#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย. 2567
"หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร"เกจิดังวัดวังหว้า ระยอง
เจ้าตำรับ"ผ้ายันต์พัดโบก"/อายุยืนยาว100ปี
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
"หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร" หรือพระมงคลศีลาจารย์ ชาวบ้านทั่วไปเรียกนามท่านว่า “ท่านพ่อคร่ำ” อดีตเจ้าอาวาสวัดวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง ถือว่าเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ดัง
ที่มีชื่อเสียง มีอายุยืนยาวเกินร้อยปี และได้รับความเลื่อมใสศรัทธาของมหาชนทั่วฟ้าเมืองไทย โดยเฉพาะชาวทะเลตะวันออก
ท่านเป็นพระสงฆ์ร่วมยุคกับ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ปัตตานี, หลวงปู่ศรีจันทร์ วัดเลยหลง จ.เลย, หลวงปู่ม่น วัดเนินตามาก จ.ชลบุรี, หลวงปู่บุดดา วัดกลางชูศรีเจริญสุข, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง, หลวงปู่จู วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี, หลวงปู่เริ่ม ปรโม วัดจุกกะเฌอ จ.ชลบุรี ฯลฯ
ท่านมีนามเดิมว่า “คร่ำ” นามสกุล “อรัญวงศ์” เกิดเมื่อวันพุธ แรม 10 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2440 ที่บ้านวังหว้า ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง โยมบิดาชื่อ"นายครวญ" โยมมารดาชื่อ "นางต้อย" เป็นบุตรคนโต มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1 ช่วงเยาว์วัยบิดามารดาพาไปฝากเรียนหนังสือกับเจ้าอาวาสวัดวังหว้า เล่าเรียนและปรนนิบัติรับใช้อยู่ประมาณปีเศษ จึงย้ายมาเรียนหนังสือที่วัดพลงช้างเผือกและพำนักอยู่ที่นั่นจนอายุ 15 ปีก็กลับมาบ้านช่วยเหลือเป็นกำลังของครอบครัว
เมื่ออายุครบ 20 ปี อุปสมบทที่วัดวังหว้า วันจันทร์ที่ 11 มิ.ย.2460 โดยมี พระครูสังฆการบูรพทิศ (ปั้น อินทสโร) วัดราชบัลลังก์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกาหลำ รองเจ้าคณะแขวงแกลง วัดพลงช้างเผือก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เผื่อน วัดวังหว้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ยโสธโร”แปลว่า "ผู้ทรงไว้ซึ่งยศ "
ท่านศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท รวมทั้งได้ศึกษาหนังสือขอมจนอ่านและเขียนได้เป็นอย่างดี ท่องจำพระปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหนังสือขอมได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาตำราวิชาการต่างๆ ควบคู่กัน โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานและตำราแพทย์แผนไทยกับหลวงพ่อโต วัดเขาบ่อทอง (วัดเขาชากโดน) หนึ่งในพระอาจารย์ดังในด้านสมถะ วิปัสสนากรรมญาณ มีจิตตานุภาพ วิทยาคมเข้มขลังเป็นที่ร่ำลือกันมากในยุคนั้น
ตำแหน่งหน้าที่สำคัญ เริ่มจาก พ.ศ. 2464 เป็นเจ้าอาวาสวัดวังหว้า พ.ศ.2474 เป็นเจ้าคณะหมวดเนินฆ้อ พ.ศ.2479 เป็นเจ้าคณะตำบล พ.ศ.2486 เป็นพระอุปัชฌาย์
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2474 เป็นพระครูชั้นประทวน พ.ศ.2481 เป็นพระครู สัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี ปี 2521 เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ปี 2537 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอกที่ "พระครูสุตพลวิจิตร" พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่"พระมงคลศีลาจารย์"
หลวงปู่คร่ำเป็นพระที่มีจิตใจเมตตาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยโรคกระดูกเรื้อรัง ด้วยท่านเป็นพระหมอต่อกระดูกที่เลื่องลือ คนที่ขา แขนและกระดูกส่วนอื่นหัก ท่านต่อให้หายมานับรายไม่ถ้วน โดยใช้น้ำมันมนต์รักษา
ด้านลูกศิษย์ของท่านมีมากมายหลายอาชีพ ตั้งแต่ข้าราชการระดับบริหาร เศรษฐี ตลอดจนกระทั่งผู้ใช้แรงงาน แต่ท่านก็ให้ความเมตตาโดยเสมอภาคกัน มิได้มีการแยกหรือแบ่งชั้นวรรณะซึ่งสร้างปิติและศรัทธาต่อบรรดาสาธุชนเหล่านั้นที่มีอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ
หนึ่งในเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ ของท่าน ย้อนไปในยุคสมัยที่รัฐบาลจะตั้งกระทรวงแรงงานฯขึ้นมาใหม่ จำเป็นต้องมีเจ้ากระทรวง บรรดา ส.ส. ผู้ทรงเกียรติต่างตั้งความหวังที่จะได้เป็นเจ้ากระทรวงใหม่นี้กันสักครั้ง ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศรายชื่อไม่กี่วัน นายเสริมศักดิ์ การุณ ส.ส.ระยอง กับ นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตร พากันไปกราบหลวงปู่คร่ำให้ท่านเจิมหน้าผาก รดน้ำมนต์ เป่ากระหม่อม หลังจากนั้นไม่กี่วัน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งเลยว่า “มนต์หลวงปู่เฮี้ยน...” ปรากฏว่า ส.ส.ทั้งสองท่านได้เป็นรัฐมนตรี
วัตถุมงคลของท่านสร้างไว้หลายรุ่นทั้งที่ออกในนามวัดวังหว้า และวัดอื่นที่มาขออนุญาตจัดสร้าง ที่โด่งดังได้รับความนิยม อาทิ ผ้ายันต์พัดโบก ผ้ายันต์แม่ทัพ ตะกรุด เหรียญรูปเหมือน,พระสมเด็จ,รูปหล่อ,พระปิดตา และอีกหลายๆรุ่น
พระเครื่องของท่านมีพุทธคุณดีครบทุกด้าน ไว้าจะแคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม โชคลาภ รวมไปถึงคงกระพันชาตรี ทำให้ได้รีบความนิยมไม่เสื่อมคลาย หลายรุ่นยังมีมูลค่าเช่าหาที่สูงในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่อว
หลวงปู่คร่ำมรณภาพในวันจันทร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 1 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2540 เวลา 14.20 น. ด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา รวมอายุได้ 100 ปี 41 วัน โดยตลอดเวลา 15 วัน ที่บำเพ็ญกุศล ศิษยานุศิษย์แบะผู้เคารพศรัทธาหลั่งไหลกันมาเป็นแสนเป็นล้านคน!
#ฉัตรสยาม
Comentarios