top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

“หลวงพ่อสุนทร”พระเกจิชื่อดังเสกเข้มขลังพระสำเร็จศักดิ์สิทธิ์

พระชัยวัฒน์/พระผงรุ่นดวงเศรษฐี

วาระแรกพร้อมพระอาจารย์วีรพล


ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ รายวานว่านำเข้าพิธีพุทธาภิเษกวาระแรก ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ขอบารมีหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ เข้าสู่วัตถุมงคล พระชัยวัฒน์หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น ดวงเศรษฐี ณ มณฑลพิธีวัดตลิ่งชัน สระบุรี โดยมี พระครูโสภณถิรคุณ หรือหลวงพ่อสุนทร จนฺทเถโร เจ้าอาวาสวัดหนองสะเดา ต.หนองปลิง อ.หนองแค จ.สระบุรี อธิษฐานจิตปลุกเสกร่วมกับ พระอาจารย์วีรพล มหาสักโก เจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน เตรียมพิธีเสกยิ่งใหญ่ พระเกจิดังร่วมสมัยนั่งปรกปลุกเสก ในวันที่ 22 เมษายน ที่จะถึงนี้

ที่ผ่านมารุ่นนี้ ชนวนมวลสารสุดยอด เททองไปแล้วพระชัยวัฒน์หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น ดวงเศรษฐี พร้อมพระผงสำเร็จศักดิ์สิทธิ์พิมพ์พระวัดปากน้ำ ณ มณฑลพิธีวัดตลิ่งชัน สระบุรี “พระอาจารย์วีรพล” เจ้าอาวาสเมตตาประกอบพิธีหลอมชนวน และกดพิมพ์นำฤกษ์

กล่าวสำหรับ หลวงพ่อสุนทร จนฺทเถโร เจ้าอาวาสวัดหนองสะเดา ต.หนองปลิง อ.หนองแค จ.สระบุรี ท่านเคยปลุกพระหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์มาแล้ว จนเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสม ตามประวัติของท่าน ชาติกำเนิดเดิมเป็นชาวกัมพูชา ในตระกูล "วัฒนาสาคร" โยมบิดาชื่อ "คง วัฒนาสาคร" โยมมารดาชื่อ "ริม คงควร" เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2476 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน 5 คน คือ หลวงพ่อสุนทร จนฺทเถโร, นายจอน วัฒนาสาคร, นายหอม วัฒนาสาคร, น.ส.ราย วัฒนาสาคร และน.ส.สุวรรณ วัฒนาสาคร

ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาและค้าขายในหมู่บ้าน สมัยนั้นท่านมักจะเที่ยวเล่นอยู่ในวัดตามประสาเด็กในชนบท จวบจนท่านอายุได้ 12 ปี จึงได้ขอโยมบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดเวียนเภา ต.โพธิ์เรียง อ.โพธิ์เรียง จ.ไปรแวง ประเทศกัมพูชา เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเดิม โดยมีหลวงพ่อสุย ซึ่งเป็นสหายธรรมกับพระเทพรัตนากร วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับหลวงพ่อสุย 1 พรรษา ในขณะเดียวกันบ้านเมืองกัมพูชาได้เกิดความแตกแยกและมีสงคราม ไม่เหมาะที่จะอยู่ปฏิบัติธรรม ประกอบกับเกิดความเบื่อหน่ายสังคมบ้านเมือง จึงคิดที่จะออกธุดงค์ เพื่อจะได้ไม่ต้องวุ่นวายหรือเกี่ยวข้องกับทางโลก ท่านได้ตัดสินใจออกจากบ้านเกิด โดยเดินธุดงค์มุ่งหน้าสู่เมืองไทย ผ่าน อ.ตาพระยา จ.ปราจีนบุรี ตลอดเส้นทาง ท่านได้แวะพักจำพรรษาตามวัดต่างๆ เช่น วัดหนองหัวลิง, วัดหนองตะเข้, วัดเสนานฤมิตร, วัดหนองตาน้อย, วัดกระทงลอย และวัดหนองสะเดา ต.หนองปลิง อ.หนองแค จ.สระบุรี

ณ วัดแห่งนี้ท่านได้จำพรรษาเป็นการถาวร เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่สงบ ไม่พลุกพล่าน เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม โดยอาศัยโบสถ์หลังเก่าเป็นที่จำพรรษา และประกอบกิจทางศาสนา ซึ่งขณะนั้นมีพระครูสุวรรณ เขมโก เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพระครูสุวรรณ ได้ลาสิกขา ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทนจนถึงปัจจุบัน


ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองสะเดา ท่านได้รับความเมตตาและความไว้วางใจจากพระครูสรกิจพิจารณ์ หรือ หลวงพ่อผัน วัดราษฎร์เจริญ (วัดแปดอาร์) เช่น ให้ท่านลงอักขระตะกรุด และจัดทำเครื่องรางให้หลวงพ่อผันอยู่เสมอ

หลวงพ่อสุนทร ได้ปฏิบัติศาสนกิจและบำรุงพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2538 ท่านได้ดำริที่จะก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ยังขาดปัจจัยที่จะดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นวัดบ้านนอก ด้วยข้อจำกัดนี้ก็ไม่เป็นอุปสรรค ท่านตัดสินใจเดินหน้าก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ด้วยคิดว่าเมื่อตั้งใจทำแล้วการใดที่เป็นบุญเป็นกุศลก็ต้องทำให้สำเร็จ

ท่านเล่าว่า หลังจากเริ่มก่อสร้างแล้วเหมือนปาฏิหาริย์ ได้มีคณะศิษย์ที่ทราบข่าวต่างร่วมอนุโมทนาและเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน จนการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี 2538 และได้เฉลิมฉลองจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิตในปีต่อมา นับว่าหลวงพ่อสุนทร ท่านได้อุทิศทั้งแรงกายและแรงใจในการที่จะทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสมบัติและศาสนสถานไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังสืบไป


หลวงพ่อสุนทร ท่านเป็นพระมากเมตตาจึงเป็นที่รักของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ท่านรักสันโดษ พูดน้อย ถ้าคนที่ไม่คุ้นเคยหรือใกล้ชิดมักจะฟังท่านพูดไม่ถนัด ต้องถามย้ำอยู่เสมอ แต่เป็นเรื่องแปลก ไม่ว่าท่านจะให้ศีลหรือให้พรผู้คนส่วนใหญ่จะได้ยินถนัด ด้วยน้ำเสียงดังฟังชัดเสมอ

ทุกครั้งที่ลูกศิษย์มากราบไหว้ท่าน และขอของดีจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด หรือวัตถุมงคลใดๆ โดยเฉพาะ "สีผึ้ง" ที่ท่านหุงเอง ท่านจะหยิบให้เสมอ โดยไม่ต้องมีปัจจัยทำบุญแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน โดยส่วนตัวของท่านเองก็ไม่นิยมสะสมทรัพย์สมบัติสิ่งของใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งปัจจัยที่มีลูกศิษย์นำมาถวาย ท่านจะนำไปทำนุบำรุงพระศาสนาทั้งหมด โดยเฉพาะการอนุเคราะห์ค่าเล่าเรียนของพระภิกษุในวัดของท่านเอง และวัดละแวกใกล้เคียง ตลอดจนค่าใช้จ่ายภายในวัดและต่างวัด ท่านจะอนุเคราะห์หมดตามกำลังที่มีอยู่

หลวงพ่อสุนทร เป็นพระเถราจารย์ที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจรูปหนึ่ง















ดู 264 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page