"พ่อท่านเกษม เขมจาโร" วัดมะม่วงตลอด ทายาทพุทธาคมพ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ศิษย์เอกผู้ปลงผม-จารยันต์-จารตะกรุด
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอนำเสนอประวัติเรื่องราวของ "พ่อท่านเกษม เขมจาโร" วัดมะม่วงตลอด ซึ่งจำเป็นต้องเอ่ยถึงก่อนคือ
พ่อท่านคลิ้ง จันทสิริ (พระครูภาวนาภิรมย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดถลุงทอง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในพระเกจิดังแห่งเมืองคอน มีอายุยืนยาวถึง 5 แผ่นดิน เป็นพระมหาเถระองค์หนึ่ง ซึ่งในหลวงรัชกาลที่9 ทรงเลื่อมใสศรัทธา
ปัจจุบันมีศิษย์ผู้สืบทอดพุทธาคมของท่านคือ พระครูมงคลเหมรัต "หลวงพ่อเกษม เขมจาโร" หรือที่เรียกขานกันว่า"พ่อท่านเกษม" เจ้าอาวาสวัดมะม่วงตลอด อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช อายุ 89 ปี
ชาตภูมิของท่านเป็นชาวตำบลเสาธง อ.ร่อน พิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2475 ในตระกูล"คุ้มกุมาร" เมื่ออายุ20ปีได้เข้าอุปสมบทครั้งแรกที่วัดถลุงทอง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช โดยพระครูประพัฒสุตคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา"เขมจาโร"
ท่านได้ทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้ พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ในกิจวัตรประจำวัน เช่น ดูแลเรื่องการฉันอาหาร การบีบนวด ช่วยเหลือทั่วไปตามที่พ่อท่านคลิ้งจะใช้งาน และติดตามไปเมื่อมีกิจนิมนต์ในสถานที่ต่างๆ โดยบวชอยู่เป็นเวลา 2 ปี ก็ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส
ด้วยความที่บ้านอยู่ใกล้วัดถลุงทอง ท่านก็ยังไปปรนนิบัติรับใช้พ่อท่านคลิ้งอย่างสม่ำเสมอ ตอนเช้าก็ไปช่วยจัดสำรับให้พ่อท่านคลิ้งฉันข้าว ตกตอนเย็นก็ก่อไฟรอบกุฏิให้เป็นควันเพื่อไล่ยุงเพราะกุฏิที่พ่อท่านคลิ้งจำวัดเป็นกุฏิหลังไม้เป็นโถง ไม่ได้กั้นห้องแต่อย่างใด
ในช่วงที่พ่อท่านคลิ้งมีชื่อเสียงมากขึ้น มีคนนำของต่างๆ มาให้ท่านทำวัตถุมงคลให้จำนวนมากจนทำไม่ไหว ท่านจึงได้เรียกหลวงพ่อเกษมมาเพื่อช่วยงาน โดยสอนวิชาในการจารตะกรุด การเขียนเลขยันต์ การทำผ้าขึ้นเปลเด็ก การทำสายคาดเอว และการปลุกเสกเลขยันต์ต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ท่านก็ได้ฝึกตามคำแนะนำสั่งสอนของพ่อท่าคลิ้งจนจำขึ้นใจ
เมื่อเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น พ่อท่านคลิ้งจึงทำพิธีครอบครู ครอบมือ รับเป็นศิษย์อย่างเป็นทางการ และโยนตำราให้ ภายในเวลาอันสั้น ท่านก็เรียนรู้ได้จนหมดสิ้น ส่วนคาถาบางอย่าง ที่ไม่มีในตำราพ่อท่านคลิ้งว่าให้ฟังและให้จำเอาเอง
หลังจากนั้นเมื่อพ่อท่านคลิ้งไปประกอบพิธีกรรมที่ไหน หรือมีกิจนิมนต์ต่างๆ ท่านก็ให้ติดตามไปเป็นพราหมณ์สายฆราวาสไปทุกที่ และได้รับหน้าที่สำคัญคือปลงผมให้พ่อท่านคลิ้ง ในวันโกนทุกครั้ง โดยท่านได้เก็บเส้นผมของพ่อท่านคลิ้งไว้มาก แต่ในภายหลังได้แจกให้ลูกศิษย์จนหมด ต่อมาเมื่อชาวบ้านเห็นว่าท่านเป็นหมอสายพราหมณ์จึงติดต่อไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ตั้งศาลพระภูมิ วางศิลาฤกษ์ สวดพลิกแผ่นดิน สะเดาะเคราะห์บ้านเรือน เป็นต้น
เมื่อครั้งที่พระองค์จ้าภาณุพันธ์ ยุคล นิมนต์พ่อท่านคลิ้งไปยังวังอัศวิน หลวงพ่อเกษมเมิ่อครั้งเป็นฆราวาสก็มีโอกาสได้ติดตามไปอยู่ที่ในวังครั้งละเป็นเดือน ท่านเล่าให้ฟังว่า บางวันพ่อท่านคลิ้งได้รับนิมนต์ไปบ้านเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เพื่อสวดมนต์ ฉันข้าวเพล สวดตามบ้านเรือนอยู่บ่อยๆ บางวันอยู่ในวังไม่ได้ไปไหน พ่อท่านคลิ้งก็ให้ท่านจารผ้ายันต์ จารตะกรุด พ่อท่านคลิ้งปลุกเสกเสร็จได้แจกจ่ายผู้คนที่อยู่ในวังได้ไปบูชา
ต่อมาท่านได้อุปสมบทอีกครั้ง และจำพรรษาอยู่ที่วัดถลุงทองเรื่อยมาเป็นเวลา 5 พรรษา ในช่วงนั้นวัดมะม่วงตลอดว่างเว้นเจ้าอาวาส ชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาจึงนิมนต์หลวงพ่อเกษมมาจำพรรษาที่วัดมะม่วงตลอดตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้บูรณะศาสนสถาน ดูแลปกครองสงฆ์ในวัดเป็นอย่างดี อีกทั้งนำวิชาความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากพ่อท่านคลิ้งมาจัดสร้างเครื่องรางของขลังให้ลูกศิษย์ เช่น ตะกรุดโทนช้างผสมโขลง, ตะกรุดคู่กันภัยและเมตตา,สายคาดเอว,ผ้ายันต์ และอื่นๆตามโอกาส
เครื่องรางของท่านมีประสบการณ์มากในพื้นที่ และลูกศิษย์ที่เป็นตำรวจ ทหาร อยู่ทาง3จังหวัดภาคใต้ มีพุทธคุณเด่นด้านแคล้วคลาด และความเหนียว โดยเฉพาะสายคาดเอวที่ท่านจารมือลงบนผ้า ทั้งด้านหน้าและหลัง แล้วนำมาม้วนกับเชือกและถักมือทุกเส้น โดยขณะกำลังถักท่านได้ภาวนาปลุกเสกไปด้วยจนเสร็จ ทำให้เครื่องรางของท่านใช้ได้ผลดีมากๆ
หลวงพ่อเกษมท่านเป็นพระที่อยู่อย่างสมถะเรียบง่าย เป็นกันเอง มีความเมตตาต่อผู้คนที่มากราบนมัสการขอพรอย่างทั่วถึง ด้วยคุณงามความดี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2555 ท่านได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ในราชทินนาม“พระครูมงคลเหมรัต”
留言