คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ย. 2566
“หลวงพ่อเกลี้ยง อินฺทสโร” วัดเขาใหญ่
เกจิเมืองกาญจน์”สายเมตตา-แคล้วคลาด”
ศิษย์พุทธาคม"หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้"
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
หลวงพ่อเกลี้ยง อินฺทสโร วัดเขาใหญ่ หรือพระครูอินทรสรวุฒิคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่ จ.กาญจนบุรี หนึ่งในพระเกจิอาจารย์อาคมขลังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ศิษย์สืบทอดพุทธาคมของพระวิสุทธิรังษี หรือ “หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร” วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี และอดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี
ท่านมีนามเดิมว่า “เกลี้ยง ครุฑศิริ” เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2444 ณ บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 7 ต.ท่าไม้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เป็นบุตรของนายเขียว และนางผิว มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 6 คนเป็นหญิง 2 คน โยมบิดามารดามีอาชีพทำนา เมื่อท่านมีอายุได้ 14 ปีได้เกิดอาการล้มป่วยมีโรคแทรกซ้อน โยมทั้งสองจึงเที่ยวหาหมอรักษาโรคที่ว่าเก่ง แต่ก็ไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้สักราย จึงต้องพึ่งพระหมอวัดคร้อพนัน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน จึงโดยนำท่านมารักษาหวังเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย
ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อใช้ ท่านได้จัดยาแผนโบราณเป็นยาต้มให้กิน ไม่นานอาการของท่านก็หายเป็นปกติ บิดามารดาจึงถวายท่านให้เป็นบุตรบุญธรรมอยู่รับใช้ โดยหลวงพ่อใช้ท่านเมตตาสอนสั่งให้เรียนหนังสือ เขียนอ่านจนแตกฉานทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ท่านเป็นเด็กหัวไว เรียนหนังสือได้เก่ง สอนเพียงครั้งเดียวก็จำได้ จึงเป็นที่โปรดปรานของหลวงพ่อใช้ โดยท่านอยู่รับใช้พระอาจารย์เป็นเวลา 4 ปี จนกระทั่งอายุครบ 18 ปี หลวงพ่อใช้จึงบวชเณรให้ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และอยู่รับใช้พระอาจารย์
ปี พ.ศ.2464 ท่านมีอายุ 29 ปีจึงเข้าอุปสมบท ณ วัดคร้อพนัน ต.ท่าไม้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โดยมีหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อหลิน เจ้าอาวาสวัดคร้อพนัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อใช้ วัดคร้อพนัน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า "อินฺทสโร" หลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาแรกที่วัดคร้อพนัน และศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากหลวงพ่อใช้ ซึ่งท่านมีความชำนาญเรื่องว่านยา สมุนไพร โดยได้รับสืบทอดมาจากหลวงพ่อหลิน เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดคร้อพนัน ซึ่งท่านเป็นปรมาจารย์ด้านยาแพทย์แผนโบราณที่มีการสืบทอดกันมา
พรรษาที่ 2 ท่านได้ไปศึกษาที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) สอบได้นักธรรมชั้นตรี นอกจากนี้ยังได้ศึกษาพุทธาคมจากหลวงพ่อเปลี่ยน พระอุปัชฌาย์ของท่านซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มแม่น้ำกลอง เชี่ยวชาญทางด้านไสยศาสตร์ วิปัสสนากรรมฐาน พุทธาคมแก่กล้า วัตถุมงคลเหรียญรุ่นแรก เสื้อยันต์ ตะกรุด ลูกอมของท่านขลัง มีชื่อเสียงลื่อลั่นเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งออกพรรษาจึงได้ลากลับวัดบ้านเกิด
หลวงพ่อเกลี้ยงเป็นพระผู้คงแก่เรียน นอกจากวิชาแพทย์แผนโบราณและพุทธาคมต่างๆที่ท่านได้ร่ำเรียนจากพระอาจารย์แล้ว ท่านยังได้ศึกษาวิชาหวายคาดเอวและหวายมงคลสวมแขน โดยดั้นดันมาเรียนวิชาหวายกับหลวงพ่อที่วัดสามกระบือเผือก จ.นครปฐม จนเรียนสำเร็จและทำได้ขลังไม่แพ้ของอาจารย์
พรรษาที่ 3-5 จำพรรษาที่วัดคร้อพนันอยู่รับใช้ปรนนิบัติหลวงพ่อใช้ พอพรรษาที่ 6 หลวงพ่อใช้ล้มป่วยด้วยโรคชรา ท่านได้พร่ำสอนหลวงพ่อเกลี้ยง โดยให้คติธรรมโรคอื่น ๆ หาหมอพอรักษา แต่โรคชรา หมดทางแก้ไข พรรษาที่ 7 หลวงพ่อใช้ได้สอนไว้ เรื่องความตายเป็นธรรมดา สังขารไม่เที่ยงแท้ มีแต่ทรุดโทรม แม้ท่านป่วยยังเอ่ยสอนธรรมธรรมะ หลวงพ่อใช้ท่านมีสติดีไม่หลงลืม ท่านได้กำหนดวันตายไว้ พอถึงตอนปลายปีท่านได้จากไปตามว่าไว้จริง ออกพรรษาจัดงานศพหลวงพ่อใช้ใด้เสร็จครบถ้วน
ก่อนมรณภาพหลวงพ่อใช้สั่งไว้ว่า เมื่อท่านสิ้นแล้วให้ไปหาพระอาจารย์ชื่น วัดปากบาง ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดคร้อพนันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ เมื่อหลวงพ่อเกลี้ยงมาถึงวัดปากบาง พระอาจารย์ชื่นได้รับเป็นศิษย์ และถ่ายทอดวิชาอาคมให้จนหมดสิ้น โดยหลวงพ่อเกลี้ยงได้อยู่รับใช้และศึกษาวิชากับพระอาจารย์ชื่นถึง 5 ปี ตั้งแต่พรรษาที่ 8-12
เมื่อศึกษาวิชาอาคมจากพระอาจารย์ชื่นจนจบ ตั้งใจจะกราบลากลับวัดคร้อพนัน พอย่างเข้าเดือน 5 ชาวบ้านเขาใหญ่ ต.โคกตะบอง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากวัดปากบาง ประมาณ 4 กิโลเมตร ได้มาหาพระอาจารย์ชื่นเพื่อขอพระมาอยู่ดูแลจัดการวัดเขาใหญ่เป็นสมภารเจ้าวัด
พระอาจารย์ชื่นเล็งเห็นว่าศิษย์รักของท่านมีความเหมาะสม เชี่ยวชาญเวทย์มนต์คาถา พอที่จะเป็นที่พึงแก่ชาวบ้านได้ จึงบอกให้ชาวบ้านเขาใหญ่กลับไปก่อน เมื่อถึงกำหนดชาวบ้านเขาใหญ่ได้มานิมนต์หลวงพอเกลี้ยง ไปเป็นสมภารวัดเขาใหญ่ในปี พ.ศ. 2491 โดยขณะนั้นวัดยังไม่มีอุโบสถ มีเพียงกฏิ2 หลัง ท่านจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเสนาสนะภายในวัด
ปี พ.ศ.2515 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ที่ "พระครูอินทรสรวุฒิคุณ” ปี พ.ศ.2520 ทางวัดเขาใหญ่ได้จัดงานฉลองอุโบสถผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต ชึ่งอุโบสถนี้ท่านได้ออกแบบก่อสร้างได้อย่างสวยงามมาก ประตูและหน้าต่างแกะจากไม้สักลวดลายฉลุ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ หน้าบันด้านบนเป็นพระปางนาคปรก ด้านล่างพระนารายณ์ทรงโค
หลังจากงานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต หลวงพ่อเกลี้ยงมีสุขภาพอ่อนแอ เนื่องจากตรากตรำงานหนักวัดนับแต่รับตำแหน่งเจ้าอาวาสเขาใหญ่ ซึ่งการสร้างเสนาสนะภายในวัดหลวงพ่อเกลี้ยงท่านตั้งใจสร้างด้วยความพากเพียร ถึงขนาดลงมือตัดไม้เอง เลื่อยไม้เอง
ย่างเข้าสู่วัยชราเกิดโรคเเทรกซ้อนเป็นเวลา 1 ปี มีอาการหนัก ลูกศิษย์นำท่านส่งโรงพยาบาล แต่อาการมีแต่ทรงและทรุดหนักลง หลังจากรักษาอยู่ 1 ปีครึ่ง ลูกศิษย์จึงนำหลวงพ่อเกลี้ยงกลับวัดเขาใหญ่โดยมีลูกศิษย์คอยดูแลปรนนิบัต จนกระทั่งท่านมรณภาพด้วยโรคชราอย่างสงบ ณ วัดเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2525 สิริอายุได้ 82 ปี 63 พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเกลี้ยง วัดเขาใหญ่ เหรียญวัดเขาใหญ่รุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2500 เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ในการสร้างเสนาสนะต่างๆ เป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เหรียญรุ่น2 สร้างปีพ.ศ.2515 เป็นเหรียญเสมาแบบมีหูในตัว มีเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง ข้อควรระวังสำหรับเหรียญรุ่นนี้จะมีการเอาเหรียญย้อนมาเล่นหาเป็นพระที่ทันหลวงพ่อ ให้สังเกตตรงไม้เอกของคำว่า “วัดเขาใหญ่” ของย้อนจะอยู่บนตัว ห.หีบ ซึ่งสร้างโดย”อาจารย์แถม”ประมาณปี 2540 กว่าๆ
พระสมเด็จสร้างปีพ.ศ.2516 ซึ่งในปีนั้นได้ทำพิธีในวันเสาร์5 ลักษณะเป็นพระสมเด็จพิมพ์สี่เหลี่ยมเนื้อผงพุทธคุณ โดยผงพุทธคุณต่างๆนั้นเป็นผงที่ได้รวบรวมโดยหลวงพ่อและผงที่ท่านลบเองผสมอยู่ด้วย จำนวนการสร้าง 5,000 องค์
เหรียญใบโพธิ์ รุ่นพิเศษ สร้างปีพ.ศ.2518 เป็นเหรียญรูปใบโพธิ์แบบมีหูในตัว มีเนื้อเงิน และเนื้อนวโลหะ เหรียญกริ่งสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2520 เพื่อแจกจ่ายในงานผูกพัทธสีมาของวัดเขาใหญ่ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว แต่มีเอกลักษณ์ที่มีการบรรจุเม็ดกริ่ง มีเนื้อนวะหน้ากากเงิน และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
ล็อกเก็ตหินอ่อนสร้างปีพ.ศ.2520 เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตของทางวัด ลักษณะเป็นล็อกเก็ตหินอ่อนสกรีนรูปหลวงพ่อ โดยมีการเลี่ยมทองเดิมมาจากวัด มีการสร้างเพียง 3 แบบ คือรูปไข่ขนาดเล็ก รูปไข่ขนาดใหญ่ และรูปหัวใจ
พระบูชารุ่นแรกสร้างปี พ.ศ.2520 เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตของทางวัด เป็นรูปหล่อบูชาขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง, รูปหล่ออุดกริ่งรุ่นแรก สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2525 ลักษณะเป็นพระรูปหล่อปั๊มอุดกริ่ง มีเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองเหลือง
ผ้ายันต์สร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ.2525 ลักษณะเป็นผ้าสีขาวพิมพ์ยันต์หมึกสีดำ,ผ้ายันต์พระพุทธสร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ.2520 เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นผ้าสีขาวพิมพ์ยันต์หมึกสีดำ,ผ้ายันต์ธงสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2520 เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นผ้าสีเหลืองทรงสามเหลี่ยม พิมพ์ยันต์หมึกสีดำ มีชายธงเป็นเส้นด้าย ผ้ายันต์ทุกแบบของท่านจัดเป็นเครื่องรางที่หายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
หวายคาดเอวสร้างขึ้นก่อนปีพ.ศ.2520 สร้างจากหวายที่ตัดมาอย่างถูกต้องตามตำราของหลวงพ่อเกลี้ยง ซึ่งวิชาหวายลงอาคมของท่านนั้นจัดว่าเป็นของดี-หายาก หวายของหลวงพ่อเกลี้ยงมีเอกลักษณ์ตรงที่จะใช้หวายเต็มทั้งเส้น ไม่มีการผ่า (ถ้าผ่าเชื่อกันว่าสร้างในยุคแรกๆ) ส่วนตรงหัวจะถักด้วยด้ายดิบเพื่อใช้คาดเอว โดยส่วนหัวเป็นกลมๆ ซึ่งหวายจะมีรอยจารเต็มทั้งเส้น
ในด้านพุทธคุณนั้น เชื่อกันว่าเมตตา มหานิยม ค้าขายเป็นเลิศ แก้คุณไสยมนต์ดำ แคล้วคลาด นับเป็นของดีที่น่าเสาะหาเป็นอย่างมาก
#ฉัตรสยาม
Comentarios