top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

พระราชพัฒนสุนทร "เจ้าคุณหมูเขี้ยวแก้ว" เกจิดังนักพัฒนาสายรามัญ วัดทรงธรรม เจ้าตำรับเครื่องรางชูชก

พระราชพัฒนสุนทร "เจ้าคุณหมูเขี้ยวแก้ว" เกจิดังนักพัฒนาสายรามัญ วัดทรงธรรม

เจ้าตำรับเครื่องรางชูชก"เมตตา/โชคลาภ"

ในวาระมงคลวันที่ 2 สิงหาคม 2566 พระราชพัฒนสุนทร เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร เจ้าคณะอำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ หรือที่ชาวบ้านเรียกขาน "เจ้าคุณหมูเขี้ยวแก้ว" จะมีอายุครบรอบ 63 ปี ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ จึงขอนำเสนอประวัติเกียรติคุณเพื่อร่วมเผยแพร่บารมีของท่านมา ณ วาระมงคลนี้

ท่านมีนามเดิมว่า "ไพโรจน์" นามสกุล"อินทรวิสูตร"เป็นชาวปากน้ำโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2503 ที่บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 6 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บิดาชื่อ "นายชะมด" มารดาชื่อ "นางแถม"

ชีวิตในวัยเด็ก เป็นคนที่เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน ชอบเข้าวัดฟังธรรม ผิดกับเด็กอื่นวัยเดียวกัน สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดทรงธรรม ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อปีพ.ศ.2520

ต่อมาอายุ 23 ปี ได้เข้าบรรพชาและอุปสมบท ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2526 ณ วัดทรงธรรมวรวิหาร โดยมี พระอุดมวิจารณ์ (เจริญ ธมมจารี ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชวิสารท) วัดทรงธรรมวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดสมพิศ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระครูสมุทรวราภรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลังอุปสมบทได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม จน สอบไล่ได้นักธรรมเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดสมุทรปราการ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในปีพ.ศ.2536 ท่านมีความชำนาญพิเศษในด้านการก่อสร้าง, ออกแบบโครงสร้างควบคุมการก่อสร้างเสนาสนะภายในวัด,ความสามารถในภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์ลวดลายไทยรามัญโบราณ, การประดิษฐ์โลงมอญ,การออกแบบสร้างเมรุปราสาทมอญ 5 ยอด และ 9 ยอด เพื่อการอนุรักษ์

ตำแหน่งงานปกครอง พ.ศ.2534 เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2536 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดทรงธรรมวรวิหาร พ.ศ.2544 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2544 (ภายหลังพระราชวิสารทมรณภาพ) พ.ศ.2547 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พระอารามหลวงวัดทรงธรรมวรวิหาร พ.ศ.2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2550 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พ.ศ. 2559 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ

สมณศักดิ์ พ.ศ.2534 ได้รับตำแหน่งเป็น พระครูสมุห์ฐานานุกรม ในพระราชวิสารท พระราชาคณะชั้นราช วัดทรงธรรมวรวิหาร

พ.ศ.2540 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโทที่ "พระครูวิจิตรวิหารการ"

พ.ศ.2546 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษที่ "พระครูวิจิตรวิหารการ" พ.ศ.2550 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2553 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่"พระสิทธิพัฒนาทร" พ.ศ.2559 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชพัฒนสุนทร"

ด้วยท่านมีเชื้อสายรามัญโดยกำเนิด สิ่งที่เป็นแบบอย่างอันดีของท่านคือ มีความรู้ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายมอญ ยังคงข้อวัตรปฏิบัติของพระรามัญ (รามัญนิกายเดิม) ในการครองสมณเพศและปกครองคณะสงฆ์ในพระอารามตามแบบบูรพาจารย์ อีกทั้งยังเป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่ได้แวะเวียนมากราบท่านเป็นประจำ

"เจ้าคุณหมู"ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากด้วยความเมตตา มีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมหลายอย่าง อาทิ ชูชกไม้แกะ ผ้ายันต์ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวเวสสุวรรณไม้แกะ เป็นต้น

ชื่อเสียงของเจ้าคุณหมู ที่ขจรขจายไปทั่วนั้นมาจากการจัดสร้างวัตถุมงคลจนจะเรียกได้ว่ามีชื่อเสียงและพุทธคุณมากที่สุดของท่านนั่นก็คือ"เครื่องรางชูชก" ซึ่งท่านได้จัดสร้างตามรูปแบบของชูชกโบราณที่ตกทอดเก็บรักษาไว้ภายในวัด

ทั้งนี้ จากกระแสที่มีคำเล่าลือกันว่า “พระราชพัฒนสุนทร” หรือ “ท่านเจ้าคุณหมู” มีเขี้ยวอยู่บนเพดานปาก ที่นิยมเรียกว่า “เขี้ยวแก้ว” และมีคนตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าจะจริง เพราะลักษณะแบบนี้จะเกิดขึ้นยาก ที่เห็นมีก็แต่ “หลวงปู่กาหลง” เท่านั้น ที่มี “เขี้ยวแก้ว” ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังแห่งวัดเขาแหลม อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ลูกศิษย์ลูกหามักเรียกขานท่านว่า "หลวงปู่กาหลง เขี้ยวแก้ว" ด้วยท่านเป็นพระเถราจารย์หนึ่งเดียวที่มีเขี้ยวแก้วกลางเพดานปาก

ด้วยเหตุของการกังขาของบรรดาศิษย์ ครั้งหนึ่งทีมข่าว"คัมภีร์นิวส์" จึงเข้าไปขออนุญาตดูภายในปากของ “เจ้าคุณหมู” ซึ่งท่านก็ปฏิเสธการให้ดูมาตลอด เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น แต่เมื่อลูกศิษย์มีข้อกังขาและถกเถียงกัน ท่านจึงยอมอ้าปากให้ดู ปรากฏว่าท่านมี “เขี้ยวแก้ว” ที่กลางเพดานปาก เฉกเช่น หลวงปู่กาหลง ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้มีบุญทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้บรรดาศิษย์จึงนิยมเรียกท่านว่า “เจ้าคุณหมูเขี้ยวแก้ว” สืบต่อกันมา




ดู 182 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page