คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 16 มิ.ย. 2567
หลวงปู่คง วัดตะคร้อ ยอดเกจิเมืองย่าโม
"พ่อคูณ"เลื่อมใส-เหรียญดัง"สาวหนังเหนียว"
อาจารย์ของหลวงตาสุ่ม/ครูบาเสือ/พ่อช้าง
"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
หนึ่งในพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมชื่อดังแห่งเมืองย่าโม...พระครูคงคนครพิทักษ์ หรื
"หลวงปู่คง ฐิติปัญโญ" อดีตเจ้าอาวาสวัดตะคร้อ อ.คง จ.นครราชสีมา ศิษย์สืบทอดวิชาอาคมของหลวงพ่อเสี่ยง วัดเสมาใหญ่, หลวงพ่อรอด วัดดอนผวา, หลวงพ่อเขียว วัดปอปิด ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ ด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงาม แม้แต่หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ยังให้ความเคารพเลื่อมใสอย่างมาก
หลวงปู่มีวิชาอาคมที่เข้มขลัง วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ทุกรุ่น ทุกชิ้น และมากด้วยประสบ การณ์ สมัยที่ท่านยังไม่ละสังขาร หลวงปู่รับกิจนิมนต์โดยไม่เลือกยากดีมีจน ชาวบ้านหรือคหบดี ทุกคนที่มากราบนมัสการท่านจะมอบวัตถุมงคลให้คนละกำมือเลย
ท่านมีนามเดิม "คง เทพนอก" เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค. 2453 ปีกุน ณ บ้านคอนเมือง ต.เทพาลัย อ.คง จ.นครราชสีมา เป็นบุตรของนายพูน และนางแย้ม ซึ่งมีอาชีพทำนา ทำไร่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 7 คน ท่านเป็นบุตรคนแรก
ต่อมาบิดา มารดาพาไปฝากกับหลวงพ่อหมั่น เพื่อเล่าเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ และมีวิชาติดตัว ชีวิตเด็กวัดทำให้เด็กชายคงเป็นคนหนักเอาเบาสู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานและครอบครัวและมีเมตตาต่อผู้อื่น
เมื่ออายุ16 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร แต่ก็ต้องลาสิกขา เหตุเพราะไม่มีคนช่วยบิดามารดาทำงาน และเลี้ยงดูน้องๆ กระทั่งพ.ศ.2474 เมื่อน้องของท่านโตพอที่จะรับภาระหน้าที่ได้แล้ว ท่านจึงอุปสมบท ณ วัดบ้านวัด เม่อวันที่ 20 พ.ค. 2475 เมื่ออายุได้ 22 ปี โดยมี พระครูสีลวิสุทธิพรต วัดเดิม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทองสุข สุชาโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทิม สุมโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐิติปัญโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญาตั้งมั่น
หลังอุปสมบทได้ไปศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อทุย และแนะนำให้ท่านไปศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อเขียว (พระครูปทุมญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดบัวใหญ่ ) จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขานุการของหลวงพ่อเขียว โดยท่านได้ศึกษาวิชาความรู้ และคาถาอาคมต่างๆจนมีความเชี่ยวชาญ ในขณะอยู่ที่วัดบัวใหญ่นั้น ท่านขึ้นชื่อว่าเป็นพระนักเทศน์ที่เก่งมากจนได้รับกิจนิมนต์ให้ไปเทศน์ในงานต่างๆทั้งใกล้และไกลมิได้ขาด อีกทั้งมีโอกาสออกธุดงค์ไปลาว และเขมร
พ.ศ.2493 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตะคร้อว่างลง หลวงพ่อเขียวเห็นว่าท่านมีความสามารถ ทางการปกครอง จึงสนับสนุนให้เป็นเจ้าอาวาสวัดตะคร้อ เมื่อมอบหมายงานเรียบร้อยท่านมักหาเวลาเพื่อมาอุปัฏฐากหลวงพ่อเขียวเสมอๆจนกระทั่งท่านมรณภาพ
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในราชทินนามที่ “พระครูคงคนครพิทักษ์” พ.ศ.2503 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2510 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอบัตรพิเศษ ในราชทินนามเดิม
นับตั้งแต่ท่านปกครองวัดตะคร้อ ได้บริหารวัด ดูแลพระลูกวัด จากวัดที่ขาดแคลนท่านได้สร้างเสนาสนะ อุโบสถ ตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมจนกระทั่งได้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกระทรวงศึกษาธิการ
บั้นปลายชีวิตในวันที่ 5 มิ.ย.2548 ท่านได้รับนิมนต์เป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรผู้ศรัทธาในอุโบสถวัดตะคร้อแล้วมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก จึงขออนุญาตลงมาก่อนที่จะบวชเสร็จ และท่านก็ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยวัย95ปี ปรากฏว่าสังขารท่านไม่เน่าไม่เปื่อย นอกจากนั้นเกศาและเล็บของท่านยังงอกยาวขึ้นทุกปี สังขารของท่านเก็บรักษาที่วัดตะคร้อ ให้ญาติโยมที่เคารพศรัทธาท่านได้กราบไหว้
คณะศิษยานุศิษย์ได้มีมติก่อสร้าง เจดีย์พิพิธภัณฑ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สังขารองค์หลวงปู่ อัฐบริขาร พระเครื่อง และวัตถุโบราณที่หลวงปู่เก็บรักษาไว้ เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชา โดยได้มีพิธีบรรจุพระบรมสาริริกธาตุ ยกยอดฉัตร และบรรจุสังขารของหลวงปู่ไว้ในองค์พระมหาธาตุเจดีย์ เมื่อปีพ.ศ.2553
สำหรับพระอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาอาคมขลังให้ท่านคือ หลวงพ่อเสี่ยง วัดเสมาใหญ่, หลวงพ่อรอด วัดดอนผวา, หลวงพ่อเขียว วัดปอปิด ซึ่งแต่ละองค์นั้นในด้านคุณวิเศษของท่านแล้วยอดเยี่ยมที่สุดสมัยนั้น เหรียญหรือพระเครื่องของทุกท่านล้วนแต่เล่นหาราคาแพงมาก
วัตถุมงคลของหลวงปู่คงได้สร้างรุ่นแรกเป็นพระสมเด็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 เป็นต้นมา ได้โดยยันต์ที่ท่านใช้เป็นยันต์ประจำองค์ ประทับหลังวัตถุมงคลแทบทุกรุ่นคือ "ยันต์นะครอบจักรวาล" ซึ่งท่านบอกว่า ใช้ได้ทุกทาง และทุกประเภท สุดแล้วแต่จะอธิษฐานใช้
หลวงพ่อคงท่านเป็นพระที่สร้างความเจริญให้กับวัดตะคร้อเป็นอย่างมาก พระเครื่องของท่านนั้นมีไม่ต่ำกว่า 50 รุ่น แสดงถึงความไม่ธรรมดา เพราะว่าพระบ้านนอกที่ไม่มีชื่อเสียงมากมาย ถ้าไม่แน่จริงแล้วคงไม่มีการสร้างพระเครื่องมากขนาดนั้น โดยแต่ละรุ่นนั้นก็มีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เป็นที่กล่าวขานถึงบุญญาอภินิหาร
อย่างเช่นเมื่อ ปี พ.ศ.2523 หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ลงข่าว ผู้หญิงถูกผู้ชายยิงในตรอกหลักหินใกล้หัวลำโพง สาเหตุที่สามีคนเก่าเกิดความแค้นที่อดีตภรรยาเดินคู่กับสามีคนใหม่ แต่ลูกปืนที่ยิงผู้หญิงนั้น"ยิงไม่เข้า" เมื่อดูในคอจึงรู้ว่ามีเหรียญของหลวงพ่อคงห้อยคอเพียงองค์เดียวเท่านั้น เป็นเหรียญเสมาครึ่งองค์ ด้านหลังรูปนางกวัก จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เรียกขานกันว่าเหรียญรุ่น"สาวหนังเหนียว"
จากข่าวที่ลงในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันทำให้คนจากหลาย ๆ จังหวัดที่มีความเลื่อมใสเดินทางไปยังวัดเพื่อบูชาเหรียญของท่าน ปรากฏว่าช่วงนั้นพระเครื่องของท่านมีไม่กี่รุ่นได้หมดไปจากวัดในเวลาอันรวด เร็ว และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้คนก็เดินทางไปหากันไม่เคยขาด
สำหรับทายาทพุทธาคมสายตรงของหลวงปู่คงที่มีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบัน อาทิ พระครูสิทธิธรรมธร หรือ"หลวงปู่สุ่ม สิรินฺธโร" เจ้าอาวาสวัดหนองหว้า อ.คง จ.นครราชสีมา,พระอาจารย์พีรศักดิ์ หรือ"ครูบาเสือ ปรกกโม" วัดโนนหมัน อ.เฉลิมพระเกียรติจ.นครราช สีมา,หลวงพ่อช้าง วัดจุกเฌอ จ.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ
#ฉัตรสยาม
Comments