top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

3ต.ค.รำลึกวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ)สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

3ต.ค.รำลึกวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ น้อมรำลึก วันที่ 3 ตุลาคม เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงพุทธศาสนิกชนชาวไทย เป็นวันคล้ายวันประสูติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระองค์มีพระนามเดิมว่า "เจริญ คชวัตร" ประสูติเมื่อวันที่3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ที่อ. เมืองกาญจนบุรี พระชนกชื่อ "นายน้อย" พระชนนีชื่อ "นางกิมน้อย" ปี 2469 บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี เมื่ออายุครบ 20 พรรษาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี จากนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2476 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ประทับอยู่ศึกษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดมาจนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยคเมื่อปี2484

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ "พระโศภณคณาภรณ์" ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมวราภรณ์" ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ "พระสาสนโสภณ" ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ท่านได้ทรงงานด้านพุทธศาสนาหลายอย่าง แสดงธรรมเทศนาหลายที่ ทรงเลือกให้เป็นพระอภิบาล(พระพี่เลี้ยง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2499 ด้วย พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี2521

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ มาเป็นลำดับ เป็นเหตุให้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน เป็นเอนกประการ นับได้ว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงเพียบพร้อมด้วยอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ และทรงเป็นครุฐานียบุคคลของชาติ ทั้งในด้านพุทธจักรและอาณาจักร

นอกจากนั้นยังทรงนิพนธ์บทความและหนังสือทางพุทธศาสนา อธิบายหลักธรรมต่าง ๆ ไว้จำนวนมาก












ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Kommentarer


bottom of page