top of page
ค้นหา

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค. 2566 “หลวงพ่อทองอยู่” วัดใหม่หนองพะอง

  • รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริ
    อ.อนุชา ทรงศิริ
  • 17 ธ.ค. 2566
  • ยาว 2 นาที

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค. 2566

“หลวงพ่อทองอยู่” วัดใหม่หนองพะอง

เกจิดังร่วมยุค"หลวงปู่โต๊ะ-หลวงพ่อสุด"

เจ้าตำรับ”เหรียญดับดาว-สมเด็จหลังเสือ”

พระครูสุตาธิการี หรือ “หลวงพ่อทองอยู่ ยโส” อดีตเจ้าอาวาสวัดใหม่หนองพะอง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เกจิอาจารย์ร่วมสมัยกับ”หลวงพ่อสุด วัดกาหลง” หนึ่งในอาจารย์ของจอมโจรตี๋ใหญ่ในตำนาน เจ้าตำรับเหรียญเสือเผ่น หลังยันต์ตะกร้อ และสหธรรมิกหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กทม.

ท่านเกิดในตระกูล “ชมปรารภ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “สิงหเสนี” ซึ่งเป็นตระกูลนักรบ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พ.ค.2430 เป็นบุตรคนที่ 3 ของ นายคำ และนางปั่น ชมปรารภ เมื่ออายุประมาณ 30 ปีได้เข้าอุปสมบท ณ วัดใหม่หนองพะอง ต.หนองแขม อ.กระทุ่มแบน จ.ธนบุรี(สมัยนั้น) เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2461 โดยมี หลวงพ่ออาจ วัดดอนไก่ดี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อคง วัดหงอนไก่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อแห วัดใหม่หนองพะอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ครั้นพอพรรษาแรก จิตใจรู้สึกสงบและซาบซึ้งในรสพระธรรมจึงอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ตลอดมา

สมัยที่ท่านยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ท่านได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรกว่า 30 ปี ไปในที่ทุรกันดารต่างๆ ที่ใดที่มีพระอาจารย์เก่งกล้าทางคาถาอาคม หรือเก่งทางด้านปฏิบัติธรรมก็จะไปฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อขอศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ โดยทุกปีท่านจะเดินธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมที่ภาคเหนือเป็นประจำ ทำให้มีโอกาสได้กราบนมัสการครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย อีกทั้งยังเป็นศิษย์ในกรรมฐานของครูบาศรีวิชัย โดยท่านเคยชักชวนหลวงพ่อทองอยู่ให้อยู่ด้วยกัน แต่หลวงพ่อทองอยู่ยังติดภาระที่ต้องดูแลวัด จึงต้องเดินทางกลับ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้ถวายปัจจัยค่าเดินทางกลับให้อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ท่านยังได้เรียนวิชาเพิ่มเติมจากหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ศิษย์รุ่นน้องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งมีอาจารย์ร่วมสำนักเดียวกันคือ หลวงปู่แสง วัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี (ศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันอีกท่านคือ หลวงปู่แก้ว วัดเครือวัลย์)

สมัยนั้นยังมีพระเกจิอาจารย์อีกหลายท่านที่มาขอเรียนวิชาเพิ่มเติมจากหลวงปู่ทอง เช่น หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรี อยุธยา, หลวงปู่คง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม, หลวงปู่จาด วัดบางกะเบา จ.ปราจีนบุรี, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ, พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่ออี๋ สัตหีบ จ.ชลบุรี หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ฯลฯ

เรื่องพลังจิตของท่านนั้นกล่าวกันว่าสุดยอด เล่ากันว่า มูลเหตุที่ท่านได้รับฉายาจากศิษยานุศิษย์ทั้งหลายว่า "หลวงพ่อทองอยู่ ดับดาวเดือน" เพราะท่านเคยแสดงให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดดู โดยถามว่า ต้องการให้ดับดาวดวงไหน ให้ลองชี้มา แล้วท่านจะดับให้ดู ครั้นพอลูกศิษย์บอกว่าต้องการดูดวงไหนดับแล้ว ท่านบริกรรมคาถาสักครู่ แล้วชี้ไปที่ดาวดวงนั้น แสงดาวก็จะหายวับดับไปในทันทีราวกับปาฏิหาริย์

วิชาที่สุดยอดของท่านอีกอย่างคือ ลงกระหม่อมด้วยน้ำมันจันทน์หอม ใครได้ลงครบ 3 ครั้งรับรองได้ว่าไม่มีตายโหง และไม่อดไม่อยาก เป็นที่รักใคร่ของคนโดยทั่วไป ท่านเจริญเมตตาจนมีฝูงปลาสวายมาอยู่หน้าวัดเต็มไปหมดเลย

ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ โดยเรียนวิชายันต์ตรีนิสิงเหจากหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร มาด้วยกัน งานไหนมีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือวัตถุมงคล ที่นั่นจะมีหลวงปู่โต๊ะกับหลวงพ่อทองอยู่เคียงคู่กันเสมอ และท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ 1 ใน 4 องค์ ที่หลวงปู่โต๊ะนิมนต์มาในงานครบรอบวันเกิดของท่านทุกปี อีกสามองค์ที่เหลือ องค์แรก คือ หลวงปู่ธูป วัดแคนางเลิ้ง กรุงเทพฯ องค์ที่ 2 หลวงพ่อฮะ วัดดอนไก่ดี สมุทรสาคร องค์ที่ 3 เป็นพระจีน (ไม่ทราบชื่อ)

หลวงพ่อทองอยู่ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2526 สิริอายุได้ 96 ปี 9 เดือน 9 วัน 65 พรรษา

วัตถุมงคลที่สร้างในสมัยที่หลวงพ่อทองอยู่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเทียบกับพระเกจิอาจารย์อื่นๆ ที่ร่วมสมัยเดียวกัน อย่างเช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อสุด วัดกาหลง, หลวงปู่ธูป วัดแคนางเลิ้ง, หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์โก่งธนู ฯลฯ แล้วถือว่าน้อยมาก และมีเพียงไม่กี่แบบ ซึ่งปัจจุบันสามารถศึกษาหาข้อมูลได้ตามเว็บไซต์พระเครื่องต่างๆ เช่น เหรียญรุ่นแรกสร้างปีพ.ศ.2509 จัดสร้างขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองอายุครบ80ปี เท่าที่พบมีเพียงเนื้อเดียวคือ เนื้อทองแดง ส่วนผิวเหรียญมี นิกเกิล ผิวไฟ และรมดำ จำนวนสร้างน่าจะไม่เกิน 2,000เหรียญ

ทั้งนี้ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อที่อยู่แถวเซียงกง เป็นคนจ้างช่างแกะบล็อกถวาย เหรียญที่ปั๊มมาชุดแรก เป็นบล็อค “สุตาธิการ” ซึ่งพอหลวงพ่อเห็นแกะชื่อท่านผิดเป็น “พระครูสุตาธิการ” คือตก”สระอี”ไป จึงให้แกะบล็อกใหม่เพิ่มสระอีเข้าไป แล้วปั๊มออกมาใหม่อีกชุด เป็นบล็อค”สุตาธิการี” แล้วนำมาปลุกเสกพร้อมกันหลังจากที่ได้ปลุกเสกแล้ว ส่วนหนึ่งหลวงพ่อเก็บไว้แจกลูกศิษย์ลูกหา ส่วนที่เหลือบรรดาลูกศิษย์ก้นกุฏิหลายๆท่าน ก็แบ่งกันเอาไปแจกกันเอง

เหรียญรุ่นดับดาว ปี2521 เป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มากที่สุด สาเหตุที่เรียกว่า “รุ่นดับดาว” เพราะในวันปลุกเสกพระ หลวงพ่อทองอยู่ ได้แสดงวิชาดับดาวบนท้องฟ้าให้ลูกศิษย์ดู ที่สำ คัญด้านหลังเหรียญรุ่นนี้มีรูปดาวอยู่ 3 ดวงจึงสอดคล้องกับชื่อรุ่นว่าดับดาว ซึ่งในหมู่ลูกศิษย์บางคนหวงมากกว่าเหรียญรุ่นแรก

พระกริ่ง-ชัยวัฒน์สุตาธิการี ปี2526, พระกริ่งตั๊กแตนมี 3 รุ่น (ปี2509, 2519, 2526) นอกนั้นก็เป็นพวกพระปิดตา, ล็อกเกต, ภาพถ่าย, ท้าวเวสสุวัณ เนื้อผงใบลาน เป็นต้น

สำหรับพระเครื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุด ท่านสร้างมาก่อนปีพ.ศ.2500 คือ พระสมเด็จ มีพระสมเด็จเนื้อผงขาว และพระสมเด็จเนื้อผงใบลาน (สีดำ) มีหลายพิมพ์ แต่ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและถือเป็นเอกลักษณ์ของท่านก็เห็นจะเป็น "สมเด็จหลังเสือเผ่น" ซึ่งสร้างมา 2-3 รุ่น หลายรูปแบบ (เสือเล็ก-เสือใหญ่) หลายพิมพ์ ปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง

พระสมเด็จเนื้อผงของท่านสร้างจากผงวิเศษที่ท่านเก็บสะสมและทำไว้ด้วยตัวของท่านเอง ท่านมีความสามารถลบผงวิเศษทั้ง 5 ประการ คือ ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห ตามตำรับเดียวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) โดยผสมน้ำมันจันทน์หอม ลงไปในเนื้อพระดังกล่าวด้วย ทำให้พระสมเด็จของท่านนั้นมีพุทธคุณโดดเด่น

สมเด็จทุกรุ่นของท่านนั้นมีมวลสารสุดยอดจริงๆ มีทั้งผงสมเด็จเก่าๆ ที่หลวงพ่อได้รวบรวมไว้ เช่น ผงแตกหักของพระวัดระฆัง, ผงแตกหักของพระกรุวัดบางขุนพรหม ซึ่งแต่ก่อนนั้นหาได้ไม่ยากนัก และที่สำคัญ คือ ผงของวัดพระยาบึงสุเรนทร์ (หลวงปู่ทองเป็นประธานการปลุกเสก) ซึ่งได้มาจากตระกูลของท่าน ดังนั้นในแต่ละรุ่นจึงสร้างได้น้อยและมีไม่มากนัก เพราะท่านพิถีพิถันในการสร้างพระสมเด็จเป็นอย่างมาก ไม่ให้เสีย ชื่อสำนักและครูบาอาจารย์ก็ว่าได้

หากใครต้องการหาพระสมเด็จวัดระฆัง หรือสมเด็จวัดบางขุนพรหมขึ้นคอสักองค์ แล้วหาไม่ได้ เพราะสนนราคาในปัจจุบันสูงมาก ก็สามารถอาราธนาพระสมเด็จของหลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง คล้องคอทดแทนได้เลย เพราะมีพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ครบเครื่องเช่นกัน!!

#ฉัตรสยาม


 
 
 

Commentaires


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page