้นทองแดงทุกองค์ตอกโค้ดตัวนะไว้ด้านหลัง
พระกริ่งชินบัญชรของหลวงปู่ทิมยังมีแบบพิเศษต่างๆ อีก เช่น ก้นอุดผงพรายกุมาร แต่พระมีจำนวนน้อยทำเอาไว้ใช้กันเองในหมู่ลูกศิษย์ อย่างไรก็ตามพระกริ่งชินบัญชรเป็นวัตถุมงคลที่นับวันจะมีค่านิยมเล่นหาสูงขึ้น ปัจจุบันของเก๊เฉียบขาดระบาดหนัก ฉะนั้นนักสะสมมือใหม่ต้องศึกษาให้ดี หรือปรึกษาบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญก่อน
Comments