ตำนานชีวิต86ปี"หลวงปู่กวง"วัดป่านาบุญ
พระมหาเถระสายกรรมฐานเมืองเชียงใหม่
ศิษย์มือขวาอาจารย์ประสิทธิ์ วัดป่าหมู่ใหม่
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์"คัมภีร์นิวส์" ร่วมย้อนตำนานชีวิต น้อมถวายความอาลัยในการจากไปของ พระราชวชิรกิจโกศล (หลวงปู่กวง โกสโล) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน(ธ) และเจ้าอาวาสวัดป่านาบุญ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 เวลา 20.32 น. สิริอายุ 86 ปี 59 พรรษา
หลวงปู่กวง ท่านเป็นศิษย์ผู้เปรียบเป็นมือขวารูปหนึ่งของหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าหมู่ใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2480 ที่ต.สวนดอก อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง เดิมทีชีวิตฆราวาสของหลวงปู่กวง ค่อนข้างสบายและเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นลูกเศรษฐีร้านทองในจังหวัดลำปาง ท่านเป็นลูกคนจีน มีนามว่า "กวง" ในภาษาจีนมีความหมายว่า "แสงสว่าง ,รัศมี ,ความสว่างไสว" และชื่อไทยของท่านมีนามว่า "เกรียงไกร" แปลว่า "ยิ่งใหญ่ ,เก่งกล้า"
ด้วยบารมีธรรมเป็นทุนเดิมมาเก่าก่อน ท่านจึงมองชีวิตทางโลกเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ท่านจึงเลือกหนทางอันหลุดพ้น ได้ออกบวชเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2508 ณ พัทธสีมาวัดป่าสำราญนิวาส ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง มีพระราชสารสุธี (ขันติ์ ขนฺติโก) (ภายหลังได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมดิลก เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "โกสโล" แปลว่า "ผู้ฉลาด ,บารมีธรรม"
หลังอุปสมบทได้ติดตามเดินธุดงค์และฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ ซึ่งเป็นผู้พาธุดงค์เข้าป่าฝึกภาวนาเป็นคนแรก จากนั้นได้ไปศึกษาธรรม รับฟังข้ออรรถข้อธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่ทางภาคเหนือ อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ,หลวงปู่ตื้อ อาจลธัมโม ,หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ,หลวงปู่แว่น ธนปาโล ,หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ และหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร ผู้เป็นครูอาจารย์ชี้ทางธรรมจนทำให้ท่านพ้นทุกข์
โยมเตี่ยและโยมแม่คาดหวังจะให้ท่านมาสืบทอดวงศ์สกุล และดูแลกิจการครอบครัว จึงได้ไปเฝ้าพระลูกชาย อ้อนวอนให้สึกหาลาเพศ แต่หลวงปู่กวงมองเห็นประตูธรรมอันส่องสว่างอยู่ต่อหน้า จึงไม่ได้ทำตามคำขอของท่านทั้งสอง แต่กลับออกธุดงค์รุกขมูลไปยังป่าเขาสถานที่กันดารขึ้นไปอีกคือ บนยอดเขาดอยอ่างขาง โดยอยู่ปฏิบัติธรรมในสถานที่เหน็บหนาว ออกภิกขาจารกับชาวเขาชาวดอย อาหารบิณฑบาตแค่เพียงคบฉัน
แทบจะกล่าวได้ว่า หลวงปู่กวงเป็นผู้บุกเบิกสถานที่ปฏิบัติธรรมบนดอยอ่างขางเป็นรูปแรกเลย เพราะท่านอยู่ที่นั่นราวๆ 12 ปีท่านมีเพื่อนสหธรรมิกที่เที่ยววิเวกไปตามป่าเขาบนดอยสูงด้วยกัน เช่น หลวงปู่เสถียร คุณวโร แห่งวัดถ้ำพระภูวัว จ.บึงกาฬ ,หลวงปู่สมหมาย จิตฺตปาโล วัดภูถ้ำพระ จ.ยโสธร(ภายหลังท่านย้ายมาวัดป่าอนาลโย จ.นครปฐม) และหลวงปู่ประสงค์ สุสันโต วัดใหม่เขาปูน จ.อุทัยธานี ศิษย์ร่วมอาจารย์หลวงปู่ประสิทธิ์ วัดป่าหมู่ใหม่ ผู้เปรียบเหมือนแขนซ้ายของหลวงปู่ประสิทธิ์อีกรูป โดยเวลาเที่ยวธุดงค์ท่านจะเดินอย่างเดียว ไม่กล้าขึ้นรถ เพราะเป็นการแสดงความเคารพในธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่สั่งสอนมา
ภายหลังหลวงปู่กวงได้มาอยู่พำนักร่วมสร้างวัดปฏิบัติธรรมในสถานที่ใกล้ๆกับวัดป่าหมู่ใหม่ของหลวงปู่ประสิทธิ์ คือวัดป่านาบุญ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อตอบแทนบุญคุณโยมเตี่ย โยมแม่ท่านให้ได้ทำบุญ ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมตามกาลสมควร ท่านได้อยู่เป็นร่มโพธิธรรมสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้เจริญ เป็นครูอาจารย์สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทั้งทางใกล้ทางไกลด้วยความเมตตา ท่านจะพาสวดมหาสมัยสูตรและบทแผ่เมตตาใหญ่ คาถาเมตตาหลวง เพื่ออุทิศบุญความร่มเย็นให้แก่สรรพสัตว์โดยไม่มีประมาณ ท่านยังคอยอบรมสั่งสอนธรรมแก่ผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเองตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ทั่งนี้ ท่านใดมาที่วัด หลวงปู่จะให้ลูกศิษย์ชงกาแฟเลี้ยงแจกจ่ายแขกผู้มาเยือนอย่างไม่อั้น ท่านบอกว่าใครมาวัดป่านาบุญ ถ้าไม่ได้มาจิบกาแฟ ถือว่ามาไม่ถึง อีกทั้งการพิมพ์หนังสือธรรมะของพ่อแม่ครูอาจารย์เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ที่สนใจใฝ่ธรรม เป็นการให้ธรรมะเป็นทานอย่างน่านับถือยิ่ง
โอวาทธรรทคำสอนหลวงปู่กวง โกสโล
"..คนเราเข้าใจผิด คิดว่าพอแก่แล้วจะสบาย ความจริงมีแต่ทุกข์ที่รออยู่ตลอดสาย พอแก่แล้วก็เจ็บนั่นเจ็บนี่ ยังอยากจะมาเกิดกันอีกหรอ.."
留言