คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"
ประจำวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ย. 2566
"หลวงพ่อประเทือง" วัดหนองยางทอย
อดีตเกจิดังแห่งเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์
สายพุทธาคมหลวงพ่อเดิม/หลวงพ่อพรหม
ในโอกาสที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ “เมืองโบราณศรีเทพ” อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทยจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้จึงขอนำเสนอประวัติอดีตพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังองค์หนึ่งของอ.ศรีเทพ "หลวงพ่อประเทือง อติกกันโต” หรือ “พระครูวิทิตพัชราจารย์” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองยางทอย ต.หนองยางทอย อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เกจิอาจารย์ในอดีตที่ได้รับความนับถือว่า ท่านเด่นในเรื่องวิชาอาคมด้านคงกระพันชาตรี ได้รับขนานนามว่า "เสกแล้วสับ" ด้วยว่าเมื่อท่านทำการสักยันต์ให้แล้ว ท่านจะใช้ดาบฟัน หรือสับลงทันที เพื่อพิสูจน์ความเข้มขลัง วัตถุมงคลของท่านมีพุทธคุณความเข้มขลัง เป็นที่แสวงหาของบรรดาเซียนพระทั่วไป
พื้นเพท่านเป็นชาวเมืองละโว้ เกิดในสกุล "ยืนยง" เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2471 ที่บ้านคลองเม่า หมู่ที่ 5 ต.โคนสะลุด อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายทำ และนางมาก ยืนยง เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน วัยเยาว์จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคลองเม่า
เมื่อปี 2485 อำเภอท่าวุ้งประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ข้าวในนาถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายหนัก ครอบครัวได้อพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแขม ต.ทุ่งทะเล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
ต่อมา บิดา-มารดานำท่านไปอยู่ในความอุปการะของพระอาจารย์อ่อน ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา และได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร พร้อมกับสอนพระธรรมวินัย และถ่ายทอดวิทยาคม และวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ท่าน
เมื่ออายุครบบวช พระอาจารย์อ่อนได้นำไปประกอบพิธีอุปสมบท ที่วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยมีพระครูทอง วิสาโร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แป้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกาตี่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แต่หลังอุปสมบทได้ไม่นาน ท่านจำต้องลาสิกขาเพื่อเข้ารับราชการทหารรับใช้ชาติ กระทั่งพ้นเกณฑ์ ได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาระยะหนึ่ง จนเกิดความเบื่อหน่าย จึงเข้าอุปสมบทอีกครั้งเมื่ออายุ 29 ปี ซึ่งเป็นปีของการเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่พัทธสีมาวัดโพนทอง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ได้รับฉายาว่า "อติกกันโต"
หลังอุปสมบทออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และได้พบกับพระป่าสายปฏิบัติหลายรูป พร้อมกับศึกษาวิทยาคมไสยเวทกับบรรดาพระอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค, หลวงพ่อเล็ก วัดโพธิ์ทอง อาจารย์บุญลือ ชาวเขมร ฯลฯ ว่ากันว่าช่วงนั้นท่านได้ออกวัตถุมงคลหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด เหรียญ ปรากฏวัตถุมงคลของท่านได้รับความศรัทธาจากประชาชนเป็นอย่างมาก
ปีพ.ศ. 2520 ท่านเดินธุดงค์มาถึง จ.เพชรบูรณ์ และได้ตั้งสำนักสงฆ์ที่เขารอ ต.หนองย่างทอย อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม พร้อมกับสร้างโรงเรียนไว้เพื่อสอนหนังสือให้กับเด็ก โดยจ้างครูมาสอนและท่านเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ด้วยความสามารถของท่านจึงทำให้สำนักสงฆ์เล็กๆ กลายมาเป็น “วัดด่านเจริญชัย” ที่สวยงามมีเสนาสนะสมบูรณ์ทุกอย่าง
แต่เนื่องจากวัดด่านเจริญชัย อยู่ห่างไกลจากชุมชนและเส้นทางการจราจรไปยังจ.เพชรบูรณ์ เมื่อท่านจะเดินทางไปธุระยังจ.เพชรบูรณ์ท่านมักมาแวะพักที่ศาลาเล็กๆ ของวัดหนองย่างทอย ซึ่งในอดีตนั้นเปรียบเสมือนวัดร้าง มีเพียงศาลาเก่าๆ เมื่อชาวบ้านในละแวกนั้นทราบว่าท่านมีฝีมือทางด้านการพัฒนาจึงขอร้องให้ท่าน ช่วยสร้างวัด โดยไปเกณฑ์ชาวบ้านใกล้เคียงมาช่วยกันถางหญ้า จนทำให้ท่านแพ้แรงศรัทธาของชาวบ้าน และอยู่สร้างวัดหนองย่างทอย โดยใช้ชื่อว่า “วัดเทพประทานพร” จนปรากฏความเจริญรุ่งเรืองเช่นที่เห็นในปัจจุบัน และท่านได้ปกครองดูแลพระเณร และเป็นที่พึ่งของชาวบ้านตราบจนกระทั่งมรณภาพ โดยได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น"พระครูวิทิตพัชราจารย์"
ช่วงที่จำพรรษาที่วัดหนองยางทอยท่านสร้างวัตถุมงคลเพื่อระดมปัจจัย สร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา วัตถุมงคลของท่านได้แก่ รูปเหมือนพุทธกวัก เหรียญรูปเกมือน,พระกริ่ง,พระปิดตา, ตะกรุด 9 ชั้น,รูปหล่อ เป็นต้น
หลวงพ่อประเทืองสร้างคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างมากมาย นอกจากนี้ ยังรับอุปการะโรงเรียนบ้านหนองยางทอยไว้ในความอนุเคราะห์ สร้างอาคารห้องสมุด อาคารอเนกประสงค์ให้แก่โรงเรียนหลายหลัง และมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่ยากจนได้ศึกษาเล่าเรียน
กล่าวสำหรับครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้ท่าน 1 พระอาจารย์อ่อน วัดหนองแขม นครสวรรค์ (มีศักดิ์เป็นอา ได้ศึกษาตั้งแต่เป็น สามเณร) 2.หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ (เมื่อครั้งไปอยู่ปรนนิบัติรับใช้เป็นสามเณรที่วัดหนองโพ) 3.หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค นครสวรรค์ (ศึกษาอยู่ได้ 1 พรรษา ตอนบวชครั้งแรก) 4 พระอาจารย์เล็ก วัดคลองเม่า ลพบุรี 5.หลวงพ่อเล็ก วัดโพธิ์ทอง นครสวรรค์ (เมื่อครั้งอุปสมบทอยู่วัดโพธิ์ทอง ซึ่งหลวงพ่อเล็กรูปนี้ เป็นศิษย์ที่สืบทอดพุทธาคมมา จากหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย(วัดคลองด่าน) 6.อาจารย์บุญลือ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นชาวเขมร (เมื่อคราวออกธุดงค์)
ปี2524 ท่านสร้างเหรียญรุ่นแรกขึ้น มีการลองยิงโดยทหาร แต่ยิงไม่ออกถึง 3 นัด และท่านได้ไปจำพรรษาที่ วัดภูเขาดิน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเขาค้อ,เขาทราย(นักมวยแฝด) ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ท่านที่วัดนี้ด้วย
ในปี พ.ศ.2537 นับว่าท่านเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง มีลูกศิษย์มาจากทั่วสารทิศมาขอหรือบูชาวัตถุมงคล,สักยันต์,สับหลังไล่โรคภัย ด้วยความเมตตา ไม่เลือกชั้นวรรณะ จนแขนท่านระบมทุกคืนต้องนวดยา และก่อนนอนท่านจะปลุกเสกวัตถุมงคลของท่าน หลังจากนั้นจะแผ่เมตตาให้ลูกศิษย์ทุกคนทุกคืน โดยเฉพาะสายวัดสุทัศน์ หากมีการทำพิธีปลุกเสกหรือพุทธาภิเศก มักจะนิมนต์ท่านไปร่วมทุกครั้ง
วาระสุดท้าย หลวงพ่อประเทืองได้ละสังขารลงอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2550 .เวลา 16.19 น.โดยประมาณ ณ โรงพยาบาลเมืองใหม่ลพบุรี จ.ลพบุรี สิริอายุได้ 79 ปี
#ฉัตรสยาม
Comentarios