top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

พระวิโรจน์รัตโนบล(จันทร์ จันทสโร) วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี เกจินักพัฒนา-สายพุทธาคม “หลวงปู่รอด”

พระวิโรจน์รัตโนบล(จันทร์ จันทสโร)

วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

เกจินักพัฒนา-สายพุทธาคม"หลวงปู่รอด"

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ร่วมเผยแพร่ประวัติเกียรติคุณพระวิโรจน์รัตโนบล หรือ"หลวงปู่จันทร์ จันทสโร" อายุ 83 ปี พรรษา 54 เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ศิษย์สืบสายวิชาอาคมตำรับ พระวิโรจน์รัตโนบล หรือ “หลวงปู่รอด นันตโร” คนอุบลสมัยโบราณเรียกท่านว่า "หลวงปู่ดีโลด" หรือ"เจ้าคุณดีโลด" อดีตเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เข้มขลังด้วยพุทธาคม และเป็นประธานการบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม ในปี2483

ท่านมีนามเดิมว่า"จันทร์" นามสกุล"ส่งสุข"

เป็นชาวบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ (เดิมขึ้นกับอ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี) เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา เมื่อท่านทายุ2ขวบ ครอบครัวได้อพยพหนีน้ำท่วมย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านโพธิ์ศรี ต.เมืองเดช (ต.ท่าโพธิ์ศรีปัจจุบัน) อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โดยท่านได้ช่วยพ่อแม่ทำนา

เมื่อเติบใหญ่ได้ตัดสินใจออกหางานทำ โดยล่องลงไปถึงภาคใต้รับจ้างทำงานแบบหนักเอาเบาสู้ ด้วยความเป็นคนขยัน อดทน ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนทำให้เจ้านายไว้วางใจให้รับผิดชอบงานที่สำคัญหลายอย่าง ต่อมาจึงลาเจ้านายกลับมาบ้านเกิดเพื่อบวชทดแทนคุณบุพพการี

จากนั้นในวันที่23 พฤษภาคม 2502 ท่านได้เข้าอุปสมบทขณะมีอายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดท่าโพธิ์ศรี ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โดยมี พระครูอุดมเดชบริรักษ์ เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม วัดแสงเกษม และเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ศรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดอำคา​ ลมณีโย​ เป็น​พระ​กรรมวาจารย์​ พระสมุห์เสน่ห์​ ชินวโร เป็น​พระอนุสาวนาจารย์​ ได้รับฉายาว่า​ "จนฺทสโร" เวลา 09.49 น.​

หลังอุปสมบทแล้ว ได้อยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากพระอุปัชฌาย์ที่วัดท่าโพธิ์ศรี ดำรงตนตั้งอยู่กับพระธรรมวินัย รวมทั้งพากเพียรศึกษาทางในคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ จนสามารถสอบได้ เปรียญธรรม 3 ประโยค ในปีพ.ศ.2523

เมื่อครั้งอยู่ที่วัดท่าโพธิ์ศรี ท่านมีบทบาทอย่างมากในการนำพาชาวบ้าน ทั้งบ้านท่าโพธิ์ศรีและหมู่บ้านอื่นๆ ในการพัฒนาหมู่บ้าน ได้นำพาชาวบ้าน สร้างวัดสร้างพระศาสนาเป็นจำนวนมาก เช่น วัดอีสานพัฒนา บ้านวารีอุดม เป็นต้น ครั้งนั้นราชการยังพัฒนาเข้าไม่ถึงหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกล ท่านก็อาศัยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาจากการไปทำงานที่ภาคใต้ เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ และประสบการณ์ที่ได้มาจากเมื่อครั้งไปอยู่ขอนแก่น มานำพาชาวบ้านได้พัฒนาหมู่บ้านของตนเองให้เกิดความเจริญเป็นระเบียบขึ้นตามสมควรแก่กำลัง

ต่อมาปีพ.ศ.2520 ท่านได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีมงคล และเจ้าคณะอำเภอบุณฑริก ช่วงที่อยู่วัดแห่งนี้ สิ่งสำคัญคือกิจวัตรไม่เคยขาดเลย ทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นตลอด เที่ยวจาริกบิณฑบาตตลอด ไม่เคยถือว่าเป็นเจ้าคณะอำเภอแล้วไม่ต้องบิณฑบาต ไม่เคยทิ้งหน้าที่สักครั้ง ยกเว้นเมื่อคราจำเป็นเท่านั้น

กิจนิมนต์ก็ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เคยมีจิตใจเลยว่า บ้านนี้จนไม่ไป บ้านนี้รวยต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ท่านปฏิบัติต่อญาติโยมทุกคนประหนึ่งว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันปฏิบัติต่อทุกคนเท่าเทียมกัน

ต่อมาในปีพ.ศ.2557 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวัดทุ่งศรีเมือง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ. 2560 เป็น เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุบลราชธานี แห่งที่ 26

ด้านสมณศักดิ์ พ.ศ. 2521 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท ที่ "พระครูโสภิตปริยัติการ" พ.ศ. 2526 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม พ.ศ. 2531 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ "พระวิโรจน์รัตโนบล"

หลวงปู่จันทร์ท่านเป็นพระเถระนักพัฒนา ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม มีลูกศิษย์ลูกหามาดงกมายหลายสาขาอาชีพ ศิษย์ชอบเรียกท่านว่า"เจ้าคุณจันทร์" หรืออีกชื่อว่า"เจ้าคุณดีโลด "ก็เพราะสืบเนื่องจากอดีตบูรพาจารย์ของวัดทุ่งศรีเมืองส่วนมากจะมีราชทินนามว่า"วิโรจน์" มาตั้งเเต่อดีตถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ คำว่า"วิโรจน์"คนอุบลสมัยก่อนเรียกต่อๆกัน จนเพี้ยนมาเป็น"ดีโลด" ชึ่งคำว่า"ดีโลด"ก็หมายความว่า "ดีตลอด" หรือ"ดีเลย ไม่มีที่ติ" จนกายเป็นนามมงคลเรียกขานกันสืบต่อมา

ในด้านวิชาอาคม ถือว่าหลวงปู่จันทร์ไม่เป็นสองรองใคร เพราะเป็นศิษย์มีครู ได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนต์ คาถาอาคมจาก พระครูอุดมเดชบริรักษ์ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และอาจารย์ผู้มีพลังจิตที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นศิษย์สืบสายมาจาก"หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง"ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจาก พระครูประศาสน์สุตคุณ​ (จันทร์ กลฺยาโณ )อดีต้จ้าอาวาสวัดสระบัว(บ้านกอก) ผู้เป็นหลวงตาแท้ๆของท่าน ได้ถ่ายทอดวิชาอาคมให้จนหมด ทุกช่อการเล่าเรียนวิชาบางช่อมีขั้นตอนพิธีกรรมมากมาย และดูเข้มขลังอย่างเช่นบางช่อที่หลวงปู่ได้ถ่ายทอดให้นั้นผู้เรียนจะต้องหารวงผึ้งมาตีแผ่เป็นอาสนะสำหรับเรียนมนต์ เป็นต้น คาถาอาคมแต่ละบทจึงมีความขลังเพราะมีพิธีกรรมนั้นเอง

แม้หลวงปู่จันทร์ท่านจะมีวิชาคาถาอาคมหลายอย่าง แต่ก็ไม่เคยโอ้อวดยกตนว่ามีดีอย่างไร ตรงกันข้าม ท่านกลับวางตนแบบสมถะ เรียบง่าย เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติเหมือนพระเถระธรรมดาทั่วไป แต่สำหรับศิษย์ใกล้ชิดจะรู้ว่า ท่านไม่ธรรมดาแน่นอน!!



ดู 320 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page