







สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นองค์ประธานสรงน้ำ พระมหาธาตุรามัญเจดีย์ แห่งวัดทรงธรรมวรวิหาร เด่น กีรติ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ รายงานว่า วันที่ 16 เมษายน 2563 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เมตตาเป็นองค์ประธานสรงน้ำพระมหาธาตุรามัญเจดีย์ วัดทรงธรรมวรวิหาร "พระมหารามัญเจดีย์ แห่งวัดทรงธรรมวรวิหาร เมืองปากลัด"อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยมี พระราชพัฒนสุนทร (เจ้าคุณหมู) เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร จ.สมุทรปราการ ร่วมพิธีสำคัญนี้ด้วย ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะศรัทธาและประชาชนทั่วไป และขออำนาจบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยขับไล่โรคภัยไข้เจ็บให้มลายหายสิ้นไปจากประเทศไทย
กล่าวสำหรับพระเจดีย์องค์นี้เป็นพระเจดีย์แบบรามัญ ฐานของพระเจดีย์มีลักษณะสี่เหลี่ยม มีเจดีย์องค์ใหญ่กว้าง ๑๐ วา ๒ ศอก สูงจากพื้นถึงยอดฉัตร ๑๑ วา ๓ ศอก และพระเจดีย์องค์เล็ก ๔ องค์ แต่ละองค์กว้าง ๕ ศอก สูง ๓ วา ๑ ศอก
ประวัติของพระมหาเจดีย์องค์นี้มีอยู่ว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยหม่อมเกษร แต่ยังสร้างไม่ทันแล้วเสร็จ สร้างได้แค่เพียงครึ่งขององค์พระเจดีย์เท่านั้น ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงษ์สร้างต่อจนแล้วเสร็จ ในสมัยของพระปลัดแทนเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาในสมัยพระธรรมวิสารทะ (สุก พุทฺธรํงสี) เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการปฏิสังขรณ์ฉาบปูนและเทคอนกรีตรอบฐานของพระเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ พร้อมทั้งได้บรรจุพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษไว้ในครั้งนี้ด้วย
ที่มา : อาจารย์กษิด์เดช เนื่องจำนงค์ หนังสือ "๒๐๐ ปี วัดทรงธรรมวรวิหาร" เรื่อง : แอดมิน มิสมะตาด ภาพ : ปฐมพร มะเดชะ ประวัติวัด วัดทรงธรรมวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นโท ชั้นวรวิหาร เป็นวัดรามัญมาแต่เดิม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์) ทรงสร้างพร้อมกับการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ มีกุฏิ และพระอุโสบสถเป็นเครื่องไม้ฝากระดาน เมื่อปี พ.ศ. 2357 – 2358 อยู่ห่างจากฝั่งเจ้าพระยาประมาณ 2 เส้น หลังจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2360 สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดใก้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เพิ่มเติม ได้สร้างป้อมขึ้นใหม่ คือ “ป้อมเพชรหึง” โดยใช้อาณาบริเวณวัดทรงธรรม จึงโปรดให้ย้ายวัดทรงธรรมอยู่ในกำแพงป้อมทำให้ได้กุฏิเป็น 3 คณะต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่า วัดชำรุดทรุดโทรมมากจึงโปรดให้พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) รื้อกุฏิทั้ง 3 คณะมาสร้างรวมเป็นหมู่เดียวกัน
ครั้นขึ้นปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 เป็นปีที่ 7 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแปลชื่อ วัดทรงธรรม เมืองนครเขื่อนขันธ์ว่า “วัดดำรงค์ราชกรรม” ต่อมาภายหลังกลับมาใช้ชื่อว่า “วัดทรงธรรม” เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน
สำหรับชื่อวัดมีข้อสันนิษฐานว่า มาจากความเชื่อของชาวมอญที่มักยกย่องผู้มีคุณธรรมโดยกล่าวเป็นภาษารามัญว่า “เมินโท่” ซึ่งแปลว่า “ผู้ทรงธรรม” อันหมายความถึง ชาวมอญยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า เป็นผู้ทรงธรรมชื่อวัดทรงธรรมนั้น ครั้งหนึ่งชาวบ้านเคยเรียกว่า แผ่พระครู หรือ วัดพระครู ด้วยคำว่าพระครูนี้ มาจากวัดทรงธรรมเป็นวัดหลวง เจ้าอาวาสที่ประจำวัดจะต้องมีสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรมีพระรามัญเจดีย์องค์ใหญ่ ศิลปะรามัญ พระวิหารก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้สัก ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระประธานเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัยภายในวัดมีพระมหาธาตุรามัญเจดีย์ในรูปแบบมอญ เสาหงส์ ธงตะขาบ สัญลักษณ์แสดงตัวตนของชาวมอญ ที่ได้รับการสืบทอดทางวัฒนธรรมประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน และที่วัดยังเป็นศูนย์กลางการจัดงานประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ ในช่วงสงกรานต์ประจำทุกปีอีกด้วย การเดินทางมาวัดสะดวก หาง่าย อยู่ใกล้ตลาดพระประแดง
Comments