top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566 "หลวงพ่อแต้ม" เกจิวัดพระลอย เมืองสุพรรณ

"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566

"หลวงพ่อแต้ม" เกจิวัดพระลอย เมืองสุพรรณ

อดีตนักเลงดัง-ศิษย์เอกปู่โต๊ะ วัดลาดตาล

ผู้สร้างเหรียญ"ยันต์เกราะเพชร”ก่อนปี2511

สหธรรมิกของ"หลวงปู่นิ่ม"วัดพุทธมงคล

"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอร่วมน้อมถวายความอาลัยแด่"หลวงปู่นิ่ม โชติธัมโม" วัดพุทธมงคล(หนองปรือ) จ.สุพรรณบุรี เจ้าตำรับพญาปูหนีบทรัพย์" ซึ่งละสังขารไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอประวัติเกจิดังเมืองสุพรรณ พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ หรือ “หลวงพ่อแต้ม ปุญญสุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระลอย ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งท่านเป็นสหธรรมิกของหลวงปู่นิ่มองค์หนึ่ง

ทั้งนี้ หลวงพ่อแต้มท่านละสังขารไปก่อนหลวงปู่นิ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2514 เป็นเวลานานกว่า50ปี แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณยังคงโด่งดังอยู่ในความทรงจำของชาวสุพรรณตลอดมา

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2434 บ้านด้านทิศใต้วัดพระลอย เป็นบุตรคนโตของพ่อแย้ม แม่อ่ำ นารถพลายพันธ์ ท่านเป็นคนร่างเล็ก ครอบครัวยากจน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ พอแตกหนุ่มเกิดคบเพื่อนอันธพาลนักเลงรุ่นเดียวกัน ชอบการทะเลาะวิวาท แม้จะมีร่างเล็ก แต่เล็กพริกขี้หนู ใจถึงน่าดู ไม่กลัวใคร ท่านเป็นหัวหน้านักเลงขึ้นชื่อ คุมท้องถิ่นแถวบ้านวัดพระลอย และมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่รู้จักชอบพอกันดีเป็นหัวหน้านักเลงอยู่ที่ศรีประจันต์ ชื่อ "ปุย" (ภายหลังได้บวชมีชื่อเสียงเป็นเกจิดังคือ หลวงพ่อปุย อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะนั่นเอง) เป็นนักเลงคุมแถวลุ่มน้ำบ้านคอย

เมื่อบิดามารดาเห็นว่า หลวงพ่อแต้มอายุครบบวชจึงอยากให้บวช เลยไปตามท่าน ซึ่งตอนนั้นไปอยู่ที่อ่างทอง ตามตัวพบแล้วจึงพามาบวชที่วัดสำปะซิว โดยหลวงปู่โต๊ะ วัดลาดตาล ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสำปะซิว อบรมบ่มนิสัยหลวงพ่อแต้มก่อนบวช โดยแรกเริ่มหลวงพ่อแต้มไม่รู้หนังสือแม้แต่ตัวเดียว แต่ก็สามารถท่องเจ็ดตำนานได้ภายใน7วัน หลวงปู่โต๊ะชอบใจมาก เพราะหลวงพ่อแต้มหัวไว จึงถ่ายทอดวิชาอาคมให้หมดสิ้น

หลังจากนั้นจึงอุปสมบทให้หลวงพ่อแต้ม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2455 ณ พัทธสีมาวัดสำปะซิว โดยมี หลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปลื้ม (อีกรูปหนึ่ง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่โต๊ะ วัดสำปะซิว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ปุญญสุวัณโณ"

หลังจากบวชเกิดจิตฟุ้งซ่าน หลวงปู่โต๊ะจึงพาไปเล่นกระดูกผีในป่าช้า และสอนกรรมฐานให้ด้วย และสอนหนังสือทั้งไทยและขอมจนอ่านออกเขียนได้ และหลวงพ่อแต้มยังได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณกับช่างไม้ ช่างก่อสร้างจากหลวงปู่โต๊ะอีกด้วย จนมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มาก

ต่อมาย้ายมาอยู่วัดพระลอยจึงลาสิกขาออกมาปี 2463 สรุปแล้วท่านบวชครั้งแรกอยู่ 8 พรรษา ใช้ชีวิตทางโลกอยู่พักหนึ่งเกิดเบื่อหน่ายจึงอุปสมบทครั้งที่ 2 โดยมี หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อพร วัดป่าเลไลยก์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อคำ วัดพระรูป เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากอุปสมบทครั้งสองแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดลาวทอง จวบจนปี พ.ศ.2466 จึงไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อซัว วัดสาลี อ.บางปลาม้า จนถึงปี พ.ศ. 2468 และไปเรียนต่อจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา สำเร็จวิชายันต์เกราะเพชร ท่านเคยได้เขียนยันต์เกราะเพชรให้เจ้าอาวาสวัดท่าทอง สวยงามมากและวิชาหมอตาทิพย์ วิชาแพทย์แผนโบราณช่วยคน และกลับมาอยู่วัดลาวทองต่อ

ปีพ.ศ.2483 คณะสงฆ์แต่งตั้งให้หลวงพ่อแต้มมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระลอย ซึ่งใกล้จะร้าง ให้มีสภาพดีขึ้น ท่านพัฒนาวัดจนเจริญ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจขึ้นชื่ออีกแห่งของเมืองสุพรรณ

หลวงพ่อแต้มท่านเคยนั่งสมาธิมรณภาพไปครั้งหนึ่งแล้ว ท่านเล่าว่ามีคนพาท่านไปในสถานที่ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นคฤหาสน์ใหญ่โตคล้ายวัดคล้ายศาลา คนที่พาท่านไปบอกกับท่านว่า “ที่นี่เป็นที่อยู่ใหม่ของท่าน ท่านจะสะดวกสบายทุกอย่าง ขอให้ท่านอยู่ที่นี่”

ท่านรู้สึกตกใจเล็กน้อย ท่านบอกว่า " ฉันอยู่ที่นี่ไม่ได้ ฉันยังสร้างศาลาไม่เสร็จ ให้ฉันสร้างให้เสร็จเสียก่อนแล้วจะมา .." แล้วคนที่พาท่านไปก็อนุญาตให้ท่านมา

เมื่อท่านออกจากสมาธิและภายหลังท่านได้ทำคุณงามความดีมากยิ่งขึ้น ท่านได้สร้างวัด ศาลา โบสถ์รวมกันแล้วมากกว่าอายุของท่านอีก แต่มีข้อแม้ว่า ท่านสร้างไว้แค่เกือบเสร็จแล้วท่านก็ไปสร้างที่อื่น ท่านบอกว่าถ้าสร้างให้เสร็จเดี๋ยวยมบาลเอาตัวท่านไป เดี๋ยวท่านไม่มีโอกาสสร้างคุณงามความดีอีก

วาระสุดท้ายท่านมรณภาพปีพ.ศ.2514 สิริอายุ 80 ปี มีเจ้าภาพที่เป็นลูกศิษย์ท่านจองคิวสวดพระอภิธรรมจำนวนมาก คนละวันก็เป็นปีๆ ทางวัดจึงกำหนดสวดพระอภิธรรมแค่ 100 วัน แล้วจัดงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อครบ 100 วัน เปิดโลงศพท่านดูก็พบกับเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ เมื่อศพของหลวงพ่อไม่เน่าเปื่อย เหมือนกับคนนอนนิ่งธรรมดา ทางวัดจึงเก็บศพหลวงพ่อไว้ถึงปัจจุบันนี้ และเปิดให้ประชาชนกราบสักการะศพได้ทุกวัน

สมดังปัจฉิมวาจาก่อนมรณภาพที่หลวงพ่อให้ไว้ว่า "ถ้าข้าตาย ก็ให้เก็บศพไว้ อย่าไปเผา สังขารข้าอยู่ วิชาอาคมของข้าก็อยู่ช่วยพวกเอ็งไปตลอด เดือดร้อนอะไรให้มากราบพระลอย และมาหาข้า เหตุร้ายเดือดร้อนจะหายไป ข้าจะลงวิชาเกราะเพชรให้แก่ทุกคนจำไว้ นะไอ้หนู"

หลวงพ่อแต้ม เริ่มสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2495 พระเนื้อดินเผาสีดำ เป็นพระซุ้มกอ และพิมพ์นาคปรก หรือปางพญามหาชมพู พระขุนแผน และอีกหลายพิมพ์เป็นเนื้อดิน เป็นต้น ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2511 สร้างเหรียญรุ่นแรกเป็นเหรียญรูปอาร์ม เนื้อทองแดงรมดำ และเหรียญรุ่น 2 ปี 2512 รุ่น3 ปี 2523 ช่วงเวลานั้นท่านได้สร้างพระกริ่ง เป็นกริ่งนาคปรก เนื้อโลหะผสม นับเป็นกริ่งรุ่นแรกรุ่นเดียวของหลวงพ่อแต้ม

ด้วยหลวงพ่อแต้มสำเร็จวิชายันต์เกราะเพชรหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านจึงได้สร้างเหรียญยันต์เกราะเพชรเหรียญแรกของแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2511 ฝากไว้เป็นสมบัติชั่วลูกชั่วหลาน ว่ากันว่าก่อนปี 2511 ยังไม่มีพระเกจิอาจารย์รูปใดสร้างเหรียญยันต์เกราะเพชรเลย

พระเครื่องของท่านพุทธคุณดีทางด้านแคล้วคลาด คงกระพัน คนสุพรรณรู้ซึ้งถึงประสบการณ์ความ"เหนียว"

ตามประวัติของหลวงปู่นิ่ม โชติธัมโม" วัดพุทธมงคล (หนองปรือ) อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี สมัยที่หลวงพ่อแต้มยังมีชีวิต ในช่วงเวลาว่าง หลวงปู่นิ่มมักเดินทางไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อแต้ม ที่วัดพระลอย เพราะเป็นสหธรรมิกรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน โดยหลวงพ่อแต้มเป็นผู้แนะนำให้ท่านมาสร้างวัดหนองปรือ (วัดพุทธมงคล)ด้วยเป็นพื้นที่ที่เงียบสงบ เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมและเจริญกรรมฐาน ในปี พ.ศ.2500 หลวงปู่นิ่มจึงได้ช่วยสร้างวัดพุทธมงคล พร้อมทั้งรับตำแหน่งเจ้าอาวาส

#ฉัตรสยาม



ดู 208 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page