top of page
ค้นหา

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ. 2566 “หลวงปู่บุญเกิด”วัดเขาดิน

รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ. 2566

ย้อนรอยธรรมตำนานชีวิต

“หลวงปู่บุญเกิด”วัดเขาดิน

ศิษย์"พ่อกบ"วัดเขาสาลิกา

เกจิสืบสายวิชาหลวงปู่ศุข"

"ย้อนรอยเกจิดัง"ร่วมย้อนรอยธรรมตำนานชีวิต พระครูอุดมชัยกิจ หรือ"หลวงปู่บุญเกิด ปณฺฑิโต" อดีตเจ้าคณะตำบลหนองมะโมงอดีตเจ้าอาวาสวัดเขาดิน จ.ชัยนาท ซึ่งมรณภาพด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลหนองมะโมง เมื่อเวลา19.20 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70

หลวงพ่อเกิด วัดเขาดิน ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่สืบสายวิชาคมของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อกบ สำนักเขาสาริกา และเป็นศิษย์น้องของหลวงพ่อโอภาสี แห่งอาศรมบางมด

ย้อนอดีตไปเมื่อ60-68ปี ในพื้นที่หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ค่อนข้างทุรกันดาร ด้วยสภาพพื้นที่ที่ชุกชุมไปด้วยชุมโจรปล้นวัวปล้นควาย ประกอบกับอีกหลากหลายปัญหานานัปการ

ชาวบ้านในชุมชนต้องการที่อาศัยพึ่งพิง โดยเฉพาะพระเถระที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสศรัทธาและเข้มขลังด้วยวิทยาคม ช่วยสงเคราะห์ให้ชุมชนมีความร่มเย็นเป็นสุข พระภิกษุรูปนั้น คือ "หลวงพ่อเกิด ปัณฑิโต"

ท่านมีนามเดิมว่า บุญเกิด จันทรา เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2475 ณ บ้านเขาดิน ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เป็นบุตรของนายกรมและนางสี จันทรา

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2495 ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเขาดิน มีพระครูสิงหชัยสิทธิ์ (ฉะอ้อน) วัดพาณิชย์ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการสมทบ วัดศรีสโมสร อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการบรรจง วัดเขาดิน ต.หนองมะโมง อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า "ปัณฑิโต" หมายถึง "ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญาฉลาดรอบรู้"

หลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษา ณ วัดเขาดิน ประจวบเหมาะกับในปีนั้น ท่านเจ้าขุนวาปินทร์ (หรือเจ้าขุนน้อยแห่งบ้านหนองขุ่น) ศิษย์ฆราวาสก้นกุฏิรุ่นอาวุโสของหลวงปู่ศุข อีกท่านหนึ่ง ได้ถือเอาฤกษ์วัน 5 เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำจัดเป็นพิธีไหว้ครูเสาร์ 5 ขึ้น

นับเป็นพิธีไหว้ครูครั้งยิ่งใหญ่ ในงานไหว้ครูครั้งนี้เจ้าขุนวาปินทร์ได้เปิดโอกาสถ่ายทอดวิทยาคมให้แก่เหล่าศิษย์ด้วยตัวท่านเอง

หลวงพ่อเกิด เรียนวิชาแก้วิชาถอนวิชาป้องกันรักษาและวิทยาคมต่างๆ จากท่านเจ้าขุนโดยตรง พ.ศ.2496 ท่านจึงไปศึกษาพระปริยัติธรรมและกัมมัฏฐานเบื้องต้นในสำนักวัดสิงห์ สมัยที่พระครูฉะอ้อน พระอุปัชฌาย์เป็นเจ้าสำนัก

พระครูฉะอ้อน เป็นเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดกับหลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ด้วยความใกล้ชิดทั้งพระครูฉะอ้อนและอาจารย์ฆราวาสอีกหลายท่านที่เป็นศิษย์สายตรงหลวงปู่ศุข ประกอบกับความใฝ่รู้ หลวงพ่อเกิดจึงได้ซึมซับศึกษาสรรพวิทยาการในสายหลวงปู่พอสมควร ทั้งวิชาปรอทจากหมอยาเฒ่า วิชาเสกขี้ผึ้ง เป็นต้น รวมทั้งสรรพวิชาอีกบางบท เขียนอักขระลงบาตรแล้วบริกรรม

พ.ศ.2498 ได้ฝึกวิชากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อชื้น วัดเขาพลอง และได้รับการชักชวนให้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อกบ วัดเขาสาลิกา (อาจารย์ของหลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด) อีกด้วย โดยเมื่อครั้งที่หลวงพ่อเกิด เข้าไปกราบหลวงพ่อกบ ท่านไม่พูดจาตอบ แต่ท่านจุดเทียนตั้งไว้ 6 เล่มแล้วใช้มือดับทีละเล่มจนเหลือเทียนเล่มเดียว ท่านจึงหยิบเทียนเล่มนั้นขึ้นมานั่งเพ่งเท่านั้น ท่านว่าเป็นปริศนาธรรมเกี่ยวกับการสอนเรื่องอายตนะ ผัสสะ การแยกรูป-นาม แยกกองกัมมัฏฐานจนถึงขั้นกายละเอียด

พ.ศ.2499-2500 หลวงพ่อเกิดออกจาริกธุดงค์ปลีกวิเวกบำเพ็ญเพียรทางจิตขึ้นไปทางนครสวรรค์โดยมุ่งหน้าไปทางเหนือ

พ.ศ.2501-2506 กลับมาเยี่ยมโยมบิดามารดาและออกธุดงค์ กระทั่งกลับมาพบสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติ ณ ถ้ำเขาตะพาบ จ.อุทัยธานี

พ.ศ.2507 ชาวบ้านและบรรดาญาติโยมได้ร่วมใจนิมนต์ท่านมาจำพรรษา ณ วัดเขาดินท่านจึงได้ปกครองวัดเขาดินตั้งแต่นั้นสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ในด้านการพัฒนาในศาสนกิจนั้น หลวงพ่อเกิด ได้ทำหน้าที่โดยมิได้ขาดตกบกพร่อง ทั้งทางด้านคันถธุระ (การศึกษาและเผยแพร่) และวิปัสสนาธุระ (การฝึกจิตเพื่อความหลุดพ้นทางใจ) สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจจริงของท่านที่จะเผยแผ่ให้ถึงที่สุด จนเป็นที่ถูกใจสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง

พ.ศ.2519 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้มีเมตตาเป็นองค์ประธานฉลองอุโบสถวัดเขาดิน ในปีเดียวกัน หลวงพ่อเกิด ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะตำบลกุดจอ-หนองมะโมง

พ.ศ.2536 วัดเขาดินได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่นประจำปี และพ.ศ.2537 หลวงพ่อเกิดได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ "พระครูอุดมชัยกิจ"

การจัดสร้างวัตถุมงคลของท่านนั้นเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2508 เป็นพระสมเด็จรุ่นแรกพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก จัดสร้างด้วยเนื้อผงกระดูกคนโบราณสูง 6 วา 9 ศอก นอนขวางตะวันที่ค้นพบบนยอดเขาผสมผงพระธาตุสิวลีและผงพุทธคุณ 108 ในสมัยนั้น ด้านหลังเป็นอักษรจมเขียนว่า “ที่ระลึกวัดเขาดิน ตรงกลางเป็นยันต์ตัว เฑาะว์” ให้พระเณรกดพิมพ์กันเองภายในวัด หลังจากอธิษฐานจิตปลุกเสกเรียบร้อยแล้วได้แจกจ่ายให้กับศิษย์ที่เดินทางมากราบไว้ขอพรและได้ร่วมทำบุญสร้างวัด ส่วนหนึ่งได้เก็บไว้ท่านยังไม่อนุญาต” บนยอดมณฑป

พระเนื้อชินตะกั่วของท่านชาวบ้านเรียกกันว่ารุ่น " โดดบาตร " เนื่องจากในขณะทำพิธีพุทธาภิเษก พระชุดนี้ในบาตรของหลวงพ่อโดดเด้งออกมาจากบาตรเป็นที่อัศจรรย์ของบรรดาญาติโยมที่อยู่ในพิธี งานนี้เห็นกันด้วยตาเปล่าทุกคนครับหลายๆท่านยังมีชีวิตอยู่

สำหรับรุ่นนี้สร้างตั้งแต่ปี 2507-2508 และเข้าพิธีเสกในปี 2519 อีกครั้ง เมื่อคราวฉลองพระอุโบสถ มี 3 พิมพ์คือ 1.พิมพ์หลังลายผ้า

2.พิมพ์ตัวหนังสือตั้ง 3.พิมพ์ตัวหนังสือนอน

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ออกปี2519 หลังจากนั้นท่านได้สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังรุ่นต่างๆออกมาในโอกาสและวาระต่าง ๆจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

#ฉัตรสยาม





 
 
 

Comments


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page