พระเทพวชิรากร"พระอาจารย์ชัย ปุรินฺทโก"
เกจิดังเมืองกระบี่/วัดมหาธาตุวชิรมงคล
ศิษย์สายกรรมฐาน"ลพ.จำเนียร วัดถ้ำเสือ"
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอประวัติ...พระเทพวชิรากร (พิศาล ปุรินฺทโก) รองเจ้าคณะภาค17 เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ หรือ"พระอาจารย์ชัย" อดีตเจ้าอาวาส วัดราษฎร์อุปถัมภ์ (วัดบางเหรียง) ต.บางเหรียง อ.ทับปุด จ.พังงา ศิษย์เอกวิปัสสนากรรมฐาน "หลวงพ่อจำเนียร สีลเสฎโฐ" วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่
ท่านมีนามเดิมว่า "สมชัย" (ในทะเบียนบ้านชื่อ"พิศาล") เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ บ้านทุ่งสูง หมู่ที่ ๔ ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ บิดาชื่อ นายไข่ มารดาชื่อ นางเนียบ นามสกุล"แก้วมา" เป็นบุตรคนที่5ในจำนวนะน้อง7คน วัยเด็กเข้าศึกษา
ในโรงเรียนเหมือนเด็กต่างจังหวัดตามท้องไร่
ท้องนาทั่วไป เผอิญทางเดินไปโรงเรียนต้องผ่านศาลาการเปรียญของวัดประจำหมู่บ้านหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรงธรรม” และศาลาฯ นี้มีพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง ท่านบอกว่ารู้สึกอิ่มเอมใจอย่างประหลาด เมื่อได้เห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นั้น
ดังนั้น บางวันท่านก็แวะเวียนอยู่ในวัดครั้งละนาน ๆ บางครั้งได้เงินซื้อขนมก็เอาไปซื้อธูปเทียนมาบูชาพระ แล้วนั่งมองแสงเทียนด้วยความรู้สึกสงบเย็น พฤติกรรมของท่านในวัยเด็กจึงแปลกจากเด็กทั่วไป เพราะจะมีท่าทางสงบเสงี่ยม สุขุมเยือกเย็น ไม่นิยมการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและซุกซนเหมือนเด็กชายทั่วๆไป โดยผู้ที่สังเกตเห็นพฤติกรรมนี้ก็คือ "นายปลอด ชูเชื้อ" คุณตาของท่านซึ่งเคยบวชเรียนมาหลายปี และเคยเป็นพระธุดงค์ที่มีศีลวัตรน่าเลื่อมใสศรัทธารูปหนึ่ง มีประสบการณ์ทางธรรมมามาก ทั้งยังศึกษาวิชาคาถาอาคม แต่ไม่มีวาสนาอยู่ครองเพศบรรพชิต ต้องลาสิกขาบทมาครองเพศฆราวาส แต่จิตใจยังยึดมั่นในการปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์เช้าเย็น และนั่งสมาธิทำวิปัสสนาเป็นประจำ
เมื่อเห็นว่าหลานชายมีใจโน้มน้าวมาทางธรรม
จึงให้คำแนะนำในการปฏิบัติ ตลอดจนถ่ายทอดวิชาคาถาอาคมให้ แต่ติดอุปสรรคที่หลานชายต้องเรียนหนังสือและช่วยงานบ้าน ขณะที่มารดาก็ต้องวุ่นวายกับการดำรงชีพ ก็จะไม่เข้าใจและดุว่าขี้เกียจหลบงาน แต่ท่านก็สามารถฝึกฝนจากคุณตาได้พอสมควร ทั้งการท่องบทสวดมนต์ไหว้พระ ท่องพระคาถาเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ได้เกือบหมด และถูกต้องตามอักขระ น้ำเสียงนุ่มนวลราวกับฝึกฝนมานานปี และสามารถนั่งสมาธิได้อย่างสงบนิ่ง ตลอดจนท่องคาถาต่าง ๆ และรู้วิธีลงเลขเสกยันต์ ได้อย่างรวดเร็วสร้างความประหลาดใจให้กับคุณตาอย่างมาก
ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บรรพชาเป็นสามเณรครั้งแรก ณ วัดบางโทง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โดยมี พระสุตาวุธวิสิฐ อดีตเจ้าคณะจังหวัดกระบี่ เป็นพระอุปัชฌาย์
ระหว่างบรรพชา ท่านมีความรู้สึกว่าท่านพอใจที่จะหาความสงบโดยการนั่งสมาธิวิปัสนากรรมฐานมากกว่าการมานั่งท่องบทตำรา ดังนั้น ท่านจึงสืบหาจนทราบว่าที่วัดถ้ำเสือฯ จังหวัดกระบี่ มีพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง คือ พระอาจารย์จำเนียร สีลเสฎโฐ ซึ่งจะไปบรรยายธรรมที่วัดพรุพรี จ.สุราษฎร์ธานี ท่านจึงเดินทางไปเข้าฟังการบรรยายธรรมจากพระอาจารย์จำเนียร เป็นการพบกันในทางธรรม ยังไม่ได้พบเป็นการส่วนตัว ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนให้ท่านตัดสินใจแน่วแน่ที่จะมุ่งมั่นทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน และทราบได้ในทันทีว่า ท่านผู้นี้แหละคือวิปัสสนาจารย์ที่แสวงหา จึงกลับไปลาญาติโยมครูบาอาจารย์ ที่วัดเดิม (วัดบางโทง) เพื่อไปขอศึกษากับพระอาจารย์จำเนียร ที่วัดถ้ำเสือฯ
หลังจากผ่านการศึกษาธรรมะและการวิปัสสนาได้พอสมควร เมื่อออกพรรษาจึงออกไปธุดงค์แสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรกับพระภิกษุที่มาฝึกฝนด้วยกัน โดยธุดงค์ไปทางภาคเหนือมีโอกาสเข้ากราบนมัสการหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง
และอยู่ศึกษาธรรม ดูอัธยาศัยและฟังคำแนะนำของท่านอยู่หลายเดือนแล้วธุดงค์กลับลงใต้มาอยู่ที่วัดถ้ำเสือ
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ณ วัดแก้วโกรวาราม อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมีพระสุตาวุธวิสิฎ อุปัชฌาย์ เป็นพระอัปัชฌาย์ พระครูวิสุทธิ์ พระภิกษุอาวุโสของวัดแก้วโกวราราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระภิกษุอีกรูปเป็นพระอนุศาสนาจารย์ จากนั้นเดินทางกลับไปอยู่วัดถ้ำเสืออีก ๑ ปี ก็กราบลาพระอาจารย์จำเนียรไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำแห่งหนึ่งในอำเภออ่าวลึก ต่อมาได้จัดตั้งเป็นวัดและสำนักวิปัสสนาที่มีชื่อเสียงชื่อว่า “วัดถ้ำเสือน้อย” เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะพระอาจารย์สมชัยและภิกษุที่ไปบุกเบิกวัดถ้ำแห่งนี้ ล้วนเป็นศิษย์ของพระอาจารย์จำเนียรนั่นเอง จากที่นี้ทำให้พระอาจารย์สมชัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ท่านได้ใช้วิชาความรู้ที้ร่ำเรียนมาช่วยเหลือญาติโยมชาวบ้านในท้องถิ่น แต่ก็มีเรื่องราว
ที่ทำให้ต้องลาสิกขาบทในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งหลังครองเพศฆราวาสท่านก็ยังสนใจในด้านธรรมะก่นตัดสินใจอุปสมบทอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ณ วัดคลองท่อม ต.คลองท่อมใต้
อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โดยมี พระครูอาทรสังวรกิจ (สวาส กนฺตสํวโร)” อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองท่อม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า “ปุรินทโก” แล้วกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำเสือฯ ก่อนออกธุคงค์ไปภาคอีสานเข้ากราบและฟังข้อธรรมะจากหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
การศึกษา พ.ศ.๒๕๑๓ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านบางโทง พ.ศ.๒๕๑๗ สอบได้นักธรรมชั้นตรี จากสำนักศาสนาศึกษาวัดบางโทง พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับการถวายปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๖ ได้รับการถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต
ตำแหน่งและสมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นรักษาการเจ้าอาวาส วัดราษฎร์อุปถัมภ์ (วัดบางเหรียง) ต.บางเหรียง อ.ทับปุด จ.พังงา เป็นประธานดำเนินการก่อสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ ประดิษฐานบนยอดเขาล้าน พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์อุปถัมภ์ ต่อมาในปีเดียวกันวันที่ ๑๔ ธันวาคม ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระฐานานุกรม ในพระราชปฏิภาณมุณี เจ้าคณะจังหวัดพังงา วัดชนาธิการาม ที่ “พระครูปลัด”
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุวชิรมงคล ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามที่ “พระครูไพศาลพัฒนานุยุต” วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าคณะอำเภอปลายพระ" อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ วันที่ ๓๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระอุปัชฌาย์”
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระวิสิฐพัฒนวิธาน” พ.ศ.๒๕๕๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชวชิรากร” พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๗ พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๗ และได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ "พระเทพวชิรากร"
สำหรับวัดมหาธาตุวชิรมงคล ตั้งอยู่ที่บ้านบางโทง ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2483 ในที่ดินบริจาคของนายเปล้า ทองศิริ นายมั่น เพ่งกิจ และนายน่วม ดำพันธ์ บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ บริเวณรอบวัดเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของกระบี่
เดิมชาวบ้านเรียกขานว่า “วัดบางโทง” ตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้ง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2496 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 30 เมตร ยาว 70 เมตร ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2519 มีเจ้าอาวาสปกครองติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 4 รูป
พระราชวชิรากร "พระอาจารย์ชัย"เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านถือเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาวัดบางโทงแห่งนี้ โดยในช่วงปี 2545 หลังจากที่ท่านมาพำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้ได้พิจารณาเห็นว่า วัดมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก จึงได้รื้อถอนอาคารเสนาสนะที่มีอยู่เดิมออกเกือบทั้งหมด ยกเว้นอุโบสถ (หลังเดิม) แล้วก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นใหม่
นอกจากนี้ ท่านยังเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาได้ก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี และพัฒนายกระดับให้วัดบางโทงเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ธรรม- บาลีของบรรดาพระภิกษุ-สามเณรที่มีความสนใจ
ในปี พ.ศ. 2545 เมื่อประชาชนและหน่วยงานจากหลากหลายภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการสร้างพุทธสถานและพระมหาธาตุเจดีย์ เฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ” ขึ้นที่วัดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ในวันที่ 11 ม.ค. 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์พระมหาธาตุเจดีย์ และทรงเททองหล่อพระพุทธปฏิมาประจำพระชนวารในโครงการดังกล่าว
หลังจากนั้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดบางโทงให้ใหม่ เป็น “วัดมหาธาตุวชิรมงคล” พร้อมทั้งให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “มวก.” ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันอุโบสถ ขณะที่พระพุทธปฏิมาประจำพระชนมวารฯ ให้ใช้พระนามว่า “พระพุทธทักษิณชัยมงคล” พระนามาภิไธยย่อ “มวก.”
ปัจจุบันวัดมหาธาตุวชิรมงคล ถือเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญและแลนด์มาร์กใหม่ของจังหวัดกระบี่ ดึงดูดให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศแวะเวียนเดินทางมาชื่นชมกันอย่างไม่ขาดสาย
โดยไฮไลต์สำคัญของวัดแห่งนี้ก็คือ “พระมหาธาตุเจดีย์” ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ในเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
Comments