top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"หลวงตาสุ่ม สิรินฺธโร"วัดหนองหว้า

"หลวงตาสุ่ม สิรินฺธโร"วัดหนองหว้า

เกจิโคราชทายาทพุทธาคม"หลวงปู่คง"

อดีตอาจารย์สักยันต์-ตำนานสายเหนียว


พระดีเกจิดังแห่งเมืองย่าโมที่กราบไหว้ได้สนิทใจในยุคนี้อีกรูป...พระครูสิทธิธรรมธร (สุ่ม สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดหนองหว้า อ.คง จ.นครราชสีมา อายุ83ปี ศิษย์พุทธาคมสายตรง

หลวงปู่คง ฐิติปัญโญ วัดตะคร้อ ทุกคนจะเรียกท่านว่า หลวงตาสุ่มบ้าง หลวงพ่อสุ่มบ้าง หลวงปู่สุ่มบ้าง บางท่านก็เรียก"หลวงเตี่ย" ทุกสรรพนามที่เรียกล้วนมาจากความรักและเคารพสุดหัวใจของศิษยานุศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อท่าน

ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์แรม 3 ค่ำ เดือน 9 ปีพ.ศ.2482 ปีเถาะ ณ บ้านต.หนองมะนาว อ.คง จ.นครราชสีมา สำหรับที่มาของชื่อ"สุ่ม" มูลเหตุคือครอบครัวท่านมีอาชีพทำนา เมื่อบิดามารดาลงนาก็จะเอาท่านขังสุ่มไก่เอาไว้ เพื่อป้องกันอันตรายจากการเล่นซุกซน ท่านจึงถูกขนานนามว่า "สุ่ม"ตั้งแต่นั้นมา


เมื่อท่านเจริญเติบโตขึ้นบิดามารดาจึงนำท่านไปฝากเรียนที่วัดประคำอารามศรี ได้ศึกษาอักขระขอม ไทย บทมนต์ต่างๆจากพระอาจารย์พร และพระอาจารย์จี่ ต่อมาท่านได้ออกท่องเที่ยวหาความรู้ โดยเดินทางไปแถบจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ซึ่งแต่ก่อนไม่เจริญเต็มไปด้วยชุมโจร ไปจนถึงเขาลูกหนึ่งเรียกกันว่า "เขตสิงห์ป่าซุง" ซึ่งเขาลูกนี้ชุมเสือแบ่งกันปกครอง มี 4 ชุมเสือ โดยจะไม่ข้ามเขตกัน ใครหลงเข้าไปมีแต่ตายกับตาย

แต่ท่านอยากได้วิชาจึงข้ามไปจนถึงเขตจังหวัดชลบุรีเพื่อไปฝากตัวเป็นศิษย์"อาจารย์ปรั่ง" อาจารย์สักยันต์ชื่อดังแห่งเมืองชลบุรีในสมัยนั้น ซึ่งถือเป็นรอยสักแรกที่ท่านได้รับการประสิทธิประสาท

แม้ท่านจะมีของดีไว้ป้องกันตัว เที่ยวงานบ้านไหนไม่เคยมีเรื่องกับใคร นอกจากว่า จะมีคนมาหาเรื่องก็ไม่ยอมให้ใครมาหยามได้ จึงเป็นที่รักของเพื่อนๆ เพราะเป็นคนจริง มีสัจจะเป็นที่ตั้ง เที่ยวทำงานและเรียนวิชาตามที่ต่างๆ มาจนถึงระยะหนึ่งเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยไข้ดง เนื่องจากตรากตรำงานในป่าดงเป็นเวลานาน รักษาอย่างไรก็ไม่หาย บิดามารดาจึงนำไปฝากตัวเข้าสู่บวรพุทธศาสนา กราบลาอุปสมบทในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 ณ อุโบสถวัดตะคร้อ โดยมีพระครูคงคนครพิทักษ์ (หลวงปู่คง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสมจิตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาประเสริฐ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า"สิรินฺธโร"


หลังอุปสมบทปรากฏว่าโรคภัยต่างๆหายสิ้นจึงตัดสินใจถวายชีวิตเป็นพุทธบูชาตั้งแต่นั้นมา จากนั้นได้มาจำพรรษาอยู่กับพระครูประโชติธรรมพิทักษ์ (หลวงพ่อแสน) เจ้าอาวาสวัดหนองหว้า ซึ่งเปรียบเสมือนพี่ชายของท่าน และเป็นพระนักเทศน์ชื่อดังในสมัยนั้น โดยท่านเก็บตัวเงียบ อาศัยอยู่กุฏิเล็กในสวนป่าของวัด เร่งเพียรวิชา ฝึกฝนวิชาอาคมต่างๆ เมื่อสงสัยในธรรมะก็จะถามหลวงพ่อแสน เมื่อสงสัยในวิชาอาคมต่างๆ ก็จะไปสอบถามหลวงปู่คง พระอุปัชฌาย์ซึ่งถือเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศองค์หนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นพระเกจิดังๆในโคราชก็ต้อง3รูปนี้คือ 1.หลวงปู่นิล วัดครบุรี 2.หลวงปู่คง วัดตะคร้อ 3.หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่


สำหรับวิชาที่ท่านได้มามากที่สุดคือวิชาของหลวงปู่คง วัดตะคร้อ อีกทั้งได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับพระเถราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสมัยนั้นคือ เจ้าคุณพระปทุมญาณมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้นและหลวงพ่อพระมหาธนิต ปัญญาปสุตโต ปธ.9 นอกจากนี้ยังได้ร่วมธุดงค์พระวิปัสสนาจารย์แห่งประเทศไทยกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ)วัดมหาธาตุอีกด้วย


ท่านมุ่งมั่นศึกษาวิชาอาคมจากพระเกจิอาจารย์และฆราวาสผู้เรืองเวทย์ในสถานที่ต่างๆทางไปจนถึงสระบุรี วนมาถึงหนองคาย แล้วขึ้นเหนือไปเชียงรายแล้วกลับมายังวัดหนองหว้า ศึกษาวิชาอาคมต่อกับหลวงปู่ก่ำ วัดบ้านไร่ หลวงปู่ธัมมา ซึ่งทั้ง2รูปนี้เป็นทายาทศิษย์เอกหลวงปู่เสี่ยง วัดเสมาใหญ่ โดยได้รับถ่ายทอดวิชาถ่ายรูปให้รูปขลัง วิชาเสกด้าย และพระคาถาต่างๆ


ครั้งหนึ่งสมัยที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จำพรรษาอยู่ที่วัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราช สีมา ท่านได้ไปกราบขอบารมี หลวงพ่อคูณถามท่านว่า “พระสูบยาเป็นไหม” ท่านตอบว่า “เป็นครับ” แล้วก็นั่งสูบยาอยู่ด้วยกัน จากนั้นหลวงพ่อคูณจึงทำพิธีฝังตะกรุดทองคำให้ และได้ศึกษาตำราพระครูสิทธิบริหาร (หลวงปู่ขุน) ศึกษาตำราหลวงปู่เขียว วัดปอบิด

หลวงปุ่สุ่มท่านเป็นอาจารย์สักยันต์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ในหมู่ชายชาตรี มักกล่าวกันว่า สักยันต์กับพระอาจารย์สุ่มเหนียวจนหมากัดไม่เข้า โดยท่านเล่าถึงมูลเหตุแรกเริ่มก่อนที่จะได้มาสักยันต์ เริ่มจาก"อาจารย์สี"จังหวัดเชียงรายเป็นผู้ทรงคาถามาก ท่านมีลูกศิษย์ชื่อ"สี" เหมือนกัน (หมอลำสี หาเหตุ) ได้นำหมอลำไปแสดงที่เชียงรายแล้วเกิดมีเรื่องกับนักเลงเจ้าถิ่นต่างคนต่างไม่ยอมกัน ทั้งยิงกัน ฟันกัน แต่ไม่มีใครทำอะไรกันได้ ต่างคนต่างเหนียว จึงสอบถามปรากฏว่าเป็นศิษย์ครูเดียวกัน เช้าวันต่อมาจึงไปกราบอาจารย์สี และเป็นเพื่อนกันตั้งแต่นั้นมา


ด้วยเหตุนี้"หมอลำสี"จึงนำคาถาที่อาจารย์สี มอบให้ นำมาพร้อมหมู่เพื่อนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเดินทางไปถึงจังหวัดเชียงรายได้ แต่อยากมีลายสักเหมือนหมอลำสีบ้าง มาขอร้องและมอบคาถาอาจารย์สี ให้หลวงปู่สุ่มทำพิธีสักให้ ท่านพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นวิชาที่ขลังมาก จึงทำพิธีขอวิชาท่านเจ้าของตำราและทำพิธีสักให้บนโรงลิเกเก่า วัดหนองหว้า ปรากฏว่าพวกที่สักไปได้พบเจอกับปฏิหาริย์ต่างๆ ทั้งหมากัดไม่เข้า เข็มฉีดไม่เข้า ฟันแทงไม่เข้า ทำให้ชายหนุ่มทั้งหลายต่างแห่มาขอสัก กล่าวได้ว่า หากเจอคนอายุสัก40-60 ปี เกือบทั้งหมดในหมู่บ้านล้วนมีลายสักยันต์หลวงปู่สุ่มกันทั้งนั้น แต่ปัจจุบันท่านเลิกสักแล้ว


ลูกศิษย์รุ่นแรกๆที่เป็นที่รู้จักและมักพูดถึงอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือนายดี บ้านโนนแดง ศิษย์ผู้ได้รับการสักจากท่าน นายดีผู้นี้ไม่ธรรมดา ตีรันฟันแทงรอดทุกครั้ง เป็นคนใจนักเลง ครั้งหนึ่งถูกรุมจากคู่อริ ชาวบ้านต่างพูดกันว่ายังไงก็ไม่รอด เมื่อคู่อริหนีไปแล้ว นายดีไม่มีเลือดออกแม้แต่หยดเดียว ยกมือขึ้นหัว ลูบหัว แล้วเดินกลับบ้านแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่างร่ำลือถึงวิชาในตัวนายดี แต่สุดท้ายก็เสียชีวิต เพราะไปสักทับรอยที่ท่านเคยสักให้ จึงทำให้วิชาอ่อนลงและศัตรูสามารถทำร้ายได้ ท่านพูดด้วยความสงสารศิษย์ที่ไม่ฟังคำท่านที่เคยบอกไว้ว่า ห้ามสักทับรอย


หลวงปู่สุ่มท่านให้ความเมตตาแก่คนทุกชนชั้น เมื่อลูกหลานไม่สบาย ค้าขายไม่ดี จะเดินทางใกล้ไกล ตั้งแต่เกิดจนตายเมื่อมีความเดือดร้อนก็จะมาให้ท่านช่วยปัดเป่าให้ทุกรายไป โดยท่านจะให้หันหน้าเข้าฝา เป่าๆ เสกๆ เป็นอันใช้ได้ จึงมีฉายาที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อแสนชอบสวด หลวงพ่อสุ่มชอบเสก” ความหมายคือ หลวงพ่อแสน ท่านเป็นพระที่ทรงภูมิความรู้ สวดบทไหนเป็นล้มบท ไม่มีการตัดบทแม้แต่บทเดียว พระในวัดต่างให้ความเคารพและเกรงใจท่านมาก ถ้าท่านพูดคำเดียวไม่ว่าชาวบ้านหรือพระก็ต้องฟังท่านหมด ส่วนหลวงปู่สุ่มเป็นผู้ช่วยเป็นผู้ทรงเวทย์วิทยาคม เก่งในด้านการปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่างๆ เริ่มจากการเป็นอาจารย์สักยันต์ ทำตะกรุด ผ้ายันต์ พระผง ตามโบราณจารย์ท่านเคยทำมา


ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า ได้นั่งอยู่ในโบสถ์วัดแห่ง หนึ่งได้เห็นกระดาษเป็นรูปยันตจึงจดจำวิธีลงและเสกยันต์นั้นได้จนขึ้นใจ แล้วนำมาทำตะกรุด ลองให้ลูกศิษย์ยิง ปราฏกว่า ยิงไม่ออก ท่านว่าวิชานี้ใช้ได้จึงถือมาตั้งแต่นั้น


ในปี พ.ศ.2542พระครูประโชติธรรมพิทักษ์ (หลวงพ่อแสน) เจ้าคณะอำเภอคง เจ้าอาวาสวัดหนองหว้า อาพาธหนัก และมรณภาพในเวลาต่อมา ภาระงานต่างๆจึงตกมาที่หลวงปู่สุ่ม ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน โดยท่านกล่าวว่า “ตำแหน่งเจ้าอาวาสไม่ปรารถนาเลย เพราะภาระมาก ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อชาวบ้านไม่มีที่พึ่งก็ต้องเป็นที่พึ่งให้เขา” ต่อมาในปีพ.ศ.ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น"พระครูสิทธิธรรมธร"


ท่านได้สืบสานงานที่หลวงพ่อแสนเคยทำไว้ ทั้งการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่,สืบสานงานปริวาสกรรม พัฒนาจนเป็นที่รู้จักกันดีว่าระหว่างวันที่ 1-10 เมษายนทุกปี จะมีพระภิกษุมาร่วมงานจากทั่วประเทศ และมีอุบาสกอุบาสิกาเดินทางมาจำนวนมากเพื่อมาชำระศีลให้บริสุทธิ์


หลวงปู่สุ่มท่านเป็นพระที่มีดีในตัว แต่ท่านจะสงบนิ่งไม่โอ้อวด หลายสรรพวิชาที่ท่านใช้เวลาศึกษาหลายสิบปีและทดลองจนแน่ใจจึงออกมาเป็นคาถาบทต่างๆ ออกมาเป็นวัตถุมงคลแบบต่างๆ ถ้าไม่มีคนถาม ท่านจะไม่พูดเลยว่ามีวิชาอะไร เรียนมาจากใคร แม้แต่ถามท่านก็ไม่ค่อยจะเปิดเผยเพราะท่านคมในฝักแก่กล้าในวิชาอาคม


ทั้งนี้ หากกล่าวถึงท่าน ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า นึกถึงของขลัง บรรดาแม่ค้าก็จะบอกว่าของหลวงตาสุ่มเป็นเมตตามหานิยมดี พวกไหนชอบนักเลงก็จะบอกว่าของหลวงพ่อสุ่มเหนียวดี! ใครชอบเสี่ยงโชคก็จะบอกว่าของหลวงเตี่ยโชคลาภดีตามความศรัทธาของแต่ละคน




ดู 25 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page