top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เหรียญราคาสูงมาก"หลวงปู่ไข่"วัดบพิตรพิมุข(เชิงเลน)เหรียญดัง-พระปิดตาขลังพุทธคุณสูง

ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เหรียญราคาสูงมาก "หลวงปู่ไข่"วัดบพิตรพิมุข(เชิงเลน) เหรียญดัง-พระปิดตาขลังพุทธคุณสูง

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ได้นำประวัติของหลวงพ่อสมชาย วัดโพรงอากาศ จ.ฉะเชิงเทรา มาเอ่ยถึง ท่านเป็นทายาทพุทธาคมของหลวงปู่แจ๋ วัดโพธิ์เฉลิมรักษ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งหลวงปู่แจ๋ ท่านเป็นศิษย์พุทธาคมของหลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน) กรุงเทพฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องนำเสนอประวัติให้ครบ เมื่อเอ่ยถึง หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร หลายท่านอาจจะเฉยๆ แต่ถ้าเป็นนักเลงพระเครื่องหรือนักสะสมเหรียญคณาจารย์ ต้องบอกว่า นามนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะว่า ท่านเป็นเจ้าของเหรียญแห่งตำนานที่ว่ากันว่า เป็นเหรียญที่แพงที่สุดในโลก เพราะ "บอย ท่าพระจันทร์" เซียนเหรียญชื่อดัง ออกมาการันตีผ่านสื่อมวลชนว่า สภาพสวยสมบูรณ์ เหรียญเดียว 30 ล้านบาท รับเช่าถ้าใครมี-ยกมือขึ้น(ราคาเมื่อปี 2557)

“หลวงปู่ไข่ อินทสโร” วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีพลังจิตที่เข้มขลัง นามของท่านจึงขจรขจายไปไกล เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักที่มากด้วยพุทธคุณได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตา

ท่านเป็นชาวแปดริ้ว เกิดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2400 ที่ ต.ท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา บิดา-มารดา ชื่อ นายกล่อม และนางบัว จันทร์สัมฤทธิ์ อายุ 6 ขวบ บิดานำไปฝากกับหลวงพ่อปาน วัดโสธรฯ เพื่อให้เรียนหนังสือ ต่อมาได้บวชเป็นสามเณร ฝึกหัดเทศน์จนมีชื่อเสียงในทางเทศน์มหาชาติ เมื่อหลวงพ่อปานมรณภาพจึงเดินทางไปอยู่กับพระอาจารย์จวง วัดน้อย อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

อายุ 15 ปี พระอาจารย์จวงมรณภาพ จึงเดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ กทม. เรียนพระปริยัติธรรมอยู่ 3 ปี แล้วจึงย้ายไปอยู่กับพระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน จ.สมุทรสงคราม ศึกษาพระธรรมวินัยและพระปริยัติธรรม จนอายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดลัดด่าน โดยมี พระอาจารย์เนตร วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ภู่ วัดบางกะพ้อม เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากนั้น เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์รูปหนึ่งที่เมืองกาญจนบุรี แล้วจึงกลับมาอยู่ที่วัดลัดด่านอีกครั้งหนึ่ง

ท่านออกธุดงค์เป็นประจำทุกปีรวมระยะ 15 ปี เวลาธุดงค์ผ่านไปทางใด ถ้ามีผู้คนทุกข์ยากหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ก็รักษาให้หายโดยตลอด เกียรติคุณเป็นที่รู้จัก จนมาถึงกรุงเทพฯ จึงมีผู้มานิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดบางยี่เรือ 1 พรรษา แล้วก็ออกธุดงค์ไปในป่าอีก ต่อมา เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และเห็นว่าวัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) เป็นวัดที่เงียบสงบดี จึงได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ตลอดมา

ระหว่างจำพรรษาอยู่วัดบพิตรพิมุข ได้ปฏิบัติทางธรรมและสร้างการกุศลหลายประการ อาทิ สอนพระกัมมัฏฐานแก่บรรพชิตและฆราวาส ช่วยอนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ บริจาคทรัพย์ส่วนตัวและชักชวนบรรดาศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยให้มาร่วมทำบุญ เช่น สร้างพระพุทธปฏิมา ซ่อมพระพุทธรูปของเก่าที่ชำรุดหักพังให้ดีขึ้น สร้างพระไตรปิฎก

โดยหลวงปู่ไข่ลงมือจารใบลานด้วยตนเองบ้าง ให้ช่างจารขึ้นบ้าง ซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิเป็นห้องแถวไม้ขึ้นอีกหลายกุฏิ ทั้งได้สร้างถนน สระน้ำ ถังรับน้ำฝน ขึ้นภายในบริเวณวัด สร้างแท่นสำหรับนั่งพักภายในคณะกุฏิให้เป็นที่สะดวกแก่พระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่ในคณะนั้น เป็นต้นนอกจากนี้ ยังปรากฏว่าเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ตามหัวเมือง ก็ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มาแล้วหลายแห่ง

ด้านวัตถุมงคล ท่านสร้างพระเครื่อง พระปิดตา และเหรียญรูปเหมือนไว้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระที่หายากมาก โดยเฉพาะเหรียญว่ากันว่ามีเพียง 72 เหรียญเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีพระอรหังกลีบบัว ซึ่งสร้างไว้ประมาณปี พ.ศ.2470

หลวงปู่ไข่เป็นพระที่สมถะ ใฝ่สันโดษ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ท่านยังมีชื่อเสียงด้านการเทศน์มหาชาติ อีกทั้งยังมีความสามารถทางแพทย์แผนโบราณ ศิษย์ของท่านมีทั้งไทย จีน และแขกซิกข์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมักจะมาหาท่านให้ช่วยรักษา ซึ่งท่านก็ช่วยรักษาทุกครั้ง ไม่เคยแบ่งแยกชาติ ศาสนา เชื้อตระกูล จิตใจของท่านใสบริสุทธิ์

ราวปี พ.ศ.2470 หลวงปู่ไข่เตรียมบาตร กลด และย่ามเพื่อจะออกธุดงค์ แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายปรึกษาหารือกันว่า ท่านชราภาพมากแล้ว จึงได้นิมนต์ยับยั้งไว้ โดยขอให้หลวงปู่ไข่อยู่วิปัสสนากัมมัฏฐานแก่บรรดาศิษย์ต่อไป จนกระทั่งท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคชรา ครั้นวันที่ 16 ม.ค.2475 เวลา 13.25 น. ก็ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 75ปี









ดู 20 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page