top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

ตำนานชีวิต89ปี"หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล" อดีตเจ้าอาวาสวัดอนาลโยฯ/วัดเทพนิมิตฯ เกจิสายกรรมฐาน

ตำนานชีวิต89ปี"หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล"

อดีตเจ้าอาวาสวัดอนาลโยฯ/วัดเทพนิมิตฯ

เกจิสายกรรมฐาน/ศิษย์เอก"หลวงปู่หลวง"

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ร่วมย้อนตำนานชีวิต น้อมถวายความอาลัยในการจากไปของ พระพรหมวชิรคุณ หรือ "หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล" ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต) อดีตผู้สร้างวัดอนาลโยทิพยาราม(ดอยบุษราคัม) อ.เมือง จ.พะเยา และเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ท่านละสังขารเมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. ณ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ สิริอายุ 89 ปี พรรษา 59

หลวงพ่อไพบูลย์เป็นพระสายกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ศิษย์เอกของ

พระครูการุณยธรรมนิวาส "หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิวาส อ.เกาะคา จ.ลำปาง ท่านมีปฏิปทาเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านในเขตจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียง มีความเคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยกิตติศัพท์ แห่งคุณงามความดีที่ท่านได้ฟื้นฟูสภาพจากสำนักสงฆ์วิปัสสนาที่ไม่มีอะไรเลย จนกลายเป็นวัดที่โดดเด่นคือ "วัดอนาลโยทิพยาราม" จนเป็นที่นับถือเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ท่านมีนามเดิมว่า “ไพบูลย์ สิทธิ” เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2477 เป็นบุตรของคหบดีชาวอำเภอเกาะคา โยมบิดาชื่อ "นายกองแก้ว" โยมมารดาชื่อ "นางคำสิทธิ" วัยเยาว์ได้พบเห็นแต่สิ่งที่ชักจูงใจให้ใฝ่แต่การบุญ สิ่งที่ชวนให้พิจารณาทุกข์ของสัตว์โลกตลอดมา โดยได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ จ.เชียงใหม่ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตน จนอายุ 29 ปี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดป่าสำราญนิวาส อ.เกาะคา จ.ลำปาง มีพระครูธรรมวิวัฒน์ วัดเชตวัน จ.ลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สุมังคโล” มีความหมายว่า “ผู้มีมงคลดีพร้อม“

หลังจากได้จำพรรษาและศึกษาธรรมกับ “หลวงปู่หลวง กตปุญโญ” เจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิวาส จนเข้าถึงแก่นธรรมได้ระดับหนึ่งแล้ว ท่านจึงได้ขยายความเข้าใจเพิ่มเติมโดยการออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาและตั้งใจทำความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว เมื่อมีความก้าวหน้าจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ได้ออกท่องธุดงค์ไปจำพรรษาในภาคอีสาน และกลับขึ้นมาแถบป่าเขาในเขตเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย

พ.ศ.2513 มีโอกาสไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์สม ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และได้พบกับ พระอาจารย์ทอง ที่เดินทางมาจากวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ได้ชักชวนท่านออกเดินธุดงค์หาความวิเวก คณะของหลวงพ่อไพบูลย์ผ่านมาถึง จ.พะเยา ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมและจำพรรษา ณ วัดร้างแห่งหนึ่ง มีชาวบ้านแถบนั้นได้มาทำบุญฟังเทศน์ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา พากันอาราธนาให้ท่านอยู่ ช่วยบูรณะวัดขึ้นใหม่ ท่านอยู่ช่วยปฏิสังขรณ์จนมีสภาพดีขึ้น พร้อมกับยื่นหนังสือไปยังกรมการศาสนาได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัดมีชื่อว่า “วัดรัตนวนาราม“

ต่อมามีชาวบ้านจากบ้านสันป่าม่วง บ้านสันบัวบก บ้านสันป่าบง มาอาราธนาท่านไปดูสถานที่สำคัญบนดอยสูง ฝั่งกว๊านพะเยาด้านตะวันตก เพื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน สำนักสงฆ์แห่งนี้ ในเวลาไม่นานได้รับการยกฐานะให้เป็นวัด ชื่อ “วัดอนาลโยทิพยาราม” โดยได้รับประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ อนุญาตให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2530

ด้านสมณศักดิ์ พ.ศ.2517 เป็น พระครูปลัด ฐานานุกรมในพระเทพวราภรณ์ วัดราชบพิธ กรุงเทพฯ พ.ศ.2524 เป็น พระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์ ฐานานุกรมใน สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร

5 ธันวาคม พ.ศ.2532 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ "พระปัญญาพิศาล" 12 สิงหาคม พ.ศ.2547 เป็น พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ "พระราชสังวรญาณ" 5 ธันวาคม พ.ศ.2551 เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ "พระเทพวิสุทธิญาณ"

28 กรกฎาคม พ.ศ.2562 เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ "พระธรรมวิสุทธิญาณ" พ.ศ.2564 โปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า "พระพรหมวชิรคุณ"

ปลายปี พ.ศ.2556 ด้วยกิตติศัพท์แห่งอาจาระและสุปฏิปันโน ญาติโยมได้ถวายที่ดินที่เคยเป็นที่เพาะปลูกสวนยางพารา ริมแม่น้ำโขง บ้านห้วยเม็ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมกลายเป็นวัดที่โดดเด่น คือ "วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม"

ทั้งนี้ ในสมัยที่หลวงปู่หลวง กตปุญโญ วัดป่าสำราญนิวาสยังมีชีวิตอยู่ ท่านเคยกล่าวยกย่อง หลวงพ่อไพบูลย์ไว้หลายประการ เช่น

1. หลวงพ่อไพบูลย์ เป็นพระที่เก่งนิมิตจากการปฏิบัติธรรม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ท่านทรงโปรดให้พระอาจารย์ไพบูลย์แปลพระนิมิตที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมของพระองค์บ่อยครั้ง

2. หลวงพ่อไพบูลย์ เป็นพระที่เปี่ยมด้วยจาคะเสียสละด้วยการให้ ไม่ว่าจะเป็นให้ (ทาน) ให้อภัย เป็นพระสุปฏิบัติที่ปรารถนาพระโพธิญาณในอนาคตกาล

เมื่อครั้งยังมีชีวิต แม้ท่านดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ แต่วัตรปฏิบัติท่านยังคงเรียบง่ายดุจเดิม ยังคงให้การอบรมศีลธรรมแก่สาธุชนที่เข้ามาทำบุญฟังธรรม เน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ตามหลักเบญจศีล เบญจธรรม แม้บั้นปลายชีวิต สังขารเริ่มโรยราไปบ้างตามกาลเวลา แต่จิตใจของท่านยังเข้มแข็ง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่พึ่งทางใจให้ญาติโยมศิษยานุศิษย์ และแวดวงพระพุทธศาสนาได้อย่างดีเยี่ยม!



ดู 208 ครั้ง0 ความคิดเห็น

댓글


bottom of page