top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

14สค.รำลึกครบรอบ38ปีมรณกาล "หลวงพ่อสุด สิริธโร"วัดกาหลงเจ้าตำรับยันต์ตะกร้อ-อาจารย์ตี๋ใหญ่

14สค.รำลึกครบรอบ38ปีมรณกาล "หลวงพ่อสุด สิริธโร"วัดกาหลง เจ้าตำรับยันต์ตะกร้อ-อาจารย์ตี๋ใหญ่ ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอร่วมรำลึกครบรอบ 38 ปี มรณภาพพระเกจิดังพระอาจารย์ที่จอมโจร “ตี๋ใหญ่” เลื่อมใสศรัทธา วันเสาร์ที่ 14 ส.ค.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 38 ปีมรณกาล “พระครูสมุทรธรรมสุนทร” หรือ “หลวงพ่อสุด สิริธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดกาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก วัตถุมงคลเป็นหนึ่งในตำนานพระเครื่องเมืองมหาชัย ท่านมีนามเดิมว่า "สุด สัตย์ตัง" เป็นชาวอำเภอพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เกิดเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2445 บรรพชาเมื่ออายุ 16 ปี ที่วัดกลาง อ.พนมไพร โดยมีพระครูเม้า เป็นพระอุปัชฌาย์ อายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทที่วัดกลาง เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2465 จากนั้นออกธุดงค์เดินทางรอนแรมจากจังหวัดร้อยเอ็ด ไปตามสถานที่ต่างๆ จวบจนมีชาวบ้านที่ตำบลกาหลง นิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดกาหลง ในห้วงเดินท่องธุดงค์ มีโอกาสร่ำเรียนวิทยาคมจากพระเกจิ อาจารย์ชื่อดังหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร, หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น มีความรู้ด้านภาษาลาวและภาษาขอม ยุคนั้นพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายองค์ของภาคอีสานเดินทางมาแสวงหาความรู้ในกรุงเทพฯ มากมาย เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น ในด้านวิชาอาคมของหลวงพ่อสุดนั้น ท่านเล่าเรียนวิชามาจากหลวงปู่เม้า วัดกลางพนมไพร(พระที่บวชให้ท่านในสมัยตอนเป็นเณร) จนเมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดกาหลง ท่านจึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม (เป็นพระที่หลวงพ่อสุดนับถือมาก) ท่านได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลมากมายหลายพิธีไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง โดยเฉพาะพิธีปลุกเสกพระพุทธ 25 ศตวรรษ หลวงพ่อสุดมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วจากการเป็นพระอาจารย์ของ"ตี๋ใหญ่"จอมโจรชื่อดังในอดีต ด้วยร่ำลือกันว่าท่านเป็นคนมอบเครื่องรางของขลังให้ตี๋ใหญ่ ทำให้รอดพ้นแคล้วคลาดจากการถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าจับกุม อีกทั้งยังเป็นเกจิต้นตำรับยันต์ตะกร้อที่มีพุทธคุณด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี ยันต์ตะกร้อ เป็นยันต์ที่หลวงพ่อสุดได้จัดทำขึ้นมา ด้วยการปลุกเสกลงอาคม โดยใช้ภาษาขอม เขมร และลาว ได้รับความนิยมจากบรรดาสานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อสุด เล่าเรื่องยันต์ตะกร้อไว้ว่า “ยันต์ตะกร้อทนทานแคล้วคลาด เมื่อตอนเป็นเด็กหลวงพ่อชอบดูการเตะตะกร้อมาก สวยดีลองเตะบ้างมันเจ็บ ก็ลองคิดดูว่าจะเขียนอักขระยันต์อย่างไรให้งดงามไม่ไปซ้ำของใคร ได้เห็นเด็กๆ เตะตะกร้อเล่นที่ลานวัดกาหลง ก็เลยวาดแบบรอยสานตะกร้อดู พยายามอยู่นานจนได้ดี จุดสำคัญคือ สวยงามและตะกร้อนั้นแข็งแรงทนทานหมายถึงความอดทนแคล้วคลาดของคนเรา โดนเท่าไรก็ไม่เป็นไร ใครเคยเห็นตะกร้อโดนเตะเพียงทีสองทีก็เสียเคยเห็นไหม เห็นมีแต่คนเตะบ่นปวดเท้า ถือเป็นปรัชญาแห่งชีวิต ข้อหนึ่งคือความอดทนและมีศิลปะ” ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2490 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี พ.ศ.2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิมที่ "พระครูสมุทรธรรมสุนทร" วาระสุดท้ายมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2526 เวลา 13.15 น. สิริอายุ 81 ปี หลังจากที่หลวงพ่อสุดมรณะภาพ มีการเผาศพของท่านได้เป็นข่าวดังทางหน้าหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ ในเนื้อข่าวกล่าวถึงศพของท่านโดนไฟเผาไหม้ไม่หมด ร่างกายที่เป็นเนื้อหนังกระดูกเผาหมดแล้วแต่กระดูกของท่านยังอยู่ในภาพที่สมบูรณ์มาก ไม่บิ่นหรือแตกร้าวเป็นชิ้นๆ แบบการเผาศพทั่วๆไป ทางวัดกาหลงได้นำร่างที่เป็นโครงกระดูกของท่านมาบรรจุไว้ในโลงแก้วตั้งให้ประชาชนไปกราบนมัสการอยู่ที่ชั้น ๒ ของศาลาการเปรียญ วัดกาหลง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสักการะกราบไหว้จวบจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้หลวงพ่อสุด ท่านมิใช่คนสมุทรสาคร แต่ชาวสมุทรสาครก็นับถือเคารพรักท่านเป็นอย่างมาก เพราะท่านได้ช่วยเหลือและให้ความเมตตา ท่านจึงเป็นที่รักของลูกศิษย์ลูกหาและชาวสมุทรสาครเป็นอย่างยิ่ง วัตถุมงคลของท่านมั่นใจได้ในเรื่อง"เหนียว" โดดเด่นด้านแคล้วคลาดคงกระพัน แต่ต้องระวังของเทียมเลียนแบบที่มีมานานแล้ว ก่อนเล่นหาพึงศึกษาจากตำราและผู้รู้สายตรงจะได้"ไม่หลงทาง"







ดู 35 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page