26 มิ.ย.67 มหามงคลเจริญพระชันษา97ปี
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพร อมฺพโร)
พระสังฆราชองค์ที่20แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
26 มิถุนายน เวียนมาบรรจบครบอีกวาระนับเป็นวันมหามงคลยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันประสูติ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระสังฆราชองค์แรกในรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน ทรงเจริญพระชันษา 97 ปี
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า "อัมพร ประสัตถพงศ์" ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี
พระชนก (บิดา) มีนามว่า นายนัย ประสัตถพงค์ (แซ่ตั๊ง) พระชนนี (มารดา) มีนามว่า "นางตาล ประสัตถพงค์" สกุลเดิม "วรกี" เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน หนึ่งในพระอนุชาคือพระธรรมวุฒาจารย์ (ไสว วฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร จ.ราชบุรี
ในวัยเยาว์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย พระชนกพระชนนี มีบุตรธิดามาก จึงได้ฝากท่านได้เรียนชั้นประถมศึกษาที่ร.ร.เทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกะเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี กับ นาวาอากาศโท ทรัพย์ วรกี ผู้เป็นลุง ซึ่งมารับราชการทหารอากาศ อยู่ที่ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาต่อที่ร.ร.ประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป. 4 ในปี พ.ศ. 2480
เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษาทรงบรรพชา เป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ทรงสอบนักธรรมและบาลี ประโยคต่างๆ ในสำนักเรียนวัดตรีญาติ อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้นักธรรม ชั้นเอก และเปรียบธรรม 4 ประโยค ต่อมาพ.ศ.2490 ได้ทรงพบกับสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี หรือพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) ชักชวนให้ทรงเข้ามาพำนักเพื่อทรงศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรม ในสำนักเรียนวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร”
ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และทรงเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ
พระกรณียกิจด้านการปกครอง พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2550 เจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
พ.ศ. 2539 - ปัจจุบัน กรรมการมหาเถรสมาคมคณะธรรมยุต พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเผยแผ่ และจรรโลงพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางแพร่หลายและมั่นคง พุทธศาสนิกชนจึงมีความเลื่อมใสศรัทธา ทั้งมีพระจริยวัตรที่ทรงมีความสมถะ เรียบง่าย เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีพระเมตตาสูง
Comentários