top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"หลวงพ่อกี๋"เกจิดังวัดหูช้าง นนทบุรี ศิษย์หลวงพ่ออี๋-สายวิชาวัดประดู่ฯ

"หลวงพ่อกี๋"เกจิดังวัดหูช้าง นนทบุรี

ศิษย์หลวงพ่ออี๋-สายวิชาวัดประดู่ฯ

1ใน4ปลัดขิกยอดนิยม“เหลือ-อี๋-กี๋-ฟัก”

วัดหูช้างเป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ต.คูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จากหลักฐานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น วิหาร เจดีย์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา อดีตเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ พระครูกิตตินนทคุณ หรือ“หลวงพ่อกี๋”พระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและเก่งกล้าทางด้านคาถาอาคม การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ผีเข้าหรือถูกคุณไสยต่าง ๆ โดยหลวงพ่อกี๋ ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ หลวงปู่แดง วัดตะเคียน หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เจ้าคุณโพธิ์ วัดชัยพฤกษ์มาลา และศิษย์ก๋งจาบ แห่งสำนักวัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา แม้ท่านจะมรณภาพไปกว่า 30 ปี แต่ชื่อเสียงและวัตถุมงคลยังเป็นที่กล่าวขานไม่รู้จบ

สำหรับศิษย์เอกทายาทพุทธาคมที่เหลืออยู่เพียงรูปเดียวและมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปู่กี๋ คือ พระครูสุวรรณโชติวุฒิ หรือ “หลวงพ่อตี๋” เจ้าอาวาสวัดหูช้างรูปปัจจุบัน โดยท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากหลวงปู่กี๋มาหมดสิ้น ว่ากันว่า การเขียนยันต์ของหลวงพ่อตี๋นั้น หลวงพ่อกี๋ท่านเป็นคนจับมือหลวงพ่อตี๋เขียนกันเลยทีเดียว อาจกล่าวได้ว่า หลวงพ่อตี๋เป็นพระเกจิอาจารย์ที่สืบสายพุทธาคมหลายอาจารย์มาแล้วอย่างเข้มขลัง โดยเฉพาะวิชาสายวัดประดู่ทรงธรรม ที่ถือว่าเป็นตักศิลาของผู้ปรารถนาเรียนรู้วิชาอาคมต่าง ๆ

หลวงพ่อกี๋เกิดในสกุล “บุญใจใหญ่” เมื่อปี พ.ศ.2444 ส่วนวันที่เกิด ไม่ทราบหลักฐานแน่ชัด โยมบิดาชื่อ “นายคอย” โยมมารดาชื่อ “นางไฝ” ซึ่งมีเชื้อสายตระกูล “รัตนชื่น” มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน 13 คน ครอบครัวของท่านเป็นชาวจังหวัดนนทบุรีโดยกำเนิด โยมบิดาของท่านเป็นหมอยาโบราณ ต้นตระกูลของหลวงพ่อกี๋ทุกคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นหมอรักษาโรค ชีวิตในวัยเยาว์ท่านให้ความสนใจและศึกษาตำราการทำน้ำมนต์รักษาโรคต่างๆ โดยได้ศึกษาวิชาการทำน้ำมนต์จากโยมปู่ของท่านซึ่งเก่งทางด้านการทำน้ำมนต์รักษาโรคต่างๆ กล่าวได้ว่าใครมีโรคอะไรก็จะเดินทางมาหา เนื่องจากสมัยนั้นโรงพยาบาลต่างๆยังไม่ค่อยมี จนต่อมาชาวบ้านต่างขนานนามท่านว่า“หมอบุญเทวดา”

เมื่อท่านอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ โยมบิดา-มารดาก็จัดการอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดหูช้าง เมื่ออุปสมบทแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดหูช้าง หลังจาก 2 พรรษาผ่านไปก็ได้ออกธุดงควัตรไปตามป่าเขาต่างๆ เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน บำเพ็ญภาวนา โดยท่านมีความมุ่งมั่นฝึกสมาธิเจริญภาวนาด้วยจิตที่ยึดมั่น และไม่ตั้งอยู่ในความประมาท จนจิตรวมเข้าสู่ฐานของสมาธิ ทำให้เกิดความสุขและความอิ่มเอิบ

เมื่อบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ตามป่าตามเขาพอควรแก่เวลาแล้ว จึงออกธุดงควัตรต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้พบกับ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี เกจิอาจารย์ดังเจ้าของ”ปลัดขิก”อันลือชื่อที่เล่าขานกันว่าสามารถวิ่งทวนน้ำได้ นอกจากปลัดขิกดังกล่าวแล้ว ก็ยังมี ตะกรุดธงผ้ายันต์สามเหลี่ยม พระเครื่อง พระสมเด็จ กำไล เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อกี๋ และว่าน เป็นต้น

นับเป็นโอกาสดีของหลวงพ่อกี๋ เพราะหลวงพ่ออี๋ได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆให้ โดยเฉพาะเคล็ดลับการสร้างปลัดขิก ซึ่งภายหลังท่านได้จัดสร้างขึ้นตามตำรับผู้เป็นอาจารย์จนโด่งดังด้วยประสบการณ์มากมายเช่นกัน

หลวงพ่อกี๋เป็นพระเกจิที่สืบทอดวิชาสายวัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเรียนวิชามาจาก “ก๋งจาบ” ฆราวาสขมังเวทย์ สำหรับศิษย์ร่วมสำนักที่มีความสนิทสนมกัน และมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมี 2 ท่านคือ หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช และ หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน ราชบุรี โดยเฉพาะหลวงพ่อเทียมจะมีความสนิทสนมกันมาก มักจะไปมาหาสู่กันเสมอในตอนที่ท่านมีชีวิต

ในสมัยก่อนพิธีปลุกเสกพระเครื่องถ้ามีหลวงพ่อเทียมก็จะต้องมีหลวงพ่อกี๋อยู่เคียงคู่ด้วยกัน เช่น พิธีปลุกเสกพระเครื่องวัดฉลอง ภูเก็ต ปี 2511-2512 พิธีปลุกเสกพระพุทธชินราช กองทัพภาคที่ 3 พิธีปลุกเสกวัดท่าเกวียน ฉะเชิงเทรา ปี2514 เป็นต้น

สำหรับพระเครื่องของหลวงพ่อกี๋ ทุกรุ่นมีประสบการณ์ดีมากมายทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น คงกระพัน เมตตา แคล้วคลาด พระของท่านเท่าที่ดูตามสนามยังไม่ค่อยมีของปลอมมากให้ปวดใจ แต่ในระยะหลังค่อยๆหายไปจากสนามพระ เข้าใจว่ามีคนคอยซุ่มเก็บเงียบๆเข้ารังหมด

สำหรับปลัดขิกของท่านเป็นปลัดขิกยอดนิยม 1 ใน 4 คณาจารย์ “เหลือ-อี๋-กี๋-ฟัก” หมายถึง หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก,หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ,หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง และหลวงพ่อฟัก วัดนิคมปะชาสรรค์

ปลัดขิกหรือ "พ่อเจ้าประคุณ" ของหลวงพ่อกี๋นั้นโดดเด่นทางเมตตามหานิยมและค้าขายเป็นอย่างมากรวมไปจนถึงเรื่องแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ปลอดภัย พกไว้ข้างกายเวลาพักแรมที่ไหนให้อาราธนาและระลึกถึงท่าน จะเป็นที่รักใคร่เอ็นดูแก่ผู้ที่พบเห็นและเป็นที่รักแก่ท่านเจ้าที่เจ้าทาง เนื่องด้วยท่านลง “นะระกะรัง” คือหัวใจเจ้าที่ไว้ด้วย

สำหรับคาถาที่ไว้อาราธนาหรือท่องกำกับปลัดขิกของท่านนั้นมีดังนี้ “มะอะอุ นะระการัง จะภะกะสะ จิตตังปุริโส จิตตังภะคินิเม เอหิ จิเจรุนิ เอหิ มนูญยัง จิตติจิตตัง ปิยังมะมะ นะมะพะทะ” ซึ่งก็คืออักขระเลขยันต์ที่ท่านได้ลงไว้ที่ตัวปลัดขิกนั่นเอง

ในกระบวนการสร้างวัตถุมงคลของท่านที่สร้างไว้แต่ละชนิด ส่วนมากนั้นท่านจะแจกฟรี จะมีเพียงวัตถุมงคลชนิดเดียวที่ต้องทำบุญนั้นก็คือ “ปลัดขิก” เคยมีลูกศิษย์ใกล้ชิดถามหลวงพ่อว่า "เหตุใดหลวงพ่อถึงไม่แจกปลัดขิกเหมือนวัตถุมงคลชนิดอื่นๆ” ท่านได้เมตตาตอบกับลูกศิษย์ว่า “ของของฉันดี ไม่ได้สร้างกันง่ายๆนะ บูชาไปแล้ว ก็เก็บไว้ให้ดีล่ะ"

“ปลัดขิกของข้าสร้างโบสถ์ได้” คือคำพูดที่ท่านมักพูดให้ลูกศิษย์ลูกหาท่านรวมไปจนถึงญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดฟังเสมอ โดยมีเรื่องเล่าที่หลวงพ่อกี๋ได้พูดติดตลกให้หลวงพ่อองค์หนึ่งซึ่งเคยไปกราบฟังว่า "ถ้าอาตมาไม่กลัวชาวบ้านญาติโยมเค้าด่า ก็ว่าจะปั้นรูปพ่อเจ้าประคุณ(หมายถึงปลัดขิกของท่าน) ไว้ที่หน้าบันโบสถ์ แล้วท่านก็หัวเราะชอบใจ" นั้นก็ถือว่าเป็นเครื่องการันตีว่า ปลัดขิกของท่านนั้นสร้างโบถ์ได้จริง ๆ

เหรียญหลวงพ่อกี๋นั้นมีหลายรุ่น เหรียญรุ่นแรกเนื้อทองแดง เป็นเหรียญที่หลวงพ่อดำริให้สร้างขึ้นมาเพื่อให้บูชาในงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถ ปี 2513 จำนวนการสร้าง เนื้อทองคำ 15 เหรียญ เนื้อเงิน 109 เหรียญ เนื้อนวโลหะ 109 เหรียญ เนื้อทองแดง 5,000 เหรียญ (นักสะสมสายนี้บางท่านระบุว่าเป็นรุ่น2 “บล็อกหัวโต”) ผู้แกะบล็อกแม่พิมพ์คือ “นายช่างเกษม มงคลเจริญ” ยอดฝีมือในยุคนั้น (นักสะสมสายนี้บางท่านบอกว่าเป็นรุ่น2 “บล็อกหัวโต”) เหรียญรุ่น 2 รุ่นผูกพัทธสีมา ปี2513 เหรียญรุ่น 3 ฉลองตราตั้งพัดยศปี 2515 เหรียญรุ่น4 ปี 2517 ฉลองอายุ 73 ปี เหรียญรุ่น 5 รุ่น “หน้าดุลายกนก” ปี2519

เหรียญรุ่น 6 รุ่น สามอาจารย์ ปี 2519 (จวน-แจ่ม-กี๋) พระอุปัชฌาย์จวน จันทภิกขุ เป็นเจ้าอาวาสถึงประมาณ ปี พ.ศ. 2485 ท่านเป็นพระยุคเดียวกับ หลวงพ่อแดง วัดตะเคียน และหลวงพ่อนก วัดโบสถ์บน เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเคยมาหล่อพระประธานในโบสถ์วัดหูช้าง เพราะพระประธานในโบสถ์มีพระนามว่า “พระพุทธนิมิตกิจจานุการ” หลวงพ่อจวนเป็นพระฝาแฝดกับหลวงพ่อแจ่ม ชาวบ้านเรียกว่า Wหลวงพ่อใหญ่-หลวงพ่อเล็ก” ส่วน หลวงพ่อแจ่ม คังฆโชติ เป็นเจ้าอาวาสก่อนหลวงพ่อกี๋ เหรียญรุ่น7 ออกวัดปางอโศก โคราช ปี 2521

รูปหล่อโบราณรุ่นแรก หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ "รุ่นเสาเข็ม" จัดว่าหายากถึงยากมาก ๆ สร้างขึ้นราวปีพ.ศ.2500 และแจกเรื่อยมาจนถึงปีพ.ศ.2512 ว่ากันว่าสร้างแค่ 500 องค์ สาเหตุที่เรียกว่า “รุ่นเสาเข็ม”นั้นก็เพราะว่าในสมัยก่อนหลวงพ่อท่านจะแจกรูปหล่อรุ่นนี้ให้กับคนที่มาช่วยแบกเสาเข็มโบสถ์และอีกจำนวนหนึ่งแจกให้ผู้บริจาคเงินสร้างโบสถ์ของวัดหูช้าง เหตุนี้ลูกศิษย์ลูกหาในยุคนั้นจึงขนานนามรูปหล่อรุ่นนี้ว่า"รุ่นเสาเข็ม"เรื่อยมา

พระสมเด็จหลังยันต์เฑาะว์อุมะอะ สร้างปี 2506 มีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ฐานแซม, พิมพ์ปรกโพธิ์ มวลสารพระสมเด็จวัดระฆังและบางขุนพรหมที่ชำรุดแตกหักจำนวนมาก นำเข้าปลุกเสกพิธีเดียวกับวัดประสาทบุญญาวาส สามเสน กทม. ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ในยุคนั้น โดยหลวงพ่อกี๋นั่งปรกอธิษฐานจิตร่วมกับพระเกจิอาจารย์ระดับตำนานรวม 108 รูป อาทิ พระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ หลวงพ่อ แช่ม วัดนวลนรดิศ พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา หลวงพ่อทบ วัดพระพุทธ บาทชนแดน หลวงพ่อสุด วัดกาหลง หลวงปู่ดู่ วัดสะแก หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงปู่เขียว วัดหรงบน หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม หลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว หลวงปู่นาค วัดระฆัง หลวงปู่ หิน วัดระฆังฯ หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง ฯลฯ

ในพิธีวัดประสาทฯนี้ ตะกรุดของหลวงพ่อกี๋ที่นำไปหลอมในเบ้าเพื่อหล่อพระ ปรากฏว่าไม่หลอมละลายสร้างความฮือฮาอย่างมาก

หลวงพ่อกี๋ท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2522 สิริอายุได้ 78 ปี ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านยังเป็นที่กล่าวขานกันสืบ เช่นเดียวกับพระเครื่องทุกอย่างที่ยังคงเข้มขลังด้วยพุทธคุณและเป็นที่ต้องการของบรรดานักสะสม”สายแคล้วคลาด” ทั้งหลาย



ดู 228 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page