top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. 2566 “หลวงพ่อรวย จันทสิริ” วัดท่าเรือ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. 2566

“หลวงพ่อรวย จันทสิริ” วัดท่าเรือ

เกจิระยอง”สายเมตตา-แคล้วคลาด”

ร่วมยุคหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

"ย้อนรอยเกจิ"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติอดีตพระเกจิชื่อดังแห่งจังหวัดระยองที่มีนามมงคลว่า"รวย"อีกหนึ่งท่านคือ พระครูสุนทรธรรมานุศาสก์ หรือ 'หลวงพ่อรวย จันทสิริ' วัดท่าเรือแกลง ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง ที่ชาวเมืองระยองให้ความเลื่อมใสศรัทธา ชื่อเสียงของหลวงพ่อรวยนั้นโด่งดังเป็นที่รู้จักของวงการพระเครื่องส่วนกลางในช่วงปี2517- 2520 ไล่เลี่ยกับหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

แต่อาจเป็นเพราะตอนนั้นหลวงพ่อรวยยังเป็นพระที่มีอายุไม่มาก แค่ 60 กว่าๆ แต่หลวงปู่ทิมอายุปาเข้าไปเกือบร้อยปี อีกทั้งในช่วงนั้นก็ยังมีหลวงพ่อหอม วัดชากหมากและหลวงพ่อชื่น วัดมาบข่า ที่โด่งดังและอาวุโสกว่าหลวงพ่อรวย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านเป็นพระแท้และเก่งจริงๆ ขนาดเจ้าพ่อวัดโคก ฆราวาสจอมขมังเวทย์ ยังยอมแพ้ต่อวิชาอาคมของหลวงพ่อรวย สมัยยังมีชีวิตท่านเดินสายปลุกเสกวัตถุมงคลร่วมกับหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ , หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า , หลวงพ่อบุญ วัดบ้านนา , หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส , หลวงพ่อสมชาย วัดเขาสุกิม , หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี , หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง , หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง และอีกหลายๆองค์ ฯลฯ

พระเครื่องของท่านมีความขลังไม่แพ้เกจิใดในภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านเมตตา แคล้วคลาด ป้องกันอันตราย

หลวงพ่อรวยเกิดในตระกูล"ประกอบเกื้อ" เมื่อวันอังคารที่ 26 มิ.ย. 2449 ปีมะเมีย ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร หรือ"สุนทรภู่") ณ บ้านหนองสะพาน หมู่ 3 ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง เป็นบุตรโทนของนาย ชั้น และนางเอื้อม ประกอบเกื้อ

วัยเด็กไม่ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนหรือที่วัดเหมือนเด็กอื่นๆ แต่โยมบิดาเป็นผู้สอนให้จนอ่านออกเขียนได้ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มก็เป็นผู้อ่านบทละครตามที่ต่างๆ กระทั่งอายุ 21 ปีจึงเข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2471 ณ อุโบสถวัดเขาดิน (วัดเก่า) ซึ่งตั้งอยู่หลังวัดท่าเรือปัจจุบัน โดยมี พระครูสมุทรสมานคุณ (หลวงพ่อแอ่ว) วัดป่าประดู่ เจ้าคณะจังหวัดระยอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเห่ง วัดป่าประดู่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการฟู วัดท่าเรือแกลง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ปีพ.ศ 2475 วัดท่าเรือ เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถ หลวงพ่อรวยได้รับมอบหมายจากพระอธิการฟู เจ้าอาวาส ให้เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยในปีต่อมา และจัดงานฝังลูกนิมิตในปี พ.ศ.2477 ต่อมาปีพ.ศ. 2485 พระอธิการฟูได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เนื่องจากปัญหาสุขภาพ หลวงพ่อรวยจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทน และได้ขึ้นเป็น "พระอธิการรวย" เจ้าอาวาสวัดท่าเรือ ในปีต่อมา

ปีพ.ศ 2483-2487 โรงเรียนวัดท่าเรือ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในยุคของพระอธิการฟู มีอาคารเรียนไม่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชนในสมัยนั้น หลวงพ่อรวยพร้อมคณะจึงร่วมกันสร้างอาคารเรียน แบบ ป.2 จำนวน 8 ห้องเรียน และทำพิธีเปิดใช้อาคารหลังนี้เป็นสถานที่เรียนเมื่อ วันที่ 26 ก.พ. 2490 โดยข้าหลวงประจำจังหวัดระยอง โดยใช้นามโรงเรียนว่า “ โรงเรียนประชาบาลตำบลแกลง 1 (ท่าเรือวิทยาคาร) ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2495 กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้นามว่า “โรงเรียนวัดท่าเรือ (ท่าเรือวิทยาคาร” ปี พ.ศ. 2504“พระครูสุนทรธรรมานุศาสก์” เจ้าอาวาสวัดท่าเรือ(ยศในขณะนั้น) พร้อมด้วยคณะกรรมการ และนายลำพูน สังข์สุวรรณ ครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าเรือ ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม และยังคงใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การเริ่มสร้างวัตถุมงคล หลังจากโยมแม่ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ 2487 ท่านได้ตัดสินใจและลั่นวาจาว่าจะครองเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต โดยยกสมบัติทั้งหมดให้โยมน้องคือ”นายเรียน ประกอบเกื้อ” ซึ่งแสดงถึงการตัดซึ่งกิเลส ทางโลก มุ่งศึกษาพระธรรม เจริญสมาธิเจริญกรรมฐาน และออกธุดงค์ไปยังเขาต่างๆหลายปี

ระหว่างนี้ ได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์และได้สืบทอดยอดวิชาจากเกจิอาจารย์ดัง2ท่านคือ "หลวงปู่โต วัดเขากระโดน" หรือวัดเขาบ่อทอง และ "หลวงปู่หิน วัดหนองสนม" รวมทั้งฆราวาส ชื่อ"จันทร์เมือง" สอนวิชาทำสีผึ้งอันโด่งดัง โดยเฉพาะสีผึ้งดำซึ่งใช้ในการขึ้นโรงขึ้นศาล ชะงัดนัก ส่วนสีขาวอมเหลืองจะ ใช้เจรจาค้าขาย

ปัจจุบันหายากพอๆกับสีผึ้งหลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง เพราะสร้างน้อยมากๆ( สีผึ้งทั้งสองสีของหลวงพ่อรวย มีกฎข้อห้ามสำคัญคือห้ามนำเข้าห้องน้ำพร้อมกับปลดทุกข์ ไม่เช่นนั้นจะเสื่อมหมด )

วัตถุมงคลรุ่นแรกของหลวงพ่อรวย สร้างขึ้นในปี พ.ศ 2512 ในโอกาสได้เป็นพระอุปัชฌาย์สร้างขึ้นหลายแบบด้วยกัน ทั้งพระสมเด็จ เหรียญ ล็อกเก็ต ฯลฯ ส่วนผสมของสมเด็จรุ่นแรกของหลวงพ่อรวย ประกอบด้วย ผงอิทธิเจ ผงปัตถมัง ผงมหาราช ผงนิตรีสิงเห ผงพุทธคุณ ผงสมเด็จวัดระฆัง จากหลวงปู่นาค ว่าน 108 แบ่งออกเป็นเนื้อดำ และขาว แบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก (พระคะแนน) ลักษณะ เนื้อรุ่นแรกสีดำจะมีเนื้อผงใบลาน ซึ่งจารึกอักษรขอม ทั้งสองรุ่นนี้เนื้อไม่แกร่งนัก จึงเป็นจุดต่างระหว่างรุ่นสองซึ่งใช้แม่พิมพ์เดียวกัน จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้ชัดเจน

ส่วนรุ่น2เริ่มสร้างในคราวฉลองอายุครบ 6 รอบ หลวงพ่อรวย ปี 2520 – 2521 สร้าง 2 สี อย่างละ 72 องค์ และตะกรุด 72 ดอก ปลุกเสกไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง คือหลวงพ่อรวยจะนำไปร่วมปลุกเสกตามวัดต่างๆที่นิมนต์ท่านไปนั่งปรกอธิษฐานจิต

เหรียญรุ่นสองสร้างในปี 2515 ในโอกาสสร้างศาลาการเปรียญ หลวงพ่อปลุกเสกเดี่ยว พระผงกริ่งรุ่นแรกมีลักษณะโตกว่ารุ่น2 สีขาว-สีดำ ปี 2532- 2533สร้างประมาณ 2,000 องค์ สีดำขาวอย่างละ1,000 องค์ หายากมี อักษร “ร” และมีรัศมี พระกริ่งผง รุ่น2 สร้างปี 2535 สีดำและสีขาว อย่างละ 1,000 องค์ ทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดเทพนิมิต อ.บ้านค่าย และนำไปปลุกเสกในพิธีที่วัดสารนารถอีกด้วย

เหรียญเสมาที่ระลึกฉลองอุโบสถ ปี พ.ศ. 2535 ถือเป็นเหรียญเสมาอีกหนึ่งรุ่นที่ได้รับความนิยมจากบรรดานักสะสมพระเครื่อง ด้วยเป็นรุ่นสุดท้ายที่หลวงพ่อรวย ประกอบพิธีนั่งปรกอธิษฐานจิตด้วยตนเอง ก่อนละสังขารในปีถัดมา

ลักษณะเหรียญ เป็นเหรียญใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อเงิน ทอง นาก ลงยา และนวโลหะ จำนวนการสร้างไม่แน่ชัด ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญสลักเป็นลายกระหนกสวยงาม ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อรวย นั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ด้านล่างใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า "หลวงพ่อรวย"ด้านหลังเหรียญ ขอบเรียบ ตรงกลางเป็นรูปยันต์ ด้านบนยันต์ เขียนคำว่า "ที่ระลึกฉลองอุโบสถ" ใต้ยันต์ เขียนคำว่า "2535" และ "วัดท่าเรือ ระยอง"

เหรียญเสมารุ่นนี้ หลวงพ่อรวยปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส ก่อนแจกจ่ายให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไป เชื่อกันว่าเป็นเหรียญที่มีความเข้มขลังสูง เนื่องจากได้ประกอบพิธีตามแบบโบราณาจารย์ในการปลุกเสกทำให้ผู้ที่มีเหรียญรุ่นนี้ไว้ในครอบครองติดตัวจะประสบแต่ความโชคดี ประสบการณ์ที่ทำให้เหรียญรุ่นนี้ได้รับความนิยมมากๆคือ เรื่องโชคลาภ ความรุ่งเรืองในด้านการค้าขายเหมือนชื่อของท่าน อีกทั้งประสบการณ์ด้านอื่นๆก็มีครบเครื่อง แต่ต้องระวังเหรียญปลอมฝีมือเฉียบ

พระเครื่องของหลวงพ่อรวย ใครมีไว้บูชาเชื่อว่าจะรวยๆๆๆเหมือนชื่อท่านครับ!!

#ฉัตรสยาม



ดู 93 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page