คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 6 พ.ย. 2565
"หลวงปู่อิง"วัดโคกทม-เกจิ5แผ่นดิน116ปี
ศิษย์ปู่เทพโลกอุดร-สหธรรมิก"หลวงปู่หมุน"
หลวงปู่อิง(ฮิง) โชติโญ วัดโคกทม อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ เถราจารย์ 5 แผ่นดินที่มีอายุยืนยาวถึง 116 ปี ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่หมุน อดีตเกจิดังวัดบ้านจาน ท่านเป็นเถราจารย์ที่เลื่องลือในแถบอีสาน เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีพลังจิตแก่กล้าอย่างไม่มีใครเสมอเหมือน แม้แต่ตอนกลางคืนเทวดายังลงมาฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่าน
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นศิษย์ของ “หลวงปู่เทพโลกอุดร” ภิกษุผู้ได้ชื่อว่าเป็นตำนานอันเกรียงไกรและเร้นลับ มาจวบจนถึงปัจจุบัน
ท่านเกิดเมื่อปี.ศ. 2428 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ ต.บ้านสะแกชำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ท่านถือธุดงควัตรอยู่ในป่าลึก อาศัยอยู่ในถ้ำ ทั้ง พม่า ลาว เขมร ได้พบกับพระอาจารย์เก่ง ๆ หลายองค์และได้เคยฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นฯ ที่ภูเขาควาย ประเทศลาว เพื่อศึกษาการปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนออกเดินธุดงค์ต่อไป
หลังจากนั้นก็ธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ทั่วเมืองไทยโดยไม่แวะเข้าชุมชนใด ๆ ส่วนใหญ่จะธุดงค์อยู่ในป่าลึกเพียงลำพังเพียงรูปเดียว ท่านจะธุดงค์ในเขตป่าลึกในแถบทางภาคเหนือ และในเขต จ.เลย จ. เพชรบูรณ์ เขตเขาใหญ่ จ. นครราชสีมา และแถบเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอีสานใต้ ประเทศเขมรและลาวตามลำดับ
ในปี พ.ศ.2536 ท่านได้เดินทางออกจากป่าลึกเป็นครั้งแรกและได้มาโปรดญาติโยมในเขต อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ได้มีญาติห่าง ๆ ของท่านได้เข้านมัสการและสอบถามเรื่องจากท่าน ญาติของท่านจึงมีศรัทธาและได้นิมนต์รับมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์คงคำโคกทม (วัดโคกทม) ต.กันทรารมย์ อ.กระสัง จ. บุรีรัมย์
จากการตรวจสอบใบสุทธิของท่านพบว่ามีอายุ 107 ปี (ในปี 2536) ต่อมาหลวงปู่ได้ไปเยี่ยมญาติที่ จ.เพชรบูรณ์ ได้ถูกคนร้ายลักย่ามของท่านทำให้สิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นของใช้ส่วนตัวในการเดินธุดงค์ รวมทั้งใบสุทธิหายในครั้งนั้น ต่อมาท่านได้เดินทางกลับมาที่ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ได้แจ้งความที่ท่านเจ้าคณะอำเภอกระสัง ได้รับคำบอกกล่าวจากท่าเจ้าคณะอำเภอว่า ไม่จำเป็นต้องทำใบสุทธิก็ได้เนื่องจากชราภาพมากแล้ว
ในปี พ.ศ.2542 ท่านจำพรรษาอยู่ที่สำนักปฏิบัติธรรมบ้านโคกทม อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ โดยมีหลานชายของท่าน ชื่อ"พระอาจารย์ดุน อนีโฆ" เป็นเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์แห่งนี้
หลวงปู่ละสังขารเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2544 อายุ 116 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2544 ตอนประชุมเพลิง ปรากฏศพหลวงปู่ไม่ไหม้ไฟ เพียงแต่ดำเป็นตอตะโก จนต้องมีการขอขมาต่อสังขารของท่านขอให้ไหม้ไฟไปตามธรรมชาติ
จากข้อมูลของศิษยานุศิษย์หลวงปู่อิง และจากข้อมูลที่ได้นำลงเผยแพร่เมื่อครั้งที่หลวงปู่ยังดำรงค์ขันธ์อยู่ได้กล่าวถึงถึงบารมีของท่านไว้ว่าเป็นพระที่มีความเมตตาสูง ล่วงรู้อนาคต เวลาที่ท่านพูดอะไรในบางครั้งเราอาจจะยังไม่เข้าใจในขณะนั้น แต่ต่อไปในอนาคตก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ท่านกล่าวไว้เสมอ ๆ
หลวงปู่อิงท่านเก่งมาก ขนาดหลวงปู่หมุนยังให้ยอมรับว่าเก่งจริง ท่านทั้งสองนับว่าเป็นสหธรรมิกที่คุ้นเคยกันอย่างมาก อีกทั้งนิสัยอุปนิสัยของท่านสองยังมีหลายอย่างที่ใกล้เคียงกัน มีใจใฝ่รักในวิชาความรู้ เป็นผู้เข้มขลังในพลังด้านพุทธคุณ สันโดษ เป็นผู้ใฝ่ความก้าวหน้าทางกรรมฐาน มีทั้งเมตตาและอภิญญาเป็นเลิศ อายุยืนยาวนานกว่าร้อยปี และทั้งมีจริยวัตรอันงดงามไม่มีที่ติ จึงกล่าวได้ว่าท่านทั้งสองมีคุณธรรม จริยธรรมอันสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
นอกจากนี้ สิ่งที่เหมือนกันจากประวัติของท่านทั้งสองคือ เรื่องของการถ่ายรูป หากใครที่ไม่ขออนุญาต ก็จะถ่ายไม่ติด มีปัญหา อุปสรรค ไม่สามารถที่จะได้ภาพถ่ายของท่านง่ายๆ ที่สำคัญ ท่านยังมี “วาจาสิทธิ์” เช่นเดียวกัน เป็นที่รู้กันในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาว่า เมื่อท่านไม่อนุญาตก็ทำไม่ได้ และเมื่อท่านกล่าวอะไรก็จะเป็นไปตามนั้น รวมถึงเรื่องการได้รับพรจากท่าน ชีวิตก็จะรุ่งเรืองตามวาจาสิทธิ์ของท่านด้วย
นอกจากนั้น จวบจนเมื่อท่านละสังขาร ก็ยังเกิดความน่าอัศจรรย์ ในสังขารของท่านทั้งสอง “สังขารของหลวงปู่หมุนแข็งกลายเป็นหิน” ส่วนสังขารของหลวงปู่อิงในวันที่ประชุมเพลิงศพหลวงปู่ “ปรากฏหลวงปู่ไม่ไหม้ไฟ เพียงแต่ดำเป็นตอตะโก” ทั้งที่หลวงปู่อิง ท่านมีรูปร่างเล็กบาง
หลวงปู่อิง” และ “หลวงปู่หมุน” ทั้งสองท่านต่างก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “เถราจารย์๕ แผ่นดิน” มีอายุยืนยาวมากกว่า 100 ปีด้วยกันทั้งสองรูป หลวงปู่อิงละสังขารมีอายุกาล 116 พรรษา ส่วนหลวงปู่หมุน ฐิตสีโล มีอายุกาลได้ 109 พรรษา
เหรียญรุ่นแรกจริงๆของท่าน สร้างเมื่อปี2537 เมื่อคราวที่ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดพระแก้ว จ.เพชรบูรณ์ ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกหลังจากที่ออกจากป่า ส่วนรุ่นแรกที่วัดโคกทมออกปี2536 เป็นเหรียญรูปเหมือนหลังท้าวเวสสุวรรณ
ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า วัตถุมงคลของท่านอธิษฐานได้หมดทุกด้าน โดยเฉพาะแคล้วคลาดปลอดภัย และค้าขาย เพราะหลวงปู่ชอบคนขยันทำมาหากิน!
#ฉัตรสยาม
Comments