ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ รายงานว่า ห้วงนี้หลายคนเป็นห่วงเป็นใยชาวสมุทรสาคร ที่ต้องเดือดร้อนอย่างหนักกับปัญหาที่เกิดขึ้น การทำมาค้าขายก็ยากลำบากมากขึ้นไปด้วย แต่เชื่อและมั่นใจว่า “ชาวสมุทรสาคร”จะเข็มแข็งและผ่านวิกฤติในครั้งนี้ด้วยกันไปให้ได้ จะว่าไปแล้วสมุทรสาคร ดั่งเมืองพุทธมีวัดวาอาราม ละพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งอดีตและในปัจจุบันที่เชี่ยวชาญและเก่งในหลายด้าน เป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจของชาวบ้าน มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่มากมาย
สำหรับอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองสมุทรสาคร ลองมาเอ่ยถึงสัก 8 รูป หรือ 8 องค์ ในความจริงมีจำนวนมากกว่านี้มาก เริ่มกันที่ 1.พระไพโรจน์วุฒาจารย์' หรือ'หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร' อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ากระบือ อ.กระทุ่มแบน "เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำท่าจีน" 2.หลวงปู่เหล็ง อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดแหลมสุวรรณาราม อ.เมือง พระเกจิหมอยา 3. พระครูสมุทรธรรมสุนทร หรือ"หลวงพ่อสุด สิริธโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดกาหลง อ.เมือง หนึ่งในอาจารย์ของจอมโจร"ตี๋ใหญ่" เจ้าตำรับยันต์ตะกร้อ 4.หลวงปู่รอด พุทธสณฺโฑ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน อ.เมือง พระเกจิเชื้อสายรามัญ 5.พระเทพสาครมุนี หรือ"หลวงปู่แก้ว สุวณฺ ณโชโต" อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม) และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทร สาคร 6.พระครูสุตาธิการี หรือ"หลวงพ่อทองอยู่ ยโส" วัดใหม่หนองพะอง อ.กระทุ่มแบน สหธรรมิกหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี 7.หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง พระเกจิเชื้อสายเขมร 8. พระครูสังวรสุตาภิวัฒน์ หรือ"หลวงปู่สาย สุกกปุณโณ" วัดหนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว เจ้าตำรับพระเครื่อง"พันแปดไฟ" 9.พระครูธรรมสาคร หรือ “หลวงปู่กรับ ญาณวัฑฒโน” อดีตเจ้าอาวาสวัดโกรกกราก อ.เมือง เกจิสายเหนียว-แคล้วคลาด
จังหวัดสมุทรสาคร “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เกษตรและอาหารปลอดภัย ท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ สังคมเป็นสุข” ปัจจุบันมี นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่เป็นจังหวัดชายทะเล ตั้งอยู่ปากแม่น้ำท่าจีน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ซึ่งมีชาวจีนนำเรือสำเภาเข้ามา จอดเทียบท่าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจึงเรียกว่า "บ้านท่าจีน" ในสมัย แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2099) ได้โปรดให้ยกฐานะ "บ้านท่าจีน" ขึ้นเป็น "เมืองสาครบุรี"เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิด สงคราม และเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะเข้ามารุกรานทางทะเล
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองสาครบุรี" เป็น "เมืองสมุทรสาคร" ซึ่งมีความหมายว่า "เมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ" ต่อมาในปีพ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้ทางราชการ เปลี่ยนคำว่า "เมือง"เป็น "จังหวัด" ทั่วทุกแห่งในพระราชอาณาจักร "เมืองสมุทรสาคร" จึงได้เปลี่ยน เป็น "จังหวัดสมุทรสาคร"ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนคำว่า "มหาชัย" ที่คนทั่วไปชอบเรียกกันนั้น เป็นชื่อคลองที่สมเด็จพระสรรเพชญที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดคลองลัดจากเมืองธนบุรี เป็นแนวตรงไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรี แทนคลองโคกขามที่คดเคี้ยว แต่ขุดคลองยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ทรงสวรรคตเสียก่อน จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 9(ขุนหลวงท้ายสระ) โปรดให้ขุดคลองต่อจนแล้วเสร็จ และได้พระราชทานนามว่าคลองมหาชัย ซึ่งต่อมา บริเวณฝั่งซ้ายปากคลองได้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นชื่อว่า "มหาชัย" จึงเป็นที่นิยมเรียกขานแต่นั้นเป็นต้น
อนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองมีการจัดระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล และได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างสรรค์ ความเจริญให้แก่ท้องถิ่น โดยใช้การปกครองรูปแบบสุขาภิบาลได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ"ตำบลท่าฉลอม" เป็น "สุขาภิบาลท่าฉลอม" เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 จึงถือได้ว่าสุขาภิบาลท่าฉลอม เป็นสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นในหัวเมืองเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบารมีของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งในอดีตและปัจจุบันจักช่วยให้ชาวสมุทรสาคร มีความขวัญกำลังในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ในฐานะกองบรรณาธิการทีมข่าวหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอเอาใจช่วยเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวสมุทรสาคร สู้สู้ อีกไม่นานชัยชนะต้องเป็นของเรา
Comments