top of page
ค้นหา

มุทิตา“หลวงปู่มหาศิลา สิริจันโท" เลื่อนสมณศักดิ์"พระราชวัชรธรรมโสภณ" เกจิดังนักพัฒนา-อาคมขลัง

  • รูปภาพนักเขียน: อ.อนุชา ทรงศิริ
    อ.อนุชา ทรงศิริ
  • 30 ก.ค. 2566
  • ยาว 1 นาที

มุทิตา“หลวงปู่พระมหาศิลา สิริจันโท"

เลื่อนสมณศักดิ์"พระราชวัชรธรรมโสภณ"

เกจิดังนักพัฒนา-อาคมขลังเมืองกาฬสินธุ์

ในมงคลวโรกาส พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ให้ พระครูปลัดวชิรโสภณญาณ (ศิลา สิริจนฺโท ป.) ที่พักสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจนฺโท จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช มีราชทินนามว่า "พระราชวัชรธรรมโสภณ โกศลบริหารวรกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ ที่พักสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอร่สมแสดงมุทิตาสักการะด้วยการนำเสนอประวัติชีวิตและเส้นทางธรรมของ“หลวงปู่พระมหาศิลา สิริจันโท” พระเกจิเรืองวิทยาคมอีกรูปหนึ่งแห่งภาคอีสาน มีวัตรปฏิบัติดี สมถะ เรียบง่าย เสมอต้นเสมอปลาย ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาปัจจุบัน สิริอายุย่าง 78 ปี

ท่านมีนามเดิม “ศิลา" เกิดในสกุล"นิลจันทร์” เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2488 ที่บ้านเบิด ต.เบิด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นบุตรของนายแก่น และนางน้อย ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ปีที่ท่านเกิดึรอบครัวอพยพหนีความแห้งแล้งมาอยู่ที่บ้านส้อง ต.ธาตุ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ จากนั้นในปี2494 ได้ย้ายภูมิลำนามาอยู่บ้านธาตุประทับ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด

เมื่ออายุ 12 ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดธาตุประทับ มีหลวงพ่อพิมพ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ติดตามครูบาอาจารย์ ออกร่วมคณะธุดงค์ ไปนมัสการพระธาตุพนม ระหว่างเดินธุดงค์ มีโอกาสอุปัฏฐากพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสี รูปสำคัญในสายพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต คือพระครูสีลขันธ์สังวรณ์ (อ่อนสี สุเมโธ)ที่ จ. มุกดาหาร และได้รับคำสอน ผญาธรรม(คำสอนอีสาน)จากพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กันโตภาโส) อดีตเจ้าอาวาสพระธาตุพนม

ท่านมุมานะศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก เปรียญธรรม3ประโยค,4ประโยค ตามลำดับในช่วงปีพ.ศ.2500-2508

จากนั้นในปีพ.ศ.2509 อายุย่าง 21 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดบูรพาภิราม อ. เมือง จ.ร้อยเอ็ด มีพระสิริวุฒิเมธี เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ.2510 เป็นครูสอนปริยัติธรรม วัดบูรพาภิราม และสอบไล่ได้เปรียญธรรม5ประโยคปีพ.ศ.2515 สอบไล่ได้เปรียญธรรม6ประโยค

ปีพ.ศ.2516 พระสิริวุฒิเมธี มีปรารภจะให้พระท่านไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอหนองพอก โดยให้ไปอยู่วัดนิคมคณาราม เพื่อสอนพระปริยัติธรรม ท่านจึงหาทางเลี่ยงปลีกวิเวกไปอยู่จำพรรษาที่วัดหนองดู่ บ้านหนองดู่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดสันติวิหาร มีพระอาจารย์สมาน ธัมมรักขิตโต เป็นเจ้าอาวาส

นอกจากเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ยังมุ่งศึกษาตามขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมแบบพระสงฆ์สามเณรในภาคอีสานคืออักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย (อักษรโบราณ) เพื่อศึกษามูลกัจจายน์ให้แตกฉาน ความรู้ทั้งทางโลก และทางธรรม สรรพวิชาอาคม ยารักษาโรค โหราศาสตร์ล้วนถูกบันทึกไว้ในใบลานทั้งสิ้น

หลวงปู่ศิลามีความแตกฉาน มูลกัจจายน์ ประกอบกับสรรพวิชาจนเป็นที่กล่าวขานถึงในยุคนั้น เหตุการณ์ที่วัดสันติวิหาร ทำให้หลวงปู่ศิลาเป็นที่นับถือในเรื่องการบำรุงขวัญกำลังใจแก่ศิษยานุศิษย์คือ เรื่องตะกรุดคอหมา (ตะกรุดปลากระป๋อง) เนื่องด้วยในยุคนั้น ระบบความคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ ระบาดหนัก เครี่องรางของขลังจึงเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบกำลังใจแก่ผู้คนในยามหวาดผวา

ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2515 หลวงปู่ศิลาได้รวบรวมสรรพวิชาที่ร่ำเรียนมาทั้งปวงเขียนบรรจุลงบนผืนผ้าจำนวน 5 ผืน และได้คัดเลือกผืนที่งามที่สุดจำนวน 2 ผืน ขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ปัจจุบัน 1ใน5 ผืนที่เหลือถูกขนานนามว่า "มหายันต์"

หลวงปู่ศิลาออกจาริกธุดงค์ไปอยู่ในถ้ำฝั่งโขง แถบอ.สังคม จ.หนองคาย และออกจาริกธุดงค์ต่อถึงเขต อ.ปากชม จ.เลย จากนั้นได้กลับมาวัดธาตุประทับ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด และได้รับการวิงวอนจากญาติให้ลาสิกขาออกมาเป็นครูผู้ช่วยสอนที่โรงเรียนธาตุประทับ และดูแลมารดารวมถึงญาติผู้ใหญ่ป่วยหนักเป็นเวลา 1 ปี

แล้วจึงอุปสมบทอีกครั้งที่วัดมาลุคาวนาราม อ.ธวัธบุรี จ.ร้อยเอ็ด หลังอุปสมบทช่วงปี 2522-2539 ได้ไปพำนัก วัดโนนเดื่อ บ.โนนเดื่อ อ.ธวัธบุรี จ.ร้อยเอ็ด สลับกับวัดธาตุประทับ

ช่วงออกธุดงค์ปลีกวิเวกไปตามป่าเขาในหลายจังหวัด ได้ธุดงค์ข้ามแม่น้ำโขงไปยังภูเขาควาย ประเทศ สปป.ลาว พบกับครูบาอาจารย์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังภาคอีสานหลายรูป อาทิ หลวงปู่ทองมา ถาวโร, หลวงพ่อมหาบุญมี สิรินธโร, หลวงปู่ลี กุสลธโร ฯลฯ ทั้งนี้ ยังร่ำเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐาน อักษรธรรมลาว และอ่านหนังสือจากใบลานอีสาน รวมทั้งศึกษาคัมภีร์ใบลานสายสำเร็จลุน อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง สปป.ลาว จนแตกฉาน

ปีพ.ศ.2539 เกิดเหตุการณ์ทางครอบครัวทำให้ต้องลาสิกขาออกมาอยู่8เดือน แล้วกลับเข้าอุปสมบททันที ในวันที่ 22 ธ.ค. 2539 ณ วัดแสงประทีป โดยมีพระครูวิธานสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พำนัก ณ วัดธาตุประทับ สลับกับการออกจาริกธุดงค์ บ.พานเหมือน อ.เมือง จ.อุดรธานี

ปีพ.ศ.2559 ออกจาริกไปบ้านหนองแซง ต.แจ้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ แล้วได้รับนิมนต์ไปจำพรรษา ณ ป่าช้าม่วงนา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ปีพ.ศ.2560 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีสะอาด บ้านแกแปะ ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กราบนิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่วัด เนื่องจากเห็นว่าอายุมาก คณะศิษย์ร่วมกันสร้างกุฏิถวาย และจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่สวนสงฆ์แห่งนี้ ตราบจนปัจจุบัน

หลวงปู่ศิลาท่านเป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง ได้เพียรสร้างสาธารณประโยชน์ตามอัตภาพตลอดมา สงเคราะห์ผู้ยากไร้ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ อย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏผลงานมากมายในหลายจังหวัด อาทิ ร้อยเอ็ด,หนองคาย, มหาสารคาม,กาฬสินธุ์,นครพนม เป็นต้น

จากการที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพุทธาคมจึงได้รับนิมนต์ไปเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกงานทั่วภาคอีสาน รวมทั้งงานใหญ่ระดับประเทศ อาทิ งานพุทธาภิเษกพระกริ่งวัดสุทัศน์ เป็นต้น

ด้วยความที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั้งในและนอกพื้นที่อย่างรวดเร็ว แต่ละวันมีญาติโยมจำนวนมากเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม และประพรมน้ำพุทธมนต์เสริมสิริมงคลอย่างไม่ขาดสาย



 
 
 

Comments


  • generic-social-link
  • generic-social-link
  • youtube

©2020 by kampeenews. Proudly created with Wix.com

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสระบุรี คนทั่วไปจะต้องคิดถึง “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่ง เดียวในประเทศไทย ที่มีรอยพระพุทธบาทของแท้ประทับรอยอยู่ ในแต่ละปีจะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตั้งใจเดินทางมากราบนมัสการ เพราะถือว่าหากได้เดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว เป็นมงคลสูงสุดในชีวิตก็ว่าได้

 ไม่ใช่ว่าสระบุรีจะมีแต่สถานที่เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พระเกจิอาจารย์ของสระบุรีที่มากไปด้วยประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันโด่งดังไปทั่วภูมิภาคและในท้องถิ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ, พระอุปัชฌาย์กาน วัดโคกโพธิ์, อุปัชฌาย์ตัน วัดอู่ตะเภา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย, หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน และหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง เป็นต้น

 และยังมีพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ข้อวัตรงดงามยิ่ง โดยเฉพาะวางอุเบกขาได้อย่างยอดเยี่ยม เปี่ยมด้วยความเมตตาบารมีแก่คนทุกชั้นทุกกระดับอย่างเสมอภาค พระสงฆ์รูปนั้นคือ “พระครูอรรถธรรมาทร” หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อเฮ็น แห่งวัดดอนทอง” ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านถึงจะสร้างไว้ไม่เก่ามาก แต่ความนิยมในหมู่นักสะสมก็ไม่ธรรมดา

 โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” และ “พระกริ่งดอนทอง” สนนราคาเล่นหาสูงขึ้นเรื่อย

 ตามประวัติ หลวงพ่อเฮ็นท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2454 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โยมบิดาชื่อนายอยู่ โยมมารดาชื่อนางเขียว ศิริวงษ์ ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร

 เมื่ออายุได้ 8 ขวบได้ ไปศึกษาอักขระสมัยทั้งไทยและขอมกับพระอาจารย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งอยู่ไกล้บ้านของท่าน พออ่านออกเขียนได้ก็ลาจากวัดมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญอดทนกว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านกะวาปาลาย แขวงเมืองกำพงธม เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลามีงานวัดมักจะนัดตีกันเป็นประจำ

 สำหรับนายเฮ็นพรรคพวกเพื่อนฝูงย่องให้เป็นลูกพี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตกเกรงว่าหนทางข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2474 ปีมะแม เมื่อนายเฮ็นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจึงทำการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดพรรณนารายณ์ ตำบลกะวา อำเภอปาลาย แขวงเมืองกัมพงธม ประเทศกัมพูชา (เขมร) โดยมี พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพรรณนารายณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายว่า “สิริวังโส”

 เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดพรรณนารายณ์ ทำอุปัชฌาย์วัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัยท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์ มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำและเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง

 สิ่งสำคัญได้ศึกษาเล่าเรียนในด้านคาถาอาคมจนมีความชำนาญ เจนจัดด้านวิชาแขนงต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพรรณนารายณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์รอนแรมมาตามป่าและภูเขาเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ต่อมาได้อยู่จำพรรษาที่ “วัดดอนทอง” เมื่อปี 2479 ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านดอนทองมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรงดงาม ครั้นเมื่อ หลวงพ่อแพ เจ้าอาวาสวัดดอนทอง มรณภาพลง ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเฮ็น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ปี 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอรรถธรรมทร”

 หลวงพ่อเฮ็น ได้สร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ อาทิ ผ้ายันต์อุษาสวรรค์ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม มีความเชื่อว่า เมื่อต้องการใช้ก่อนออกจากบ้าน ให้นำผ้ายันต์อุษาสวรรค์ เช็ดหน้าจากซ้ายไปขวาสามครั้ง ว่ากันว่าจะมีเสน่ห์ไปตลอดทั้งวัน

 หลวงพ่อเฮ็นมรณภาพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 สิริอายุได้ 89 ปี

 สำหรับวัตถุมงคล “ผ้ายันต์อุษาสวรรค์” นั้น เซียนพระเครื่องต่างเสาะแสวงหาสะสมกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เหรียญรุ่นแรก “เหรียญเสมาหลวงพ่อเฮ็นรุ่นแรก ปี 2529” ยังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คณะศิษย์จัดสร้างถวายมุทิตาสักการะในโอกาสครบรอบอายุ 75 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบเสมา มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดง

 ด้านหน้าเหรียญตรงกลาง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเฮ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ 3 ชั้น ด้านใต้ฐานอาสนะเขียนคำว่า “หลวงพ่อเฮ็น สุวรรณศรัทธา” ด้านในขอบโค้งใบเสมาด้านซ้ายล่าง เขียนว่า “พ.ศ.๒๕๒๙” ส่วนด้านขวาของเหรียญเขียนว่า “อายุ ๗๕ ปี” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง เป็นยันต์ ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดดอนทอง” ขอบโค้งด้านล่าง เขียนคำว่า “ต.ดงตะงาว กิ่ง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี” ถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

 ส่วนวัตถุมงคลที่กำลังมาแรงอีกพิมพ์ "พระกริ่งดอนทอง" เป็นรุ่นแรกที่สร้างในวาระหลวงพ่อเฮ็น ครบ 7 รอบ 84 ปี นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ ที่ท่านได้มอบหมายให้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งด้านรูปลักษณ์พิมพ์ทรงที่ได้เน้นความสวยงามคมชัด รวมทั้งในด้านเนื้อหาซึ่งได้มอบชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งแผ่นจารตะกรุดสามพี่น้องของหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ชนวนกริ่งญาณวิทยาคมพร้อมตะกรุดสาม กษัตริย์ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และแผ่นจารตะกรุดสามกษัตริย์ของหลวงพ่อเฮ็น

 ทั้งหมดได้นำมาหลอมผสมผสานเพื่อให้วัตถุมงคลรุ่นนี้ ทรงคุณวิเศษยิ่งควรค่าแก่การบูชา ได้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อสมทบทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ สมทบทุนอาหารกลางวัน และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ วัตถุมงคลรุ่นนี้ผู้ที่มีไว้ครอบครองเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วในหลายๆด้าน เด่นทางเมตตา มหานิยม ค้าขาย แคล้วคลาด โชคลาภ

 “พระกริ่งดอนทองรุ่นแรก” ที่จัดสร้างขึ้นเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 84 องค์ เนื้อเงินจำนวน 500 องค์ เนื้อนวะจำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองจำนวน 200 องค์ ด้านหลังตอกโค้ด “นะ พุท ธา” ชัดเจน เป็นวัตถุมงคลที่มาแรง พิมพ์สวยมีอนาคต ของปลอมแปลงยังไม่มี สนนราคาวิ่งแบบไม่คงที่ ขึ้นติดอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ  

 วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮ็นจึงเปี่ยมล้นด้านพุทธคุณ ทั้งคลาดแคล้วคงกระพันชาตรี, เมตตาค้าขายมหาเสน่ห์ และแก้อาถรรพณ์มนต์ดำขับไล่เสนียดจัญไรทั้งปวง เก็บสะสมไว้ไม่มีคำว่าผิดหวัง ในไม่ช้าไม่นานจะกลายเป็นวัตถุมงคลที่มากด้วยราคาและหายากยิ่ง

 นักสะสมมือใหม่รีบหาไว้บูชาด่วน!!!

bottom of page