top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

อาลัย“หลวงปู่นาม”พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสุพรรณฯ









“หลวงปู่นาม”ละสังขารโรคชรา99ปี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ รายงานว่า วงการสงฆ์สูญเสียพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูป ประกาศ เรื่องหลวงปู่นาม มรณภาพ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เวลา 05.20 น.หลวงปู่นาม วัดน้อยชมภู่ สุพรรณบุรี ได้ละสังขารด้วยโรคชรา รวมสิริอายุ 99 ปี ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต และทางวัดได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายสรีระสังขารของหลวงปู่มายังวัด และจะมีการสวดพระอภิธรรมในคืนเป็นวันแรก สำหรับพิธีการและกำหนดการที่ชัดเจนทางวัดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง จึงแจ้งมาเพื่อทราบ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ น้อมอาลัยหลวงปู่สู่นิพพาน

พระครูสุวรรณศาสนคุณ" พระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมแห่งเมืองสุพรรณบุรี มีพลังจิตเข้มขลัง วิทยาคมแก่กล้า ชาวบ้านต่างเรียกขานนามท่านว่า "หลวงปู่ผู้เฒ่า" หรือหลวงปู่นาม หรือพระอุปัชฌาย์นาม ปัจจุบัน พระครูสุวรรณศาสนคุณ สิริอายุ 99 พรรษา 78 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดน้อยชมภู่ ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี กล่าวสำหรับประวัติ พระครูสุวรรณศาสนคุณ มีนามเดิมว่า นาม ไม่ทราบนามสกุล เกิดเมื่อปี พ.ศ.2464 เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรีโดยกำเนิด ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่ออายุ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดบ้านกร่าง โดยมีพระเมธีธรรมสาร (ไสว) วัดบ้านกร่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระปลัดทวี (หลานหลวงพ่อมุ้ย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ภายหลังอุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคมกับพระเมธีธรรมสาร (ไสว) วัดบ้านกร่าง พระอุปัชฌาย์ของท่าน ควบคู่กับการศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักษรขอม ไทยน้อย อักษรลาว ทำให้ท่านมีความรู้ทางด้านอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่ง

ในพรรษาที่ 4 ท่านได้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดน้อยชมภู่ (เป็นวัด 2 วัดมารวมกัน วัดเก่ามาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ วัดน้อยกับวัดชมภู่ รวมกันเรียกว่า วัดน้อยชมภู่) วัดนี้มีพระเกจิชื่อดังมาแต่เดิม ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้เจ้านายสมัยก่อน

ท่านได้มาอยู่กับหลวงปู่ขำ เจ้าอาวาสวัดน้อยชมภู่ หลวงปู่ขำ เป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเฒ่า วัดค้างคาว กับหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา ต่อมา ท่านได้ไปอยู่กับหลวงปู่เหมือน ผู้เป็นศิษย์หลวงพ่อเนียม แห่งวัดน้อย และหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

หลวงปู่เหมือน เป็นพระอภิญญา ท่านได้สั่งสอนถ่ายทอดสรรพวิชาให้ท่านมากมาย กล่าวกันว่า หลวงปู่เหมือน สามารถเสกตัวต่อให้เต็มวัด เพื่อไล่ขโมย หรือเสกข้าวให้ออกรวงทั่ววัด เพื่อเลี้ยงพระทั้งวัดก็ได้ เสกใบมะขามเป็นฝูงผึ้งไล่ลิง ที่เข้ามาทำลายข้าวของในวัด ดังนั้น หลวงปู่นาม จึงได้วิชาในสายหลวงปู่เหมือนมาอย่างเอกอุ พุทธาคมนี้หลวงปู่นามไม่เป็นสองรองใคร แต่ท่านไม่พูด ท่านเงียบเฉยเหมือนหลวงตาเฝ้าวัด แม้แต่หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณอีกรูปหนึ่ง ยังมีความสนิทสนมถูกอัธยาศัยกับหลวงปู่นาม ส่วนหลวงปู่นามยังเคยไปอยู่จำพรรษาที่วัดหลวงพ่อมุ่ย หลายครั้ง

ตอนที่หลวงพ่อฉาบ วัดคลองจันทร์ ยังมีชีวิตอยู่ คนมาขอพระเครื่อง ท่านยังบอกว่า "ที่สุพรรณ หมดหลวงพ่อมุ่ย ต้องไปหาพระอาจารย์นาม วัดน้อยฯ เขาเก็บไว้หมด"ในสมัยหนุ่ม หลวงปู่นามไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งสรรพวิชาต่อยอดในสายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านยังเป็นสหธรรมิกกับท่านเจ้าคุณผัน และท่านเจ้าคุณเที่ยง (เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ รูปปัจจุบัน) ท่านเจ้าคุณทั้งสองยังเรียกขานหลวงปู่นามว่า "หลวงพี่"

หลวงปู่นาม ปลุกเสกพระเครื่อง เพื่อแจกลูกศิษย์ แต่ไม่ได้จัดพิธีใหญ่โต คนที่ได้รับไป ล้วนมีประสบการณ์ทุกคน หลวงปู่นาม เคยปรารภความหลังในกุฏิว่า "สมัยฉันหนุ่มๆ นะ เสกพระงบน้ำอ้อยไว้ ไม่แน่ใจนะ ก็เอาใส่รถไปให้หลวงพ่อจวน วัดไก่เตี้ย ท่านเสกให้ พอเปิดกล่อง ท่านก็บอกว่า ผมเสกไม่เข้าแล้ว ท่านเสกจนจะบินแล้วนี้"

"ฉันก็ยังไม่แน่ใจ เอาอีก เอาไปให้หลวงพ่อดี วัดพระรูป ท่านเสก ท่านหยิบเท่านั้นแหละ ท่านกำพระไว้ ยกมือจบยกขึ้นเหนือหัวท่านเลย หาว่าเรามาล้อท่านเล่น ท่านว่า เสกจนหมุนได้แล้วนี่จะให้ผมทำอะไรอีก"

ในด้านถาวรวัตถุ ท่านสร้างอุโบสถไว้หลายหลัง สร้างวิหาร กุฏิสงฆ์ ปรับภูมิทัศน์บริเวณวัดน้อยชมภู่ ให้เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม และแจกทุนการศึกษา ส่งพระภิกษุ-สามเณรมาเรียนกรุงเทพฯ ทุกปี

หลวงปู่นาม หรือ พระครูสุวรรณศาสนคุณ เป็นยอดพระเกจิที่ชาวเมืองสุพรรณบุรี ให้ความเลื่อมใสศรัทธา ท่านเป็นคนเงียบ ไม่พูด ไม่คุย แต่ชาวเมืองสุพรรณทราบดีว่า พระรูปนี้เป็นยอดพระเกจิที่เข้มขลังขนานแท้ ท่านสืบพุทธคุณสายลุ่มแม่น้ำท่าจีนและสายสุพรรณมาอย่างครบถ้วน

ปัจจุบัน หลวงปู่นาม ได้สร้างวัตถุมงคล อาทิ เหรียญรุ่นแรก ตะกรุดโทน เพื่อหาเงินไปสมทบทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร และนักเรียนที่ยากจน ซึ่งเป็นปณิธานของหลวงปู่ผู้เฒ่าแห่งสุพรรณบุรี

การละสังขารของท่านสร้างความอาลัยแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาอย่างมาก

ดู 167 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page