#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. 2566
"หลวงปู่เย่อ"วัดอาษาสงคราม
เกจิสายรามัญเมืองปากน้ำ
“ของดีทุกอย่าง-ขลังทุกรุ่น”
หนึ่งในอาจารย์ลพ.สุพจน์
"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติอดีตพระเกจิชื่อดังแห่งนครเขื่อนขันธ์ "หลวงปู่เย่อ โฆสโก" อดีตเจ้าาอวาสวัดอาษาสงคราม อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
หนึ่งในเกจิอาจารย์ดังขมังเวทย์ที่ผู้คนกล่าวขานถึงเสมอมา ท่านเป็นพระเชื้อสายรามัญ จัดเป็นพระนักพัฒนาองค์หนึ่งในสมัยนั้น ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้ง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนแถบนั้นมากมาย พระเครื่องและวัตถุมงคลของท่าน มีประสบการณ์ต่างๆนาๆมากมาย คนสมุทรปราการจะรู้กันดี โดยเฉพาะข้าราชการจะใช้ดี
นามเดิมท่านคือ "ไพทูรย์ (เย่อ)" นามสกุล "กงเพ็ชร์" ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2431 ตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด ที่บ้านทมัง ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันทั้งสิ้น 4 คน คือ1. นางหนู 2. นายบ๊ะ 3. หลวงปู่เย่อ (อาจารย์เย่อ) 4. นายเว่
ช่วงวัยเยาว์ บิดาพาไปทำบุญที่วัดด้วยเสมอ ทำให้เลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2444 ท่านมีอายุได้ 13 ปี บิดามารดาจึงได้พาท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอาษาสงคราม โดยมีท่านมหาขันธ์ เป็นอาจารย์ให้ศีลและอนุสัยบวชให้
หลังจากนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและรามัญจนมีความชำนาญ โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและพระคัมภีร์ต่างๆของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนวิชาการแพทย์ตามแบบโบราณสมัยไว้ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านอีกด้วย
เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้เข้าอุปสมบทที่วัดพญาปราบปัจจามิตรซึ่งอยู่ติดกัน เนื่องจากสมัยนั้นวัดอาษาสงครามยังไม่มีอุโบสถและพัทธสีมา แล้วนิมนต์ให้พระอธิการทอง วัดโมกข์ เป็นอุปัชฌาย์ พระอธิการเกลี้ยง วัดพญาปราบปัจจามิตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมวิสารธะ วัดโมกข์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ กำหนดวันอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2451 พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า "โฆสโก" แปลได้ว่า "ผู้มีความกึกก้องกังวาน" หมายถึง มีธรรมอันกว้างใหญ่ไพศาลถ้วนทั่วนั้น
หลังอุปสมบท ท่านยิ่งเพิ่มทวีศึกษาทางพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระมีความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ ท่านมีความสามารถมาก แต่ยังไม่ทันได้สอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทยด้วย ให้สอบโดยการขีดเขียนแทนแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้ล่วงพ้นความทุกข์ไปได้นั้นก็คือ การมุ่งศึกษาทางปฎิบัติธรรมกัมมัฎฐาน จึงมุ่งกลับไปศึกษาทางวิปัสสนากรรมฐานโดยการค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี จึงแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฎิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับ "หลวงพ่อหลิม" วัดทุ่งบางมด (ปัจจุบันคือ“วัดโพธิ์ทอง”) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูงและเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางพุทธเวทย์วิทยาคม อันมีชื่อเสียงเกรียงไกรในยุคนั้น จนกล่าวเป็นคำพูดว่า " หลวงพ่อหลิม วัดทุ่ง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่าควาย" หลวงพ่อรุ่งนั้นหมายถึง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร เกจิอาจารย์ที่โด่งดังในยุคเดียวกัน
หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิมจนท่านออกปากชมว่า หลวงปู่เย่อมีความพากเพียรดีมาก แม้จะมีอุปสรรคกีดขวางอย่างไร ก็พยายามฟันฝ่าเดินทางไปศึกษาโดยมิยอมลดละ ซึ่งในสมัยนั้นถนนหนทางก็มิใช่จะสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางจากพระประแดงไปวัดทุ่ง บางมดจะต้องใช้เรือแจวไปกว่าจะถึงก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมงทีเดียว
เมื่อสำเร็จทางวิปัสสนาจนมีความเชี่ยวชาญชำนาญดีแล้ว หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อมากจึงได้ให้เรียนวิชาทางพุทธเวทย์วิทยาคมต่อจนเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังที่ได้เรียนมาใช้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ จากนั้นจึงไปขอศึกษาวิชาจากอาจารย์ "กินรี" วัดบ้านเชียงใหม่ และ "อาจารย์พันธ์" วัดสะกา ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางคาถาอาคมไสยเวทย์มาก สามารถเสกสิ่งของให้มีชีวิตให้เห็นได้กับตาเช่นเดียวกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
หลวงปู่เย่อนับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม มีความกรุณาต่อทุกคนที่ไปกราบไหว้ท่านโดยเท่าเทียมกัน ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ดีเจรจาปราศรัยด้วยความเป็นกันเอง และไม่เคยอวดอ้างความเก่งกล้าใด ๆ ให้ใครรู้เห็น มีแต่คอยสั่งสอนอบรมศีลธรรมแก่ทุก ๆ คนที่ไปหาให้หมั่นทำคุณงามความดี
ต่อมาปี พ.ศ. 2518 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พัดยศสีขาวฝ่ายวิปัสสนาในนาม“พระครูสังฆวุฒาจารย์” ท่านเป็นที่ศรัทธาของประชาชนจำนวนมาก โดยมีชีวิตยืนยาวอยู่จนถึงอายุ 94 ปีจึงมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2524
วัตถุมงคลของหลวงปู่เย่อมีหลายชนิด เช่น พระปิดตา รูปหล่อ พระผงหลวงพ่อโต เหรียญรูปเหมือนซึ่งมีทั้งหมด 4 รุ่น เหรียญรุ่นแรกประสบการณ์มากมาย ราคาพุ่งไปไกลในทุกสนาม ถามหาไม่มีใครอยากปล่อยให้หลุดมือ เพราะอาจจะต้องไปเจอ “ของเก๊”
มงคลวัตถุของท่านสร้างด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษทุกขั้น สร้างด้วยความตั้งใจจริง มีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง มิได้สร้างเพื่อแสวงหา ผลประโยชน์ ดังนั้น มงคลวัตถุแต่ละอย่างของหลวงปู่เย่อจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธานุภาพอย่างเหลือล้น มีประสบการณ์มากมาย สามารถคุ้มครองป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ให้แคล้ว คลาดปราศจากภัยต่างๆได้อย่างวิเศษ
ทั้งนี้ หลวงพ่ออินเทวดาท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์ของ"หลวงพ่อสุพจน์ จนฺทูปโม" วัดศรีทรงธรรม ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อทั้งทางด้านคงกระพันและมหาเสน่ห์ โชคลาภ ซึ่งถึงกาลมรณภาพลวด้วยวัย 71ปี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 66 ผ่านมา
#ฉัตรสยาม
Comments