top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 ม.ค. 2567 "หลวงพ่อไปล่ ฉันทโร"อดีตเกจิดังวัดกำแพง เจ้าตำรับ"เหรียญหล่อโบราณ"หลักล้าน

คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง

ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 ม.ค. 2567

"หลวงพ่อไปล่ ฉันทโร"อดีตเกจิดังวัดกำแพง

เจ้าตำรับ"เหรียญหล่อโบราณ"หลักล้าน

ตำนานเข้มขลังเคียงคู่"หลวงปู่เอี่ยม"วัดหนัง

ทีมข่าว"คัมภีร์นิวส์"ร่วมย้อนตำนานความโด่งดังของ"หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร" อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่2 วัดกำแพง แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. เกจิดังฝั่งธนบุรีขึ้นชื่อลือชาว่า"เหนียวสุดๆ" ไม่แพ้"หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง"ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน

กิตติศัพท์ของท่านทั้งสองถือว่า"สุดยอด" สมัยนั้นใครมีเหรียญวัดหนัง จะไม่กล้าแหยมกับคนที่แขวนเหรียญวัดกำแพง เจอกันครั้งใดก็กินกันไม่ลง เพราะ "เหนียว" ทั้งคู่ ประสบการณ์ของเหรียญทั้งสองวัดเด่นชัดในเรื่องคงกระพันชาตรี เป็นที่นิยมของนักเลงจริงในยุคนั้น เล่าขานกันว่า ขนาดโดนรุม 10 ต่อ 1 ยังรอดมาได้ ทั้งมีด ไม้ กระบอง ลูกซองปืนพก ไม่มีเลือดตกยางออกให้ได้เห็นแม้แต่น้อย

ด้วยพุทธคุณและประสบการณ์อันลือเลื่องจึงทำให้เหรียญของท่านทั้งสองเป็นที่หมายปองของนักเลงพระ ส่งผลให้ราคาค่านิยมสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งปัจจุบันต้องพูดกันที่ "หลักแสน จนถึงหลักล้าน" ซึ่งถือว่ารูปแบบของเหรียญนั้นคงความเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามด้านศิลปะที่คนรุ่นใหม่ไม่อาจเลียนแบบได้

หลวงพ่อไปล่ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2403 เป็นบุตรของนายเหลือ และนางทอง นามสกุล “ทองเหลือ” เป็นชาวบ้าน ต.บางบอนใต้ อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน เมื่ออายุ 8 ขวบได้ไปศึกษาหนังสือไทยและขอมกับพระอาจารย์ทัด วัดสิงห์

สมัยวัยรุ่นท่านเป็นคนมีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญ ทรหดอดทน มีเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นชาวบ้านบางบอนใต้เป็นแดนนักเลงหัวไม้ เวลาวัดมีงานมักจะนัดตีกันเป็นประจำ ตัวท่านถูกพรรคพวกยกย่องให้เป็น “ลูกพี่” ทำให้บิดามารดาเกรงว่าจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีหรือคนพาล จึงขอร้องให้บวชพระสัก 1 พรรษา ท่านก็ไม่ขัดข้อง โดยได้รับการอุปสมบทที่วัดกำแพง เมื่อ พ.ศ.2426 อายุ 23 ปี พระอุปัชฌาย์ คือ พระอาจารย์ทัด วัดสิงห์, หลวงพ่อพ่วง วัดกก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฉันทสโร”

หลังบวชท่านสนใจศึกษาทางพุทธธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ท่องบทสวดมนต์จนจบทุกบททุกคัมภีร์ จดจำได้แม่นยำ จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เมื่อครบกำหนด 1 พรรษาแล้ว ท่านไม่ยอมสึก พอเข้าพรรษาที่ 2 ท่านได้ตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่จนสามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งการเรียนรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิปัสสนาธุระกับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางนี้

นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เรียนทางคงกระพันชาตรีกับพระอาจารย์คง เรียนวิชาผูกหุ่นพยนต์กับหลวงพ่อหรุ่น วัดบางปลา เรียนทางเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อพ่วง วัดกก เรียนทางสักยันต์คงกระพัน กับหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง

แม้จะมีวิชาอาคมเก่งกล้าขนาดไหนก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยคุยโม้โอ้อวด หรือข่มเหงใคร ชอบดำรงตนแบบสมถะ ไม่ทะเยอทะยานในลาภยศ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ กวาดกุฏิเอง ของส่วนตัวทำเองหมด ไม่เคยใช้ให้ใครทำ นอกจากนี้ท่านยังขยันในการทำวัตรสวดมนต์อย่างเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบความมีระเบียบเรียบร้อย

ต่อมาหลวงพ่อไปล่ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตบางขุนเทียน และด้วยปฏิปทาอันน่าศรัทธาเลื่อมใสของท่านนี้เองทำให้ชาวบ้านมีความเคารพนับถือท่านมาก ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง ตั้งแต่ พ.ศ.2431 จนถึงมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2489 สิริอายุได้ 86 ปี 63 พรรษา

แม้จะมรณภาพไปแล้ว แต่เนื้อหนังของท่านก็ยังเหนียว พวกสัปเหร่อเอามีดตกแต่งศพก็เฉือนไม่เข้า ต้องจุดธูปจุดเทียนบอกกล่าวขอขมาก็ยังเฉือนไม่เข้า จนสรีระของท่านแห้งไปเฉยๆ ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นแต่ประการใด

หลวงพ่อไปล่ เป็นพระนักพัฒนาผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมถะ ไม่นิยมสะสมลาภยศเงินทอง ท่านส่งเสริมการศึกษาพระธรรมวินัยพระ สามเณร ตั้งสำนักเพื่อการเรียนการสอนหนังสือเด็กวัด มี 3 ระดับ รวมทั้งสอนวิชาชีพและวิชาช่างให้กับชาวบ้าน ริเริ่มประเพณีพายเรือตีกลองบิณฑบาตข้าวเปลือก จึงเป็นที่เคารพรักใคร่ ศรัทธาของชาวบ้านฝั่งธนบุรี เป็นอย่างยิ่ง

สำหรับวัดกำแพง เดิมชื่อว่า"วัดสว่างอารมณ์” จากการสันนิษฐานของผู้ที่มีความรู้ทางโบราณคดีได้กล่าวชี้แจงไว้ว่า “จากการสังเกตดูวัตถุและอาคารสถานที่ซึ่งมีอยู่ในวัด พอจะทราบได้ว่าวัดนี้เคยรกร้างมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง

ความเป็นมาของวัดกำแพง หลวงพ่อคง เจ้าอาวาสองค์แรกเมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดต่อปฏิบัติพระธรรมวินัยมีวัตรปฏิบัติสม่ำเสมอคงเส้นคงวา จึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอันมาก ท่านได้เปิดสำนักเรียน สอนหนังสือให้แก่เด็กๆที่เป็นลูกหลานชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ วัดและสอนให้แก่ผู้ที่ต้องการจะบวชเป็นพระภิกษุสามเณร ทั้งนี้เพื่อผู้อุปสมบทบรรพชาจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้ง กว้างขวางจากพระไตรปิฎกด้วยตนเองได้อีกด้วย หากพระเณรรูปใดมีปัญหา ท่านจะช่วยชี้แนะเป็นอย่างดี

ด้วยเหตุที่หลวงพ่อคงประพฤติบัติตนเคร่งครัดอยู่ในธรรมวินัย เสมอต้นเสมอปลาย เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาศิษย์และชาวบ้าน นับเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประชาชน และประเทศชาติ ชาวบ้านก็ยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นตามลำดับ ชาวบ้านมักจะเรียกหลวงพ่อคงว่า "ท่านที่มาจากวัดกำแพง” ครั้นเรียกกันต่อมาว่า “ท่านวัดกำแพง” ในที่สุดก็เลยเรียกวัดนี้ว่า “วัดกำแพง” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ปัจจุบันวัดกำแพงมี พระมหาพีระพล ฐานจาโร ดร. ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้จัดสร้างเหรียญอิทธิมงคล หลวงพ่อไปล่ ฉนฺทสโร รุ่น 4 สมโภชอุโบสถ 100 ปี หรือ"จอบ4" โดยประกอบพิธีพุทธาภิเษกใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ม.ค. 2567 เกจิอาจารย์ดังแห่งยุค 23รูปร่วมอธิษฐานจิตอย่างเข้มขลัง

สำหรับวัตถุมงคลที่โด่งดังเข้มขลังด้วยพุทธคุณของหลวงพ่อไปล่ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากได้ก็คือ เหรียญหล่อโบราณที่วงการนิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ 1.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ ปี2478 เนื้อฝาบาตร หรือเนื้อทองเหลือง พิมพ์มาตรฐาน และเนื้อสัมฤทธิ์ พิมพ์ชาวบ้าน 2.เหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ ปี2478 เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองเหลือง หรือเนื้อฝาบาตร 3.เหรียญหล่อพิมพ์ห้าเหลี่ยม วงการเรียกว่า “รุ่นล้างป่าช้า” 4.เหรียญหล่อพิมพ์เสมา เนื้อสัมฤทธิ์ (มีน้อยมาก)

พุทธคุณเหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ขึ้นชื่อในเรื่องมหาอุด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม จนเป็นที่เลื่องลือทั่วไป และเป็นเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมสูง มีสนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนปลายขึ้นไปจนถึงหลักล้าน

เหรียญของหลวงพ่อไปล่นั้นมีคำขวัญว่า "มีเหรียญหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง ใครจะมาฆ่าแกงก็ไม่ต้องกลัว ถึงไหนถึงกัน คงกระพันชาตรีดีนักแล"

#ฉัตรสยาม


ดู 49 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page